25thApril

25thApril

25thApril

 

May 17,2018

สสภช.แถลงท่าทีปฏิรูปสื่อ ขัดหลักการควบคุมกันเอง

      สภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ แถลงท่าทีต่อแผนปฏิรูปสื่อ ระบุกรรมการสรรหาฯ ล้วนเป็นนักวิชาการ ไร้สื่อมวลชนเข้าร่วม ขัดต่อหลักการควบคุมกันเอง ซ้ำสื่อมวลชนยังไม่มีโอกาสรับรู้ความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรมและวิชาชีพสื่อมวลชน

      เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมแกล้วเกล้า ห้องอาหารดุสิตา โรงแรมดุสิตเพลส กรุงเทพฯ นายเกษม แก้วบริสุทธิ์ ประธานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ (สสภช.) และคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังจากการประชุมวิสามัญสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. ซึ่งการแถลงข่าวดังกล่าว มีใจความสำคัญ ดังนี้

      สภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ (สสภช.) ซึ่งรวมสื่อมวลชนภูมิภาคจากทั่วประเทศกว่า ๑๐๐ องค์กร เฝ้ามองการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วยความตั้งใจและให้กำลังใจ เห็นความสำคัญว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินการของสื่อมวลชนทั้งประเทศ สสภช.เข้าร่วมในการเสนอความเห็นในแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง ยืนยันและเห็นด้วยในหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) ที่คณะกรรมการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศได้ประกาศไว้

      หลังประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑ สสภช.ได้ใช้เวลาศึกษารายละเอียด และพบว่าแผนปฏิรูปได้เสนอแนวทางที่ขัดกับหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) ตามที่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชนได้เห็นพ้อง และมอบอำนาจให้กับกรรมการร่างฯ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการร่างฯ จะดำเนินการตามแนวทางที่มีฉันทามติร่วมกัน ดังประเด็นต่อไปนี้

      ๑. แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนกำหนดให้มี “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ แต่กลับกำหนดให้ “คณะกรรมการสรรหา” กรรมการสภาวิชาชีพ มาจากคณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะภาควิชาทางด้านนิเทศศาสตร์ เท่านั้นทั้ง ๙ คน โดยไม่มีสื่อมวลชนเข้าร่วม ย่อมขัดกับหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) แต่ต้น เพราะหากยึดหลักควบคุมกันเองตามสากล องค์กรควบคุมกันเองของสื่อมวลชน ย่อมต้องมีที่มาจากสื่อมวลชน เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในกลุ่มแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความฯ

      อนึ่ง สัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นองค์กรหลักในการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน ประกอบด้วยกรรมการ ๙ คน ในจำนวนนั้นมีสื่อมวลชนเพียง ๕ คน ซึ่งแม้จะขัดกับหลักการควบคุมกันเอง เพราะมีตัวแทนจากภายนอกเข้าร่วม แต่สสภช.น้อมรับในสัดส่วนดังกล่าว เพราะเชื่อว่าภาคประชาชนที่เข้าร่วม จะทำงานร่วมกับสื่อมวลชนภายใต้หลักการควบคุมกันเองได้อย่างไร้อคติ มุ่งประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน

      ๒.แผนปฏิรูปประเทศกำหนดว่า ต้องมีการร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรมและวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อใช้บังคับควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนทั้งประเทศ โดยกำหนดให้ร่างและประกาศใช้ภายในปี ๒๕๖๑ แต่ถึงปัจจุบันสื่อมวลชนไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความคืบหน้าในการร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง และรับทราบเนื้อหาของกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้กับสื่อมวลชนทั่วประเทศ 

      สสภช.ตระหนักดีว่าแผนปฏิรูปประเทศ ไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายหากแต่เป็นแนวทาง (guideline) ในการดำเนินการ ซึ่งสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ตามสมควร สสภช. จึงเสนอต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ กับเป็นผู้รักษาการก่อนการได้มาซึ่งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้พิจารณาดังต่อไปนี้

      ๑.ทบทวนที่มาของกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพ โดยยึดหลักควบคุมกันเองอย่างเคร่งครัด ๒.เปิดเผย เปิดโอกาส ให้สื่อมวลชน และสาธารณชน ได้เข้าถึงและรับทราบรายละเอียดของกระบวนการร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ต่อวิชาชีพนี้ และที่จะมีผลต่อผู้รับสารและสังคมวงกว้างในระยะยาว

      สสภช.ตั้งมั่นในสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสารที่เป็นจริงและเที่ยงธรรม ภายใต้หลักการควบคุมกันเอง  และยินดีจะปฏิบัติตามภายใต้หลักการใดๆ ก็ตาม ที่จะส่งเสริมให้สื่อมวลชนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน และพร้อมจะท้วงติงในสิ่งที่ขัดกับหลักการข้างต้น

      อนึ่ง หาก สสภช.มีความเคลื่อนไหว “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๓ วันพุธที่  ๑๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


691 1351