25thApril

25thApril

25thApril

 

June 12,2018

ชูจรวด ๓ ลูกขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สั่งเร่งเปิดศูนย์ ITC เพิ่ม ๗ แห่ง เตรียมพร้อมจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ


           เผยผลการดำเนินงานส่งเสริม  และพัฒนา  เอสเอ็มอี ตามนโยบาย ๔ เครื่องมือ (Tool) ๑ กลยุทธ์ (Strategy) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ส่วนการดำเนินโครงการ Digital Value Chain เพื่อผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chain) ผ่านโครงการ T-GoodTech เพื่อเชื่อมโยงไปยัง J-GoodTech ของญี่ปุ่น ตั้งเป้าปีนี้ผลักดันเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ ๒,๖๐๐ ราย ขณะที่เว็บไซต์และระบบฐานข้อมูล T-GoodTech พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือนสิงหาคมนี้แน่นอน!

           นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีทุกระดับให้มีการปรับตัวก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมทั้งมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีให้เป็นเอสเอ็มอี ๔.๐ (Smart SMEs) ผ่านเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาภายใต้แนวคิด 4 TOOL (เครื่องมือ) กับ 1 Strategy (กลยุทธ์) ประกอบด้วย ๑.IT การให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ ๒. Automation การพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ๓.Robot ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ ๔.Innovation การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และอีก ๑ Strategy คือ มุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Cluster ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อยอดของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้สร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Connected Industries นำร่องกิจกรรม “3–Stage Rocket Approach” หรือ“จรวด ๓ ขั้นผลักดัน SMEs สู่ ๔.๐” ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) Visualize Machine คือ การรวบรวมข้อมูลจากเครื่องจักรให้เป็นดิจิทัลและนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ๒) Visualize Craftsmanship คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์การทำงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้ง ๒ ขั้นตอนดังกล่าว กสอ. มีแผนดำเนินการในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเตรียมงบประมาณไว้กว่า ๗๐ ล้านบาท เพื่อตรวจเช็คประสิทธิภาพระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตให้กับเอสเอ็มอีกว่า ๕๐๐ กิจการทั่วประเทศ ส่วนขั้นตอนที่ ๓) Lean Automation System Integrators : หรือ LASI Project คือ การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัท DENSO จัดตั้งศูนย์ Lean Automation System Integrator พร้อมระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อใช้เสริมด้านการเรียนรู้ และกระตุ้น Demand (ความต้องการซื้อ) และอุปทาน Supply (ความต้องการขาย) ในอุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยศูนย์ LASI นับเป็นหนึ่งในบริการภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้ กสอ. ดำเนินการเพื่อยกระดับให้เอสเอ็มอีก้าวสู่ SME 4.0 โดยเร็ว  
           กสอ. ยังได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จัดตั้งอาคารต้นคูณ ภายในศูนย์ ITC สำหรับให้บริการปรึกษาแนะนำด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและพลาสติกชีวภาพ ผ่านระบบ VDO Conference กับผู้เชี่ยวชาญของทางสำนักงานใหญ่ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็ได้มีการขยายการบริการศูนย์ ITC ไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค รวม ๕ ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก อุบลราชธานี สงขลา และศูนย์เซรามิค จังหวัดลำปาง ซึ่งผลการให้บริการนับตั้งแต่เปิดโครงการฯ มาถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ พ.ค. ๖๑) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ให้บริการด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ๒๗๑ ราย บริการออกแบบผลิตภัณฑ์ ๒๒๘ ราย แปรรูปการเกษตร/อาหาร ๑๓๘ ราย ด้านบรรจุภัณฑ์ ๖๑ ราย การให้บริการเครื่องจักรกลาง ๕๙ ราย และให้บริการศึกษาดูงานและฝึกอบรม/สัมมนา รวม ๔,๘๘๘ ราย รวมให้บริการทุกประเภทจำนวน ๕,๖๔๕ ราย อย่างไรก็ดี กสอ. มีแผนเร่งดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก ๗ แห่ง ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคจังหวัดพิจิตร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สุพรรณบุรี ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการครบทุกแห่งภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑


           นอกจากนี้ ในด้านการยกระดับเอสเอ็มอีสู่สากล กสอ.ยังได้ดำเนินการโครงการ Digital Value Chain โดยมุ่งหวังผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chain) และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์และระบบฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ภายใต้ชื่อT-GoodTech (Thai Good Technology) ที่เป็นช่องทางการจับคู่ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business : B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง และเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล T-GoodTech ของไทยกับระบบฐานข้อมูล J-GoodTech ของญี่ปุ่น ที่มีฐานข้อมูลของผู้ประกอบการจาก ๑๑ ประเทศ กว่า ๑๗,๐๐๐ ราย (ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ ๑,๓๖๕ ราย) ซึ่งจะทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการทั่วโลกได้
           “การดำเนินโครงการ Digital Value Chain มีเป้าหมายโครงการให้ SMEs อยู่บนระบบฐานข้อมูล J-GoodTech และ T-Good Tech รวมจำนวน ๒,๖๐๐ ราย ภายในปี ๒๕๖๑ ซึ่งขณะนี้มี SMEs สมัครภายใต้ T-GoodTech ภายในเว็บไซต์ http://www.tgoodtech.com แล้ว กว่า ๑,๑๐๐ ราย โดยคาดหวังจะเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกว่า ๘๐ ราย และเตรียมขยายการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ อาทิ ฮ่องกง ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าและบริการของ SMEs ไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานานาประเทศ พร้อมทั้งทำให้สินค้าและบริการของไทยขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น
           ขณะเดียวกัน กสอ. ได้กำหนดจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจและแสดงสินค้าปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ เพื่อส่งเสริมการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างกันให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ลงทะเบียนในเว็บไซต์ T-GoodTech ระหว่างผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร กับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น สมาคมภัตตาคาร สมาคมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม โดยคาดหวังให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ ราย” นายกอบชัย กล่าว
สำหรับในด้านการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมทั้ง Cluster และ Super Cluster กสอ. มีบทบาทในการพัฒนาคลัสเตอร์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนเข้มแข็งแล้ว จำนวน ๘๖ กลุ่ม เกิดเป็นความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นขึ้นภายในกลุ่ม สามารถเชื่อมโยงและร่วมกันพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๖๐ กลุ่ม Cluster และ Super Cluster ที่ กสอ. เข้าไปส่งเสริมและพัฒนา สามารถต้นทุนได้กว่า ๘๐๐ ล้านบาท ดังนั้น ในปี ๒๕๖๑ กสอ. ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ๑๔ กลุ่ม/๒๘๐ กิจการ ครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง ข้าวอินทรีย์ ผ้าทอ ของฝากของที่ระลึก เป็นต้น ส่วนในด้านการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Super Cluster) ตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ๘ กลุ่ม/๑๖๐ กิจการ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต ดิจิทัล และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
           อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี ๒๕๖๒ การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีของ กสอ. จะเน้นไปที่ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด โดยการแบ่งประเภทของอุตสาหกรรมและจัดกลุ่มเพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ช่องทางในการตลาด ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าและผลตอบรับที่ผู้ประกอบการจะได้รับ รวมทั้งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้จากต้นแบบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นกรณีศึกษาพร้อมนำไปปรับใช้ในธุรกิจของตนเองต่อไป  


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๘ วันจันทร์ที่ ๑๑ - วันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


702 1342