19thApril

19thApril

19thApril

 

June 18,2018

โยธาฯเตรียมงบ๘๘๕ล้าน วางท่อดึงน้ำลงลำตะคอง หวังแก้น้ำท่วมโคราช๘จุด

         กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช ๘ จุดเร่งด่วน งบประมาณกว่า ๘๘๕ ล้าน เตรียมลงมือปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เผยใช้ระบบท่อขนาดใหญ่วางทุกจุดยาวถึงลำตะคอง พร้อมสร้างประตูเปิด-ปิดน้ำป้องกันน้ำในท่อไหลย้อนกลับหากลำตะคองเต็ม พบสาเหตุน้ำท่วมมาจากการสร้างบ้านจัดสรรทำแก้มลิงหาย

         สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ชั้น ๑ นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะจากกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมประชุม ซึ่งนายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา แจ้งที่ประชุมรับทราบถึงปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จากการประชุมเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จำนวน ๑๒ จุด ประกอบด้วยเซฟวัน, แยกไอทีพลาซ่า, ตลาดไนท์วัดบูรพ์, จุดถนนสุรนารายณ์, ถนนราชดำเนิน/หน้าค่ายสุรนารี, จุดแยกหัวทะเล, จุดหมู่บ้านจามจุรี(หัวทะเล), จุดพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่, การพร่องน้ำในบุ่งตาหลั่ว, การระบายน้ำในลำตะคองที่ผ่านพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา, การระบายน้ำลำตะคองเก่า และโครงการเชื่อมท่อระบายน้ำจาก ถนนสาย ฉ. ถึงสระเก็บน้ำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยแจ้งถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิ จุดเซฟวัน มีโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒ (หน้าตลาดเซฟวัน) ถึงใต้สะพานต่างระดับปักธงชัย (สามแยกปัก) เพื่อระบายน้ำตามแนวท่อทางหลวงไปลำตะคอง จุดแยกไอที โดยเทศบาลนครนครราชสีมา อยู่ระหว่างดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนราชดำเนิน โดยการวางท่อระบายน้ำผ่านแยกไอที–แนวคลองประปา–อ่างอัษฎางค์ลำตะคอง โดยอยู่ระหว่างสรรหาผู้รับจ้างเพื่อดำเนินโครงการ หรือจุดถนนราชดำเนิน หน้าค่ายสุรนารี มอบหมายให้เทศบาลนครนครราชสีมา ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา และสนับสนุนน้ำมันสำหรับการสูบน้ำท่วมขัง เป็นต้น

         ทั้งนี้ ในที่ประชุมดังกล่าว นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นำคณะจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ประกอบด้วย นายสหรัฐ พิมพศักดิ์ รักษาการวิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง และเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี บริษัทที่ปรึกษา บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมชี้แจงการสำรวจออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังระยะเร่งด่วน ๘ จุดในพื้นที่เขตเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.บริเวณบุ่งตาหลั่ว ๒.บริเวณแยกหน้าค่ายสุรนารี ๓.บริเวณแยกไอทีพลาซ่า ๔.บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ๕.บริเวณสามแยกปักธงชัย ๖.บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าตลาดเซฟวัน ๗.บริเวณโค้งหน้าวัดศาลาลอย และ ๘.บริเวณหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราช สีมา โดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แจ้งที่ประชุมทราบว่า สืบเนื่อง จากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระบบการระบายน้ำในจุดที่วิกฤตเร่งด่วน ซึ่งทางกรมฯ ได้สำรวจและศึกษาพื้นที่ที่มีน้ำท่วมจำนวน ๘ จุดดังกล่าว โดยใช้งบประมาณจำนวน ๘๘๕ ล้านบาท ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เป็นงบผูกพันประมาณ ๓ ปี 

         การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยด้านงบประมาณของแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องว่า มีหน่วยงานใดบ้างที่ได้ดำเนินการ และได้ตั้งงบประมาณไปแล้วบ้าง และตรงไหนที่สามารถบูรณาการร่วมกันได้ จะมีการปรับปรุงแผนการดำเนินงานร่วมกัน เช่น เทศบาลนครนครราชสีมา แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑, ๒ และสำนักชลประทานที่ ๘ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะและแผนการดำเนินการไปแล้วบางส่วน รวมถึงการตั้งงบประมาณ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน ๘ จุดอย่างยั่งยืนต่อไป

         ล่าสุดนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “สำหรับปัญหาน้ำท่วมในเมือง ๘ จุดใหญ่ ที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนนี้ ทางจังหวัดฯ ได้นำเสนอของบประมาณผ่าน ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๖๐ และได้มอบให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการ ผมจึงประสานให้ทางกรมฯ เป็นผู้ออกแบบ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษา ซึ่งทางกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวในช่วงที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในทุกจุด พร้อมกับวัดปริมาณน้ำว่าสูงเท่าไหร่ และจุดใดบ้างที่มีปัญหา มีการคำนวณปริมาณน้ำที่จะเข้ามาทั้งหมด รวมทั้งในกรณีปี ๒๕๕๓ ที่มีปริมาณน้ำเข้ามามากที่สุดในรอบ ๕๐ ปี โดยนำข้อมูลจากกรมชลประทานมาใช้ในการศึกษา แล้วจึงนำไปออกแบบเป็นระบบท่อขนาดใหญ่ โดยใช้ระยะเวลาที่ผ่านมาถึงประมาณ ๑ ปี เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำไปออกแบบและขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว จึงได้นำเข้าเสนอต่อที่ประชุม”

         โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราช สีมา กล่าวต่อว่า “ทั้งนี้ ในการออกแบบของกรมโยธาฯเป็นระบบที่ค่อนข้างใหญ่และสมบูรณ์แบบ คือการวางท่อเหลี่ยมจากจุดที่มีปัญหา โดยวางท่อยาวไปถึงลำตะคอง ซึ่งทุกจุดจะมีสถานีเป็นระบบปั๊มน้ำ หากน้ำในลำตะคองมีปริมาณต่ำ น้ำในระบบท่อที่วางไว้ทั้งหมดจะไหลแบบธรรมชาติลงสู่ลำตะคอง ทั้งนี้ จะมีปัญหาในช่วงฝนตกหนัก ซึ่งเมื่อน้ำมาพร้อมๆ กัน น้ำในลำตะคองจะเต็ม ส่งผลให้น้ำในท่อไหลไปไม่ได้ จึงไหลย้อนกลับ แต่ระบบของโยธาฯ จะมีประตูน้ำซึ่งมีระบบสูบ หากน้ำในลำตะคองสูง จะทำการปิดประตูน้ำ แล้วจึงใช้วิธีสูบน้ำเข้าลำตะคองแทน เพราะฉะนั้นน้ำในท่อจะไม่เกิดการไหลย้อนกลับ ซึ่งจะทำเช่นนี้ในทุกจุด ยกตัวอย่าง บริเวณจวนผู้ว่าฯ หน้าค่ายสุรนารี น้ำจะไหลมาจากทางกองบิน ๑ และผ่านกองทัพภาคที่ ๒ ลงมาที่บุ่งตาหลั่ว เมื่อน้ำล้นบุ่งตาหลั่วก็จะออกมาหน้าค่ายตรงจวนผู้ว่าฯ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะรับน้ำเป็นจำนวนมาก และไปไหนต่อไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม ดังนั้น จึงต้องวางระบบท่อขนาดใหญ่จากตรงจุดนี้ยาวไปถึงประตูระบายน้ำข่อยงามด้านเหนือ บริเวณทุ่งสว่าง หากตรงไหนที่ต้องลอดทางรถไฟ ก็จะใช้ระบบท่อแบบดัน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่กรุงเทพฯ คือการใช้ระบบดันทั้งหมด สำหรับงบประมาณอยู่ในปี ๒๕๖๓ ประมาณการอยู่ที่ ๘๘๕ ล้านบาท แต่เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ก็ได้ให้ช่วยออกแบบเพิ่มเติมอีก ๑ จุด คือบริเวณ ๓๐ กันยา โดยจากหลังศูนย์การค้าเซ็นทรัลมาถึงบ้านเมตตาจะไม่มีท่อ ส่วนคลองบริเวณนั้นตันไปแล้ว ซึ่งในสมัยก่อนน้ำจะไหลลงคลองมหาชัยแล้วลงสู่ลำตะคอง โดยขณะนี้ทางกรมฯ จะต้องเข้าไปศึกษาและออกแบบเพิ่มเติมอีก ๑ จุด ซึ่งจะต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย”

         “โคราชคนอีสาน” สอบถามว่า “จากการลงพื้นที่สำรวจจุดที่เกิดน้ำท่วม พบว่าเกิดจากสาเหตุใด” นายสมเกียรติ กล่าวว่า “ปัญหาหลักๆ เกิดจากขณะนี้จุดที่เป็นแก้มลิงต่างๆ หายไป เนื่องจากการมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างการก่อสร้างบ้านจัดสรร ซึ่งทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป จากเดิมที่น้ำจะไหลลงสู่แก้มลิงได้ แต่ปัจจุบันถูกบดบังด้วยตัวอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างไรก็ตาม  พื้นที่ ๘ จุดดังกล่าวเป็นปัญหาต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเมื่อฝนตกหนัก น้ำจะท่วมเร็วมาก แม้ความจริงแล้วระบบเดิมที่มีอยู่ยังคงรองรับได้ แต่ช่วงที่ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำจะมากเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ จึงทำให้น้ำระบายไม่ทัน จะท่วมขังอยู่ไม่เกิน ๑ ชั่วโมง จึงระบายได้หมด ในขณะที่โครงการดังกล่าวเราได้พยายามออกแบบให้รองรับปริมาณน้ำได้ทั้งหมดในระยะเวลา ๒๐ ปี”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๙ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


692 1344