19thApril

19thApril

19thApril

 

June 12,2018

‘น้ำตาลครบุรี’ลดกำลังผลิต กลุ่มสีคิ้วเดินหน้าค้าน ชี้ผลเสียมากกว่าประโยชน์

           โรงงานน้ำตาลครบุรี ชี้แจงแผนปรับลดกำลังการผลิตให้กับชาวอำเภอสีคิ้วทั้ง ๖ ตำบล ๑๕ หมู่บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขตที่จะก่อสร้างโรงงานในรัศมี ๕ กิโลเมตร พร้อมย้ำจะนำความคิดเห็นของประชาชนไปพัฒนาแผนโครงการเพื่อยื่นเรื่องต่อสภาโรงงาน กลุ่มผู้คัดค้านอ้างแค่กุศโลบาย วอน “ชาวสีคิ้ว” นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

           เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๓๕ น. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ได้จัดการประชุมเพื่อแจ้งการปรับลดกำลังการผลิต ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ณ ห้องประชุมสนามกอล์ฟพาโนรามา กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายดำรง ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการโรงงาน นายสมคิด พุ่มฉัตร ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และนายเฉลิมพันธุ์ ทรัพย์มิตร นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นผู้ให้คำชี้แจงการปรับลดกำลังผลิตและแผนการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว โดยมีประชาชนหน่วยงานราชการ และพระสงฆ์ จากทั้ง ๖ ตำบล ๑๕ หมู่บ้าน กว่า ๒๕๐ คน เข้าร่วมประชุม 

           นายดำรง ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการโรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดทำรายการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเพื่อรวบรวมพิจารณาการสร้างโรงงานให้กับคณะกรรมการ และผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการพิจารณามีประเด็นให้มีการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนดำเนินงาน โดยจะฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการเพื่อนำไปศึกษาและพัฒนาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนบริเวณรอบๆ โรงงาน

คัดค้านกุศโลบายลดผลกระทบ

           ระหว่างการประชุมชี้แจงได้มีกลุ่มผู้คัดค้านต่อ ๓ โครงการ ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูก้า จำกัด, โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงของบริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด และโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท ครบุรี ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บนพื้นที่ ๙๐๐ กว่าไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณบ้านมอดินแดง บ้านหนองห่าน และตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากหากมีโรงงานมาสร้างแล้วอาจเกิดมลภาวะทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพ ต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่อาศัยรอบๆ โรงงานในรัศมี ๕ กิโลเมตร 

           นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล หรือทนายอ๋อย แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านโรงงานต่างๆ ในพื้นที่อำเภอสีคิ้วมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ในวันนี้ โรงงานเสนอแผนการลดปริมาณ ลดกำลังการผลิตให้เหลือ ๒๐,๐๐๐ กว่าตันต่อวัน กลุ่มผู้คัดค้านก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะผลกระทบที่ตามมาไม่ได้แตกต่างกันนัก ในมุมมองของตนมองว่าเป็นเพียงกุศโลบาย เพื่อจะลดการคัดค้านลงเท่านั้น เพราะโรงงานกลัวว่า หากมีการผลิตมากๆ จะเกิดผลกระทบสร้างมลภาวะกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากเกินไป ก็เลยมีการลดปริมาณการผลิตลงไปกว่าครึ่ง จะได้ลดจำนวนผู้คัดค้านลงตามไปด้วยไม่ว่าทางโรงงานจะลดกำลังผลิตน้อยลงหรือไม่ พวกเราก็ยังจะคัดค้านต่อไป


นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล 

ที่ตั้งโรงงานไม่เหมาะสม

           “ที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลไม่มีความเหมาะสม เพราะตั้งอยู่บนที่สูง ถ้าเทียบกับวัดถ้ำเขาจันทร์แดงของพระอาจารย์สุเวช จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๔๐๐ เมตร แล้วโรงงานเอทานอลอยู่ติดกับวัดเท่ากับว่าอยู่บนภูเขา ถ้าเกิดว่าบ่อน้ำเสียไม่มีคุณภาพ หรือว่าล้น หรือว่าแตกขึ้นมา ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงงานและคนในอำเภอสีคิ้วจะอยู่อย่างไร น้ำเน่าเสียก็จะไหลลงไปยังที่ต่ำ อย่างเช่นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีปัญหาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนหลายอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตเอทานอล ในปัจจุบันประชาชนที่อยู่ในอำเภอสีคิ้วหลายๆ ตำบลก็เริ่มเป็นกังวลและไม่รู้ว่าจะออกมาคัดค้านอย่างไร บางคนก็คิดว่ามีก็ดีจะได้ส่งอ้อยได้ใกล้ แต่การส่งอ้อยในหนึ่งปีส่งได้แค่ครั้งเดียว แต่ผลกระทบกับชีวิตประจำวันจะเกิดขึ้นทุกวัน จึงฝากให้ชาวอำเภอสีคิ้ว หรืออำเภอเมืองช่วยไตร่ตรองด้วยว่า โคราชยังมีปัญหาการขาดน้ำ ต้องใช้น้ำจากชลประทาน จากคลองไผ่เหมือนกัน ซึ่งโรงงานทั้ง ๓ แห่งนี้ ใช้น้ำมากกว่าการประปาส่วนภูมิภาคสีคิ้วสูบเข้ามาใช้ในเทศบาลสีคิ้ว นอกจากนี้จะทำให้เกิดผลกระทบในการจ่ายน้ำไปให้กับประชาชนในพื้นที่อุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก” ทนายอ๋อย กล่าว 

           ทางด้านพระอาจารย์สุเวช ปัญญาวุฒโท จากสำนักสงฆ์วัดถ้ำเขาจันทร์แดง หนึ่งในผู้คัดค้าน กล่าวว่า พระอาจารย์เปรียบเสมือนยามที่จะต้องนอนเฝ้าหน้าโรงงาน เพราะว่าวัดกับโรงงานอยู่ติดกัน แต่เอกสารที่พระอาจารย์ได้ยื่นไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือที่ทางโรงงานยื่นไปที่  สผ. ก็เป็นเรื่องของเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำมาพิจารณา โดยให้ทาง สผ.เป็นผู้ตัดสิน ถ้าหาก สผ.ตัดสินให้โรงงานน้ำตาลได้รับใบอนุญาตก็จะเป็นหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลที่จะจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าจะให้พระอาจารย์ยอมรับว่า ลดปริมาณการผลิตลงมากแล้วจะไม่สร้างผลกระทบให้กับทางวัด ก็คือความรู้สึกที่ทางโรงงานหยิบยื่นมาให้พระอาจารย์เข้าใจ แต่ความเข้าใจของพระอาจารย์ก็คือ ต่างฝ่ายก็ต้องดำเนินการไปให้ถึงที่สุดดีกว่า


พระอาจาร์ย สุเวช ปัญญาวุฒโท

ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

           นายดำรง ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการโรงงาน กล่าวว่า ข้อโต้แย้งของทางสำนักสงฆ์วัดถ้ำเขาจันทร์แดงนั้น ทางโรงงานจะต้องขอชี้แจงว่า ระยะห่างของโรงงานกับสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น วัดและโรงเรียนจะต้องยื่นขออนุญาตก่อน เพื่อตรวจสอบหาพิกัดและระยะห่างว่าเป็นไปตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงกฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร และมาตรฐานคุณภาพน้ำว่า ผ่านข้อกำหนดหรือไม่ โดยจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินงานในโครงการต่อไป

           สำหรับแผนโครงการปรับลดกำลังการผลิตที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นายดำรง ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการโรงงาน ชี้แจงว่า  การก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายจะเริ่มก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบที่กำลังการผลิต ๒๐,๐๐๐ ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณอ้อยที่ส่งเสริมในพื้นที่ปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายควบคู่ไปกับโรงไฟฟ้าชีวมวล สำหรับโรงงานเอทานอลจะสามารถดำเนินการสร้างได้เมื่อมีการส่งเสริมการปลูกอ้อย กระทั่งมีปริมาณที่เหมาะสม สำหรับการดำเนินโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายส่วนขยายจะมีกำลังการผลิตรวม ๓๖,๐๐๐ ตันอ้อยต่อวัน


 นายดำรง ภูติภัทร์

           ผู้อำนวยการโรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องมลพิษทางอากาศทางโรงงานมีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่จะกำหนดค่าที่ใช้ในการคำนวณต่ำกว่าค่ามาตรฐานอย่างน้อยร้อยละ ๙๐ ของค่ามาตรฐาน ทั้งในกรณีปกติและในกรณีที่พ่นเขม่า โดยทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ รวมถึงข้อมูลอุตุนิยมเพื่อคาดการณ์และเปรียบเทียบคุณภาพอากาศที่จะเกิดขึ้น ระบบน้ำเสียของทั้ง ๓ โรงงานจะมีการแยกระบบอย่างชัดเจน สำหรับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายจะมีการบำบัดน้ำเสียแยกออกไปเป็น ดังนี้ ๑. น้ำที่มีความสกปรกสูงจะถูกไปบำบัดยังระบบบ่อปรับเสถียร โดยน้ำเสียที่บำบัดผ่านเกณฑ์จะถูกนำไปเก็บไว้ที่บ่อพักน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกส่งไปไว้ที่บ่อฉุกเฉินเพื่อรอการบำบัดอีกครั้ง และ ๒. น้ำเสียที่มีความสกปรกต่ำเกิดจากน้ำล้างย้อนระบบผลิตน้ำใช้และน้ำหล่อเย็นของเครื่องจักร จะถูกส่งแยกจากน้ำที่มีความสกปรกสูง เมื่อน้ำเสียผ่านการบำบัดแล้วจะถูกส่งไปยังบ่อพัก ซึ่งจะมีระบบตรวจสอบอัตโนมัติ เช่น ค่าอุณหภูมิเป็นต้น หากผ่านเกณฑ์จะหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการ แต่หากไม่ผ่านเกณฑ์จะส่งไปยังบ่อฉุกเฉินก่อนส่งหน่วยงานที่รับกำจัดต่อไป

           “ทางโครงการจะไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก โดยน้ำเสียที่เกิดขึ้นจะส่งเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย เมื่อผ่านเกณฑ์จะหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ภายในโครงการทั้งหมด ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แล้วว่า จะไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอกโรงงาน สำหรับการสูบน้ำจากคลองลำตะคอง โครงการจะสร้างฝ่ายทดน้ำที่ระดับ +๒๖๐ ม.รทก. ดังนั้น โครงการจะสูบได้เฉพาะน้ำที่ไหลล้นฝายเข้ามาในบ่อสูบเท่านั้น ทางโครงการยังจะสามารถสูบน้ำในช่วงน้ำหลากได้ (พฤษภาคม-ตุลาคม) และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการลุ่มน้ำก่อนทุกครั้ง การทำเช่นนี้จะไปทำให้ประชาชนอำเภอสีคิ้วไม่ได้รับความเดือดร้อนแน่นอน” นายดำรง กล่าวยืนยันในท้ายสุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๘ วันจันทร์ที่ ๑๑ - วันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


729 1349