25thApril

25thApril

25thApril

 

May 17,2018

มทส.รุกหาความร่วมมือวิชาการ ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับจีน

            มทส.ลุยจีน ศึกษาเครื่องปฏิกรณ์วิจัยแบบต่างๆ และหารือความร่วมมือวิจัยและพัฒนาฟิสิกส์นิวเคลียร์ วิศวกรรมนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กับ CIAE พร้อมพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัย

            รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์วิจัยแบบต่างๆ และหารือความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ วิศวกรรมนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ณ China Institute Atomic Energy (CIAE) สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยมี Prof.Guotu Ke, Director of the Science and Technology Committee, Prof. Hongyi Yang, Director of Reactor Engineering Research and Design Department, Prof. Yiguo Li, Director of Miniature Neutron Research Reactor Division พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของ CIAE ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับการวิจัยด้านต่างๆ ของ CIAE อาทิ ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เคมีนิวเคลียร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีของเครื่องปฏิกรณ์ เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแบบต่างๆ เภสัชรังสี และเทคโนโลยีการป้องกันรังสี ตลอดทั้ง การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ การขนส่งสินค้า การพัฒนาวัสดุสำหรับยานขนส่งอวกาศ 

            นอกจากนี้ ยังนำเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์วิจัย China Experimental Fast Reactor (CEFR) ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์วิจัยขนาด 65MW และสามารถประยุกต์ใช้เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผลิตกำลังไฟฟ้าขนาด 20MW เครื่องปฏิกรณ์วิจัย China Advanced Research Reactor (CARR) ขนาด 60MW ซึ่งนำมาใช้ในการวิจัยได้หลากหลาย เช่น ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เคมีนิวเคลียร์ การกระเจิงนิวตรอน การวิเคราะห์ธาตุโดยการอาบนิวตรอน การถ่ายภาพด้วยนิวตรอน และการผลิตไอโซโทปสำหรับทางการแพทย์ รวมทั้งเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก และสถานปฏิบัติการวิจัยด้านรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (In Hospital Neutron Irradiation, IHNI) ที่มีการใช้เครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก (Miniature Neutron Source Reactor, MNSR) ผลิตนิวตรอนสำหรับการรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธีรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (Boron Neutron Capture Therapy : BNCT) อีกด้วย 

            อย่างไรก็ตาม การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์แล้ว ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการวิจัย และพัฒนา ด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยและนักศึกษา รวมถึงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในการเดินเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็กของมหาวิทยาลัย (SUT-MNSR) ซึ่งได้มีการออกแบบให้สามารถใช้งานวิจัยได้หลายหลาย เช่น การวิเคราะห์ธาตุโดยการอาบนิวตรอน โดยการออกแบบ SUT-MNSR นี้จะมีระบบในการลำเลียงนิวตรอนในแนวนอนสี่ระบบ และมีระบบลำเลียงนิวตรอนด้านล่างสำหรับวิธีรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (BNCT) อีกด้วย เครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็กที่ผลิตจาก CIAE มีความปลอดภัยสูง และมีการนำไปใช้หลายแห่งในประเทศจีน เช่น ฉีหนาน เซี่ยงไฮ้ เฉินเจิ้น ซึ่งทั้งสามแห่งนี้ เครื่องปฏิกรณ์ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศนำไปใช้ ได้แก่ ปากีสถาน กานา ไนจีเรีย ซีเรีย 

            ทั้งนี้ ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายยังได้เจรจาความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับสถานวิจัยร่วมระหว่าง CIAE และ มทส. โดยใช้ห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก และการจัดทำหลักสูตรทางด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ วิศวกรรมนิวเคลียร์ และเทคโนโลยี โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญของ CIAE มาเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะหรือผู้เชี่ยวชาญอาคันตุกะ ที่ร่วมในการจัดการเรียนการสอนและร่วมเป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกต่อไปอีกด้วย

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๓ วันพุธที่  ๑๖  -  วันอาทิตย์ที่  ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


693 1353