29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 17,2018

ลือเบี้ยวเงินอสม. ๒๐๐ ล. สสจ.ยันขาดแค่ ๒ เดือน ถามอบจ.เงินมาหรือยัง?

            สสจ.แถลงยืนยันเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน อสม.นครราชสีมาได้ครบทุกคน ย้ำทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้แน่นอน เงินไม่ได้หายไปไหน เมื่อได้รับเงินจาก อบจ. ก็โอนให้พื้นที่ทันที อาจล่าช้าเพราะวันหยุดเยอะ พร้อมชี้แจงว่ามีการขาดจ่ายไปเพียง ๒ เดือน ไม่ใช่ ๖ เดือน    ตามที่เป็นข่าว ขณะนี้เหลือเพียงเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ยังไม่ได้รับโอน แนะให้ถาม อบจ.ว่า ได้รับเงินส่วนนี้หรือยัง?

            เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่ ห้องประชุม จปฐ. ชั้น ๒ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นพ.สสจ.นครราชสีมา แถลงข่าว กรณียืนยันเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน อสม.จังหวัดนครราชสีมา หลังจากมีข่าวว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นระยะเวลา ๖ เดือนแล้ว ที่ยังไม่มีการจ่ายเงินตอบแทนมูลค่า ๒๐๐ ล้านบาท โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ได้ยืนยันว่ามีการจ่ายเงินทุกเดือน และให้ไปถามหาข้อเท็จจริงจากทางสาธารณสุขจังหวัดแทน 

            นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ได้ส่งเงินค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านชุมชน(อสม.) ที่ได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครราชสีมา ส่งเข้าบัญชีหน่วยบริการเพื่อจ่ายแก่ อสม. ทั้งจังหวัด ๕๒,๖๕๒ คน ครบทั้งหมด ๕ เดือน รวมเป็นเงิน ๑๕๗,๙๕๖,๐๐๐ บาทเรียบร้อยแล้ว และส่งเบิกจ่ายเพิ่มอีก ๒ เดือน ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ทั้ง ๓๒ แห่ง ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานเบิกจ่ายเงินของหน่วยบริการแก่ อสม.

            “การจ่ายค่าตอบแทน อสม. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ นั้น สสจ.นครราชสีมา ร่วมกับ อบจ.นครราชสีมา ได้ร่วมมือกันวางระบบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน อสม.นครราชสีมาไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยหลังจาก อสม.ทั้ง ๕๒,๖๕๒ คน ปฏิบัติงานในแต่ละเดือน ต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานของ อสม.รายบุคคลให้แก่หน่วยบริการที่ดูแลคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ศูนย์แพทย์เขตเมืองและโรงพยาบาลชุมชน หรือหน่วยบริการนอกสังกัดอื่นๆ ที่มี อสม.ปฏิบัติงาน แล้วทางสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง ๓๒ แห่ง จะจัดส่งรายงานรวมของ อสม.ทั้งอำเภอ มายัง สสจ.นครราชสีมา จากนั้นทาง สสจ.ต้องทำการรวบรวมรายงานผลการดำเนินงานของ อสม.จังหวัดนครราชสีมา ส่ง อบจ.นครราชสีมา เพื่อทำการเบิกเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. ในแต่ละเดือนต่อไป ซึ่งเมื่อ สสจ.ได้รับการโอนเงินจาก อบจ. เราก็จะจัดสรรเงินไปให้พื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ละแห่ง ตามจำนวน อสม.ที่มี โดยปกติไม่เกิน ๑๕ วัน ซึ่งหากเดือนใดมีวันหยุดมากก็จะทำให้เกิดความล่าช้าแต่ก็ไม่เกิน ๑ เดือน ขณะนี้โอนไปแล้ว ๕ เดือน เนื่องจากเงินที่ได้รับจาก อบจ. ตอนนี้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนเดือนมีนาคมยังไม่ได้รับการจัดสรรมา แต่ก็มีการตั้งเบิกไป ซึ่งขณะนี้เราก็เร่งรัดดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ช่วงแรกๆ ในต้นปีงบประมาณทราบว่าทาง อบจ. นั้น ก็ได้รับจัดสรรเงินมาช้า จึงโอนให้เราช้า ในเดือนแรกทางจังหวัดก็ได้โอนไปในช่วงต้นเดือนมกราคม เนื่องจากว่าได้รับโอนมาจาก อบจ.ปลายเดือนธันวาคม ซึ่งติดช่วงปีใหม่ด้วย จะเป็นลักษณะนี้ตลอด ทั้งนี้ ทาง สสจ.ไม่ได้โอนช้าแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าที่มีข่าวว่า อสม.บางราย อาจจะได้รับเงินช้าหรือไหม ก็อยู่ที่การส่งผลงาน เพราะจะต้องมีการเรียกผลงานการปฎิบัติงานมาแลกเปลี่ยนกับเงินตอบแทน และตรงนี้ สสจ.เองได้เร่งรัดไปกับทางพื้นที่ว่า หากได้รับจัดสรรเงินไปแล้ว จะต้องรีบเร่งดำเนินการให้กับ อสม.ตามที่ควรจะได้ โดยมีการจัดส่งเงินเดือนละ ๓๑,๕๙๑,๒๐๐ บาท เท่าที่ตรวจสอบนั้นในระยะเวลา ๕ เดือน คือ เดือนตุลาคม, พฤศจิกายน, ธันวาคม ปี ๒๕๖๐, มกราคม, กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๑ เราโอนไปหมดแล้ว เหลือเพียงของเดือน มีนาคม และเมษายน ๒๕๖๑ ที่จะดำเนินการส่งให้หน่วยบริการในวันที่ ๑๕-๑๖ พฤษภาคมนี้ เพราะฉะนั้นข่าวที่บอกว่าไม่ได้เงินถึง ๖ เดือนนั้นไม่เป็นความจริง”

            ทั้งนี้ ในช่วงต้นของปีนี้เกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อยว่า จำนวน อสม.กับที่เขาโอนมาให้อาจจะไม่ตรงกันนัก เนื่องจากจำนวน อสม.ที่ลดลงไป เหตุเกิดจากเสียชีวิตหรือลาออก แต่ก็มีคนที่เข้าใหม่มาทดแทน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ได้รับเงินตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ แม้ ในระบบนี้อาจทำให้มีความล่าช้าไป ๒-๓ เดือน เนื่องจากการโอนเงินมา เราต้องรอจาก อบจ. โอนมา พอ สสจ. ได้รับก็รีบจัดสรรไปลงพื้นที่ทันที โดยขั้นตอนของการจ่ายเงินนั้น ทาง สสจ.จะขอเงินจัดสรรไปที่ อบจ. แล้วจึงโอนมาให้เรา เมื่อได้รับเงินจัดสรรจาก อบจ. เราก็จะโอนไปที่ รพ.สต. โดยตรง จากนั้น รพ.สต.ก็จะจ่ายให้กับ อสม. แต่ละท่าน ที่จะต้องมีผลงานมาแลกด้วย เพราะเป็นเงินราชการ จึงต้องมีผลปฏิบัติการด้วย แต่ในอนาคตคาดว่าจะมีการโอนตรงไปที่บัญชีของ อสม.แต่ละท่าน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมากล่าว

            ขณะนี้ ทั้งจังหวัดมี อสม.จำนวน ๕๒,๖๕๒ ราย โดย อสม. ๑ คน จะรับผิดชอบ ๑๐-๑๕ หลังคาเรือน ทั้งนี้ กรอบการทำงาน อสม.ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (ผอ.รพ.สต.) ที่จะช่วยดูแลว่าเรื่องของการส่งเสริมป้องกันควบคุมโรคของผู้บริโภค โดยจะมีการพูดคุยกันประจำทุกเดือนในช่วงที่เขาต้องมารับเงิน พร้อมกับมีการสั่งงานว่าใครทำอะไร นอกจากนี้ยังมีระบบการสื่อสารที่ผ่านทางไลน์กลุ่ม และระบบออนไลน์อื่นๆ ที่เข้ามาช่วยในการทำงานให้สะดวกมากขึ้น โดยปกติการทำงานระหว่าง อสม.กับ รพสต.จะใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เพราะจะมีการประชุมกันทุกเดือน ขณะนี้เดือนกุมภาพันธ์ทาง อสม.ได้รับเงินไปแล้ว เหลือเพียงเดือนมีนาคมและเมษายน ส่วนพฤษาคมยังไม่จบ สรุปได้ว่ามีช่วงรอยต่อแค่ ๒ เดือนที่มีปัญหา ไม่ใช่ ๖ เดือน ตามข่าว โดยปกติแล้วควรจะได้รับเดือนต่อเดือน แต่เนื่องจากอยู่ที่กระบวนการจัดสรรเงินมาของรัฐบาล ตรงนี้ต้องถาม อบจ.นครราชสีมาว่า เขาได้รับเงินช้าหรืออย่างไร เนื่องจากถ้า อบจ.โอนมาเราก็โอนต่อไปทันที เพราะฉะนั้นทางเราไม่ได้ดำเนินการช้า ทั้งนี้ เดือนมีนาคมก็ยังไม่ได้รับเงินจัดสรร ทั้งที่ได้มีการส่งเรื่องไปแล้ว 

            ทั้งนี้ เมื่อ สสจ.นครราชสีมาได้รับเงินค่าตอบแทน อสม. จาก อบจ.นครราชสีมาแล้ว งานสนับสนุนการสร้างสุขภาพภาคประชาชน กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ จะดำเนินการขออนุมัติและโอนเงินให้แก่หน่วยบริการ ตามโควตาที่ได้รับจัดสรรโดยร่วมกับงานการเงิน กลุ่มงานบริหารงานทั่วไป หลังจากนั้นหน่วยบริการทุกแห่งจะเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน แก่ อสม. ในวันประชุมอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม.ตามแต่ละหน่วยบริการนัดหมายต่อไป

            ท้ายสุด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวย้ำว่า สสจ.นครราชสีมา ขอยืนยันว่า อสม.ที่ปฏิบัติงานและมีผลการดำเนินงานตามระเบียบ ต้องได้รับเงินค่าตอบแทนครบทุกคน และเนื่องจากมติคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ได้เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่ในการจ่ายเข้าบัญชีฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยตรง แทนส่วนราชการหรือหน่วยงาน ที่กำกับดูแลสวัสดิการสังคมแต่ละประเภท รวมถึงการจ่ายเงินค่าป่วยการของ อสม. เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้โดยร่วมมือกับ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินค่าป่วยการหรือค่าตอบแทนของ อสม.ทั่วประเทศ จากเดิมโดยการโอนเงินผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นการโอนเข้าบัญชี อสม.โดยตรง ผ่านระบบ e-Payment เพื่อความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการดำเนินงานในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป จึงขอให้ อสม.ทุกคนส่งผลการดำเนินงานของตนเองแก่หน่วยบริการให้ครบถ้วนตรงตามเวลา เพื่อนหน่วยบริการจะได้ทำการขออนุมัติเบิกจ่ายแก่ อสม.ทั้ง ๕๒,๖๕๒ คนต่อไป หาก อสม.บางท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ งานสนับสนุนการสร้างสุขภาพภาคประชาชน กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ สสจ.นครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๔๖๕๐๑๑-๔ ต่อ ๓๐๙ ในวันและเวลาราชการ

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๓ วันพุธที่  ๑๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


707 1351