29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 17,2018

‘น้ำตาลครบุรี’ขานรับ‘คชก.’ ปรับผังรง.เลี่ยงกระทบสวล.

            กลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี ปรับปรุงผังโครงการโรงงานผลิตเอทานอล ลดลง ๑๙.๓๔ ไร่ ตามโฉนด หลังจาก คชก.พิจารณาให้ตรวจสอบข้อมูลด้านผังโครงการฯ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ด้านน้ำเสียนำมาบำบัดใช้เป็นน้ำต้นทุน ลดการใช้น้ำลำตะคอง

            ตามที่ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS จัดประชุมการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ ๘๐ ปี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ “โครงการสีคิ้วคอมเพล็กซ์” ประกอบด้วย โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด และโครงการโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่มีแผนการลงทุนขยายฐานการผลิตแห่งใหม่ บนพื้นที่ ๙๐๐ กว่าไร่ บริเวณบ้านมอดินแดง และบ้านหนองห่าน ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมีประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโครงการฯ จำนวนกว่า ๕๐๐ คน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ

            ต่อมา เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นายอนุสิษฐ์ บวรนิมิต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงต่อ “โคราชคนอีสาน” กรณีปรับปรุงผังโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี ว่า “เนื่องด้วยกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงการการผลิตน้ำตาลทราย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการโรงงานผลิตเอทานอล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางโครงการได้ชี้แจงผังโครงการและกระบวนการในการจัดการต่างๆ ของโครงการทั้งหมดให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับฟังไปแล้วในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในส่วนของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามแนวทางการดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จำนวน ๒ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ จัดประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ และครั้งที่ ๒ จัดประชุมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ และวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ จากนั้นได้มีการนำเสนอรายงานฯ ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและให้โครงการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผังโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงได้ทำการปรับปรุงผังโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรีให้มีการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่เคยนำเสนอไว้แต่อย่างใด”

            ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี จากที่เคยเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยการใช้ประโยชน์พื้นที่ของโครงการฯ ที่ปรับปรุงใหม่มีเอกสารเพื่อแสดงรายละเอียดในการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ สรุปดังนี้

            ๑.ด้านพื้นที่กลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี ลดลง ๑๙.๓๔ ไร่ แก้ไขตามโฉนดที่ดินบริเวณพื้นที่โรงงานผลิตเอทานอล โดยในส่วนของโครงการผลิตน้ำตาลทราย พื้นที่เพิ่มขึ้น ๔.๘๒ ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาคารเก็บกากอ้อย ส่วนโครงการไฟฟ้าชีวมวล พื้นที่ลดลง ๔.๘๒ ไร่ โดยแบ่งให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มเติม และสำหรับโครงการโรงงานผลิตเอทานอล พื้นที่ลดลง ๑๙.๓๔ ไร่ ตามโฉนด

            ๒.ย้ายถังเก็บกากน้ำตาล จากเดิมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานผลิตเอทานอลมาไว้ในพื้นที่โรงงานผลิตน้ำตาลทราย

            ๓.ด้านน้ำใช้ มีการปรับช่วงเวลาการผลิตใหม่ให้ครอบคลุมทั้งปี โดยสอดคล้องกับการดำเนินงานจริง ไม่มีผลกระทบเพิ่มขึ้น และมีการปรับใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่รวบรวมได้เพิ่มขึ้น จึงลดปริมาณการสูบน้ำดิบจากลำตะคอง นอกจากนี้ยังมีการหมุนเวียนน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมาใช้เป็นน้ำต้นทุน ทำให้การใช้น้ำลดลง

            ๔.ด้านน้ำเสีย แยกระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลออกจากกัน ดังนี้ ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตน้ำตาลทราย แยกเป็นชนิดความสกปรกต่ำ (Low BOD) และชนิดความสกปรกสูง (High BOD) ส่วนระบบบำบัดน้ำเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวล แยกเป็นชนิดความสกปรกต่ำ (Low BOD) และชนิดความสกปรกสูง (High BOD) ทั้งนี้ ยังเพิ่มระบบบำบัดน้ำเสียชนิดชนิดความสกปรกต่ำ (Low BOD) สำหรับโรงงานเอทานอล ลงในผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลครบุรี

            ๕.การจัดการกากของเสีย ยกเลิกลานกองกากตะกอนหม้อกรอง และนำไปกองเก็บที่อาคารหมักปุ๋ยซึ่งมีหลังคาปิดคลุมแทนเนื่องจากนำไปใช้ทำปุ๋ย

            อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “โครงการยังคงกำหนดตำแหน่งปล่องระบายอากาศของหม้อไอน้ำไว้ตำแหน่งเดิม รวมทั้งจัดให้มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และมาตรการต่างๆ ไว้ครบถ้วน เช่นเดิมตามที่เคยนำเสนอต่อชุมชนในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฯ (PP2) ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จึงมิได้ส่งผลกระทบต่อขอบเขตพื้นที่ศึกษา และผลการศึกษาด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจสังคม แต่ประการใด โดยประเด็นดังกล่าวจะนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในรายงานชี้แจงเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๑) ของบริษัทฯ ก่อนส่งให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามลำดับขั้นตอนต่อไป”

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๓ วันพุธที่  ๑๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


698 1343