29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 13,2018

ระดมสมองภาคอีสาน ดันท่องเที่ยวโดยชุมชน มุ่งสร้างการตลาดได้เอง

             คณะวิจัยฯ สำรวจข้อมูลนักท่องเที่ยวภาคอีสาน พบชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านสื่อสารการตลาด พื้นที่ส่วนใหญ่มีแต่คนสูงวัย มีฝีมือ แต่ไม่รู้เทคโนโลยี หนุ่มสาวหันหน้าเข้าเมืองหลังรวบรวมข้อมูลครบทั้ง ๔ ภาค เตรียมผลักดันงานวิจัยสู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน

             เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาการสื่อสารการตลาดของการท่องเที่ยวในชุมชนในประเทศไทยพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้โครงการวิจัยการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โดยมี ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการ และคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหา วิทยาลัยเนชั่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุม ร่วมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และนักวิชาการจากพื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมการประชุมประมาณ ๓๐ คน รวมทั้ง “โคราชคนอีสาน” ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ การประชุมจะจัดขึ้น ๔ ครั้ง ใน ๔ ภูมิภาค โดยครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ ๓ (ภาคอีสาน) ครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ จัดที่ จ.กระบี่ ครั้งที่ ๒ ภาคเหนือจัดที่ จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ ๔ ภาคกลางจัดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 

ที่มาโครงการวิจัย

             “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการท่องเที่ยวทางเลือกที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ผ่านการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่และภาพรวมของประเทศ

             นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประกาศนโยบายส่งเสริม “การท่องเที่ยววิถีไทย” ซึ่งนโยบายดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยแนวคิดของการท่องเที่ยววิถีไทยล้วนแล้วแต่มีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ทราบถึงช่องทาง รูปแบบ รวมถึงแนวทางในการสื่อสารการตลาดการที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย เพื่อส่งต่อข้อมูลและความน่าสนใจของการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

             สำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาพฤติกรรมช่องทางและรูปแบบการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย, พัฒนารูปแบบการสื่อสารการตลาดที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย และเสนอแนวทางในการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย


ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต

๔ ประเด็นหลักข้อมูลวิจัย

             ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “เราจะมาพูดคุยในเรื่องของการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT แผนงานนี้เป็นแผนงานย่อย ซึ่งต้องการที่จะรวบรวมฐานข้อมูลเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการท่องเที่ยว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่ใช่เพียงท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์อย่างเดียว ในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในแผนงานวิจัย ซึ่งจะมีการสำรวจพื้นที่และแจกแบบสอบถามให้กับนักท่องเที่ยวว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ในยุคนี้การตลาด ๔.๐ สำคัญมาก โดยการทำความเข้าใจจากผู้บริโภคก่อนที่จะทำการสื่อสาร เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อศึกษาวิจัยได้ต่อไป”

             โดยการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มภาครัฐ, กลุ่มชุมชน, กลุ่มนักวิชาการและภาคเอกชน เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกจากคนในพื้นที่โดยตรง เพื่อนำไปสูการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นทั้งหมด ๔ ข้อ ได้แก่ ๑.พฤติกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใด มีลักษณะอย่างไร และปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาคอีสานของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ๒.การตลาดและการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานมีรูปแบบอย่างไรบ้าง ๓.มีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคด้านการตลาด และการสื่อสารการตลาด ของการท่องเที่ยวเที่ยวโดยชุมชนของพื้นที่ภาคอีสานบ้าง และ ๔.ควรจะพัฒนาปรับปรุงแนวทางการตลาดและการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่ภาคอีสานได้อย่างไรบ้าง 

ชูสินค้าเป็นอันดับแรก

             ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาในการระดมความคิดประมาณ ๑ ชั่วโมง จากนั้นตัวแทนของแต่ละกลุ่มจึงได้กล่าวสรุป โดยเริ่มจากนายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม ตัวแทนจากภาครัฐ (อดีตผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครราชสีมา) กล่าวว่า “วัฒนธรรมของภาคอีสานเข้มแข็งมาก ในความเป็นฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ทั้งธรรมะ วัฒนธรรม และสินค้า ที่ได้รับวัฒนธรรมจากประเทศลาว แต่จะวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการแต่งตัวที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ สินค้าต้องมาก่อน จึงจะทราบว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่จะเข้ามาดู เช่น เรื่องของผ้าคราม กลุ่มคนวัยทำงานน่าจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันคนที่ซื้อกลับไม่ใช่คนกลุ่มนี้ แต่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินมากกว่า เนื่องจากมูลค่าของผ้าครามที่สูงเพิ่มขึ้น สรุปว่าเราต้องชูเรื่องสินค้าเป็นอันดับแรก ให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้เข้ามาชม 

ขาดการต่อยอดผลิตภัณฑ์

             “ส่วนเรื่องของการสื่อสาร อย่างของ ททท.ซึ่งทำอยู่ที่ จ.นครพนม มีมิสแกรนด์เข้ามาประกวด ถือเป็นกระแสหนึ่งที่มีการถ่ายทอดออกไป ซึ่งขณะที่มีการเก็บตัว จะพาไปทำกิจกรรมในส่วนของการย้อมผ้าคราม คนดูก็จะรู้สึกว่าสินค้าชนิดนี้ดูดีขึ้น รวมถึงในครั้งที่อาจารย์คฑา ชินบัญชร มีการประชา สัมพันธ์เรื่องธรรมะ โดยการพาทัวร์ไปไหว้พระธาตุต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวของนครพนม ก็กลายเป็น กระแสการท่องเที่ยวเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าต่างๆ ควรจะมีแบรนด์ และคิวอาร์โค้ด ว่า ผลิตจากที่ไหน และบริเวณใกล้เคียงมีอะไรให้ไปเที่ยวได้ ซึ่งต้องต่อยอดกัน ในด้านปัญหาอุปสรรค การผลิตสินค้าที่คนรุ่นปู่ย่าตายายออกแบบเป็นต้นแบบไว้ เมื่อคนรุ่นใหม่สานต่อก็ทำแบบออกมาในรูปแบบเดิมๆ เพราะออกแบบใหม่ไม่เป็น ดังนั้น พัฒนาชุมชนจึงควรไปร่วมกับสถาบันการศึกษาเข้ามาต่อยอดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือแปรรูปได้อีกหลากหลาย” นายสุหฤทธิ์ กล่าว

             ด้าน นางสาวประกายวรรณ การริมย์ ตัวแทนหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านสนวนนอก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ตัวแทนจากชุมชน กล่าวว่า ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนจะเป็นชาวไทยมากกว่าชาวต่างชาติ รวมทั้งเป็นนักศึกษาที่มาดูงานการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการมาเที่ยวในชุมชน คือ ๑.เราขายภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีชุมชน อย่างบ้านสนวนนอกจะมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มาจากเขมร ๒.ธรรมชาติป่าเขา ๓.เรื่องของประวัติศาสตร์ ๔.สถาปัตยกรรม เช่น เครือข่ายชุมชนโฮมสเตย์บ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ ก็จะมีปราสาทหินเมืองต่ำอยู่ในพื้นที่ชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าศึกษาเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมได้ และ ๕.ด้านอาหารการกิน

อยากให้เยาวชนมีส่วนร่วม

             “การสื่อสารที่ใช้ในปัจจุบันอย่างได้ผลก็คือ การบอกปากต่อปากผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค คือการแชร์ลงในเฟซบุ๊ก การส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยว และการให้ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยทางหมู่บ้านจะมีเพจชุมชนให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอของสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร ส่วนปัญหาอุปสรรคด้านการสื่อสาร เกิดจากคนในชุมชนขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เนื่องจากเป็นคนรุ่นเก่า ทั้งยังขาดเทคนิคและวิธีการในการสื่อสารเรื่องราวการท่องเที่ยวในชุมชนให้น่าสนใจ รวมไปถึงการขาดงบประมาณ และการส่งเสริมด้านการสื่อสารการตลาดที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ บางครั้งหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาดำเนินการสนับสนุนเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งยังขาดเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยด้านสื่อสารด้านการตลาด และมีปัญหาเรื่อง สถานที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก” นางสาวประกายวรรณ กล่าว  

             “ทั้งนี้ ควรมีการสื่อสาร CBT ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการมาเรียนรู้ในชุมชนอย่างแท้จริง ให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการทำการตลาดแบบออนไลน์ซึ่งยังขาดองค์ความรู้อย่างมาก และส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารการตลาด เช่น การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Live) การทอผ้า ทั้งนี้ ควรมีการสื่อสารให้เห็นถึงบริบทของชุมชน รวมถึงความพร้อมของชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่องและมีงบประมาณเพียงพอ เพิ่มคิวอาร์โค้ดบอกรายละเอียดของชุมชน” ตัวแทนจากชุมชน กล่าวเพิ่มเติม

คนสูงวัยไม่รู้เทคโนโลยี

             นางสาววชิรญา ตติยนันทกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ตัวแทนจากกลุ่มนักวิชาการและภาคเอกชน กล่าวว่า ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวในชุมชนโคราชเป็นนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเรียน โดยมีพฤติกรรมการเข้าไปเที่ยวในชุมชนแบบไปเป็นกลุ่มจากโรงเรียนหรือสถาบัน รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โซนยุโรปตอนเหนือ ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยมักจะพักค้างคืนในระยะเวลาที่จำกัด เนื่องจากส่วนมากได้รับประสบการณ์ในการท่องเที่ยวที่ไม่ได้แตกต่างจากชีวิตประจำวันเท่าใดนัก และเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ยังติดความสะดวกสบายอยู่ การไปเที่ยวในชุมชนจึงยังไม่ตรงกับการใช้ชีวิตของกลุ่มนี้เท่าใดนัก ทั้งนี้ CBT ในโคราช อาจจะมีจำนวนมาก แต่การสื่อสารออกไปให้นักท่องเที่ยวรับรู้ยังมีน้อย เนื่องจากคนในชุมชนเป็นกลุ่มคนสูงอายุ เพราะกลุ่มคนวัยทำงานหรือคนที่เรียนจบก็มักจะเข้าเมืองเพื่อหางานทำ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ และถึงแม้ว่าจะมีเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แต่ก็ยังขาดในเรื่องของการอัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่การสื่อสารจะผ่านรูปแบบของ อบต.อย่างซุ้มทางเข้าหรือป้ายสถานที่ต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวมักจะค้นหาเองจาก YOUTUBE

หนุ่มสาวหันทำโรงงาน

             “ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารการตลาดก็คือชุมชนยังขาดความรู้ในเรื่องของการถ่ายทอดออกไป โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารด้านการตลาด บางทีสิ่งเหล่านี้อยู่ในวิถีประจำวัน แต่เขาไม่รู้ว่านี่คือจุดขาย คือความแตกต่างที่จะดึงคนเข้ามาได้ จึงควรมีผู้เข้าไปให้คำแนะนำในเรื่องการสื่อสารตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายของชุมชนว่าคือกลุ่มใด โดยความเป็นจริงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติก็มองหาความหมายจากการท่องเที่ยวชุมชนที่ต่างกัน นอกจากนี้ คนอีสานรุ่นใหม่มองการทำงานแล้วได้เงินมากกว่าการอยู่ในชุมชน จึงพากันไปทำโรงงาน ก็อาจจะต้องปลูกฝังเรื่องของความรักในสิ่งที่ชุมชนของตัวเองมี เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ต่อไป ดังนั้นควรมีการพัฒนาบุคลากรที่จะทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสารเกี่ยวข้องกับชุมชนให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีหลายชุมชนที่ยังไม่เข้าใจความหมายของการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เมื่อมีรายได้ขึ้นมา ก็จะเกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ทำให้หลุดจากแนวความคิดด้านการท่องเที่ยวในชุมชนไป สุดท้ายอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น” นางสาววชิรญา กล่าว

             ทั้งนี้ สำหรับแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผลการวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดการวิจัย คือ ๑.การจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการดำเนินโครงการวิจัยและนำข้อมูลไปสู่การกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๘ วันจันทร์ที่ ๑๑ - วันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


699 1346