June 13,2018
ผ้าไหม‘สีดา’ชนะเลิศ ตรานกยูงพระราชทาน
ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานฯ และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี ๒๕๖๑ แสดงผลงานภูมิปัญญาการผลิตไหมไทย สนับสนุนเกษตรกร ชูคุณค่ายกระดับไหมไทยให้มีชื่อเสียงระดับสากล “ผ้าไหม” จากชาวสีดา คว้ารางวัลชนะเลิศ
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นายณรงค์ อ่อนสะอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานฯ และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๗-๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม นายสันติ กลึงกลางดอน ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต ๔ จังหวัดนครราชสีมา นายเสฏฐวุฒิ ทัตสุระ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และนายปิติพร ชุติสิริวัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มงานสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน พร้อมชมการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมจากดีไซเนอร์ชื่อดัง โดยนางแบบกิตติมศักดิ์และเซเลบริตี้ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งภายในงานมีนิทรรศการด้านหม่อนไหม การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานฯ ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม/รังไหม และสิ่งประดิษฐ์จากรังไหมรวม ๒๔ ประเภท การแข่งขันสาวไหม การประกวดกองเชียร์รวม ๗ ประเภท และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หม่อนไหม และสินค้าเกษตรคุณภาพดี จำนวน ๔๐ ร้านค้า ราคาพิเศษ พร้อมชมชุดผ้าไหมสุดรักของนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา อย่างใกล้ชิด
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่และประชากรมากรองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นจังหวัดที่สำคัญในการสร้างรายได้ทั้งเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และธุรกิจการบริการ นอกจากนั้นยังเป็นเมืองธุรกิจท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของประเทศ และยังกำลังเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญทั้งในด้านของโลจิสติกส์ เนื่องจากมีโครงการที่สำคัญของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ซึ่งแล้วประมาณปีพุทธศักดิ์ราช ๒๕๖๕ ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรม โครงการ ของภาคเอกชนต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า การก่อสร้าง หรือธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดมากมาย คาดว่าภายในระยะเวลาปี ๒๕๖๕ เป็นต้นไป น่าจะเมืองหนึ่งที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการค้าการลงทุน สร้างชีวิตและความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องจังหวัดนครราชสีมาในอนาคตได้อย่างมากมาย พร้อมทั้งยังเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของอารยธรรมและการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งเป็นวีรสตรีของจังหวัดนครราชสีมาที่มีผู้คนมากราบไหว้อยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีก เช่น เขาใหญ่ ปราสาทหินพิมาย และสำหรับด้านการเกษตรนอกจากเป็นพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดในเรื่องข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดแล้ว ที่สำคัญ คือ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนไหม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีชื่อเสียงยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมของอำเภอปักธงชัย อำเภอห้วยแถลง อำเภอบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด เนื่องในโอกาสที่กรมหม่อนไหมได้จัดงานเกี่ยวกับผ้าไหมที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการนำผ้าไหมที่มีคุณภาพมาแสดง แล้วยังมีการกระตุ้นให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกไหมในจังหวัดนครราชสีมา มีกำลังใจในการพัฒนาอาชีพของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นไป ในนามของจังหวัดนครราชสีมาต้องขอบคุณอธิบดีกรมหม่อนไหม และขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้กรุณาเลือกพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในการจัดงาน”
นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า “ขอขอบพระคุณที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณรงค์ อ่อนสะอาด เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานฯ และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี ๒๕๖๑ ในวันนี้ ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้มีหน่วยงานหลักที่ดูแลและส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศ เพื่อให้งานด้านหม่อนไหมของไทยมีความยั่งยืน กรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองพระราชปณิธานดังกล่าว และได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามภารกิจของกรมหม่อนไหมรวมถึงดำเนินงานเพื่อมุ่งอนุรักษ์อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่คู่ประเทศไทย โดยในทุกปีจะกำหนดให้มีการจัดประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหมระดับประเทศขึ้น เพื่อสืบสานงานตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในด้านการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการยกย่องเชิดชูเยาวชน บุคคล ชุมชน และหมู่บ้านที่ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับประชาชน เกษตรกร หรือชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ และยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ช่วยภาคการผลิตให้ก้าวทันความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย “สำหรับในปี ๒๕๖๑ กำหนดจัดงานที่จังหวัดนครราชสีมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยแบ่งประเภทการประกวดออกเป็น ๓๑ ประเภท ประกอบด้วย การประกวดเส้นไหมไทยพื้นบ้าน ๖ ประเภท การแข่งขันศิลปะการแสดงภูมิปัญญาหม่อนไหม (กองเชียร์สาวไหม) ๑ ประเภท การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ๒๑ ประเภท การประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม/รังไหม ๒ ประเภท และการแข่งขันทำสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ๑ ประเภท โดยในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ จะเป็นการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานฯ การประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม/รังไหม การประกวดสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม และวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นการแข่งขันสาวไหมและประกวดกองเชียร์สาวไหม” นางสุดารัตน์ กล่าว
ด้านนายณรงค์ อ่อนสะอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “งานนี้จัดต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดอุดรธานี สุรินทร์ เชียงใหม่ และล่าสุดปีที่แล้วที่อุทัยธานี ส่วนปีนี้เล็งเห็นว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตามที่ทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวไว้เบื้องต้น โดยเฉพาะเรื่องของหม่อนไหมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศในตัวผลิตภัณฑ์ผ้าไหม การจัดงานครั้งนี้ต้องการสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเกิดการอนุรักษ์ หวงแหนในอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเอกลักษณ์ความเป็นไทย ตลอดทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้า เกิดการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม และเพื่อนำวัตถุดิบไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เกษตรกรพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับทราบถึงกระบวนการผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ การเชิดชูเกษตรกร เยาวชน บุคคล และชุมชน ที่สืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่สามารถรักษาวิถีการผลิตเส้นไหม และการทอผ้าไหมไทยให้อยู่คู่สังคมไทย อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการจำหน่ายผ้าไหมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อหา สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ”
“ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเกษตรกรเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการรับบริการจากภาครัฐนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกระบวนการเรียนรู้ การผลิต สถานการณ์น้ำ คุณภาพดิน การเพาะปลูก การแปรรูป การจำหน่าย และการค้า ในปัจจุบันสถานการณ์ทางการตลาด มีการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรสูง กลไกการค้าที่มุ่งเน้นคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตและปลายทางไปยังผู้บริโภค ดังนั้นพี่น้องเกษตรกรและประชาชน จำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแผนการผลิต แผนการลดต้นทุนการผลิต ปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตรต่างๆ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้ได้สินค้าปลายทางที่มีคุณภาพมาตรฐาน เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม การพาณิชย์ ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก และมุ่งหวังยกระดับความเป็นอยู่ รายได้ของพี่น้องเกษตรกรให้สูงขึ้นเป็นสำคัญ”
นายณรงค์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “นโยบายที่กระทรวงทำต่อเนื่อง คือการส่งเสริม การพัฒนา และการนำนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ ให้ผ้าไหมมีคุณภาพที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างผ้าไหมบางอย่างแต่เดิมก็มีการเลี้ยงและสาวไหมที่ทำให้เส้นไหมมีคุณภาพ ในสมัยก่อนอาจจะเป็นการสาวไหมแบบดั้งเดิม แต่วันนี้จะมีวิทยากรให้ความรู้และการพัฒนาการสาวไหมที่ให้เส้นไหมมีคุณภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าผ้าไหมของไทยสามารถที่จะไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมหม่อนไหมมีการประชาสัมพันธ์ นำเสนอ และนำสินค้าผ้าไหมออกสู่ตลาดต่างประเทศ ล่าสุดกรมหม่อนไหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้นำสินค้าที่เกี่ยวกับผ้าไหมและวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยไปจัดแสดงที่ประเทศสเปน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสเปนไม่ทราบมาก่อนว่าไทยเป็นแหล่งปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม จนผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ ส่วนสิ่งที่อยากทำต่อไปคือ ทำอย่างไรให้มีการร่วมกันเรื่องของการดีไซน์ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าแฟชั่นเป็นเรื่องของความนิยม เราต้องเอาผ้าไหมมาดีไซน์เพื่อห้ผู้บริโภคพึงพอใจและเพิ่มมูลค่า ซึ่งกรมหม่อนไหมกำลังทำอยู่ การยกระดับไปสู่สากลจะเกิดขึ้นเป็นลำดับ ส่วนการกระตุ้นสร้างทายาทเกษตรกรเพื่อศึกษาภูมิปัญญาไทย นโยบายกระทรวงฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในเรื่อง Smart Farmer, Young Smart Farmer บุคคลกลุ่มนี้เป็น กลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ซึ่งมารวมตัวกันดำเนินงานทางการเกษตร การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าเพื่อสืบสานวัฒนธรรม สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”
อนึ่ง สำหรับผลการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ประจำปี ๒๕๖๑ ปรากฏว่า ชนะเลิศอันดับ ๑ ประเภทผ้าไหมนกยูงสีเงิน ผ้าพื้นสีเคมี ของนางชนิดา สมอเผื่อน จากตำบลสามเมือง อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา ส่วนรายละเอียดในประเภทอื่นๆ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๘ วันจันทร์ที่ ๑๑ - วันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑
825 1,685