24thApril

24thApril

24thApril

 

July 07,2018

ปรับลานเมรุพรหมทัต พ่อค้าพิมายคัดค้าน กรมศิลป์ชี้เพื่อส่วนรวม

       ประธานเครือข่ายชุมชนพิมายฉุน หลังกรมศิลป์มีโครงการปรับภูมิทัศน์ “ลานเมรุพรหมทัต” โดยไม่แจ้งประชาชน ร้องศูนย์ดำรงธรรม เหตุไม่ทำประชาพิจารณ์ หวั่นสูญเสียลานกิจกรรมที่อยู่คู่ชาวพิมายจะคัดค้านให้ถึงที่สุด หากไม่ฟังคงต้องเดินขบวนคัดค้าน ด้านกรมศิลป์แจงต้องปรับปรุง เพราะเสื่อมโทรมและประกวดราคาแล้ว เสร็จโครงการจะใช้งานได้เหมือนเดิม   

       เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นายภควัต บุญการุณ อายุ ๔๒ ปี เจ้าของร้าน ฮ.สวัสดิ์ยนต์ ประธานเครือข่ายชุมชน ๑๕ ชุมชน เขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ขับรถผ่านบริเวณลานพรหมทัต เห็นคล้ายกับว่ามีการก่อสร้าง โดยล้อมรั้วสังกะสีไว้ แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าทำอะไร ต่อมาวันที่ ๒๖ มิถุนายน มีการกั้นสังกะสีทึบ โดยล้อมลานเมรุพรหมทัตไว้ทั้งหมด จึงเข้าไปสอบถามคนงานก่อสร้างบริเวณดังกล่าว ทราบว่าจะรื้อลานเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ พร้อมทั้งติดป้ายโครงการ “พัฒนาภูมิทัศน์ลานเมรุพรหมทัต อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย”  โดยเป็นโครงการของสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร งบประมาณ ๑๑ ล้านบาท ผมจึงคิดว่าถ้าเป็นโครงการของกรมศิลปากร ก็ควรจะทำเฉพาะที่เกี่ยวกับโบราณสถาน ซึ่งลานพรหมทัตไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นพื้นที่ของราชพัสดุ ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเกิดมา รวมถึงคนเฒ่าคนแก่ยังไม่เคยเห็นกรมศิลปากรใช้พื้นที่ตรงนี้เลย แต่สำหรับคนที่นี่ เราใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นลานจัดกิจกรรมในชุมชนมาโดยตลอด แต่อยู่ๆ กรมศิลปากรจะมายึดพื้นที่ตรงนี้เป็นโครงการของตนเอง ทำไม่ถูกแล้ว”

 

ร้องศูนย์ดำรงธรรม

       นายภควัต กล่าวต่ออีกว่า “จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ผมได้ทำหนังสือเข้าไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอพิมาย ซึ่งได้รับเรื่องไว้และจะรายงานเรื่องนี้ต่อนายอำเภอ เพื่อส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดยวันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายนที่ผ่านมา ผมนัดประชุมประธาน ๑๕ ชุมชน แต่ภายในวันนั้นมีลูกบ้านมาร่วมด้วยประมาณ ๕๐ คน ได้หารือกันว่า ทราบหรือไม่ว่า กรมศิลปากรมีโครงการจะทำอะไร แต่ไม่มีใครทราบ ทั้งๆ ที่ลานแห่งนี้เป็นของชุมชน สำหรับวัตถุ ประสงค์ของโครงการนี้ ทราบมาว่าจะทำสวนสาธารณะ โดยจะปลูกต้นไม้และคงลานกิจกรรมเอาไว้ รวมทั้งจะรื้อเวทีถาวรออก ซึ่งหากใครจะมาขอใช้ต้องสร้างเวทีใหม่ ต้องสูญเสียงบประมาณทุกครั้ง เพราะเมื่อเสร็จงานก็ต้องให้รื้อออก ทั้งที่ชุมชนใช้เวทีเป็นประจำอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องรื้อ ทางกรมศิลปากรได้แจ้งว่า เวทีบดบังทัศนียภาพ แต่ผมคิดว่าลานนี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่คนจะมาเที่ยวชม นอกจากนี้ ทางกรมศิลปากรแจ้งประชาชนว่าจะมีการปลูกต้นหมากบริเวณลาน แต่ผมไม่เชื่อจึงขอดูแบบแปลนที่เทศบาล กลับพบว่าเป็นการปลูกต้นตาลโตนดในลานกิจกรรม ๒๔ ต้น และหากมีการจัดกิจกรรมต่างๆ บริเวณนั้นจริง ถ้าลูกตาลหล่นลงมา ใครจะกล้ามาเสี่ยงนั่ง”

       นายภควัต กล่าวอย่างข้องใจว่า “อีกกรณีหนึ่งคือ พิมายเป็นเมืองท่องเที่ยว แทนที่จะปลูกต้นตาลควรจะทำลานจอดรถดีกว่า แบบนี้จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ขณะนี้มีปัญหาเรื่องที่จอดรถที่ล้ำถนนมาเรื่อยๆ เนื่องจากมีตลาดไนท์บาซาร์ที่อยู่ตรงหอนาฬิกา กลับเอาพื้นที่ไปปลูกต้นไม้ แต่ไม่มีที่จอดรถ แค่นี้เศรษฐกิจในอำเภอพิมายก็ย่ำแย่มากพอแล้ว จากกรณีที่มีการประกาศเป็นเขตโบราณสถานของกรมศิลปากร ขณะนี้กู้เงินก็กู้ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีบทสรุปเรื่องที่ดินจึงยังกู้ธนาคารไม่ได้ ธนาคารไม่กล้าปล่อยเงินกู้ เพราะกลัวกรมศิลปากรยึด”

ถึงที่สุดอาจเดินขบวน

       “ลานพรหมทัตตรงนี้เป็นหัวใจของคนพิมาย เนื่องจากจะมีการจัดงานบริเวณลานนี้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น งานปีใหม่ งานวันเด็ก ทำบุญตักบาตร งานงิ้ว ลิเก รวมถึงงานเข้าพรรษาที่กำลังจะมาถึง ก็จะมีการแห่เทียนกันบริเวณนี้ เมื่อเราไปขอคำชี้แจงจากสำนักศิลปากรที่ ๑๐ เขาก็บอกว่าทำตามโครงการของรัฐบาลที่อนุมัติมาแล้ว ทีแรกประชาชนจะเดินขบวนประท้วง ผมก็ทักท้วงไว้ เพราะยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมไปแล้ว รวมถึงสื่อมวลชนก็เสนอข่าวไปแล้ว ความจริงผมอยากให้กรมธนารักษ์คืนพื้นที่ให้ประชาชนเพื่อเป็นพื้นที่ส่วนรวมมากกว่า ขณะนี้เราจะใช้สันติวิธี แต่ถ้าไม่มีใครช่วยเราแล้ว ท้ายที่สุดก็คงต้องรวมกลุ่มเพื่อเดินขบวน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิมาย แต่เทศบาลฯ ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ผมจึงได้ต่อว่าไปถึงกรณีการก่อสร้างที่ไม่รายงานเทศบาล แต่เมื่อชาวบ้านก่อสร้าง แล้วไม่รายงานเทศบาลกลับถูกเอาเรื่อง นอกจากนี้ แม้ว่าผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ จะแจ้งว่าเวทียังมีอยู่ แต่ในแบบแปลนที่เขียนมาไม่มีเวที จึงไม่รู้ว่าแบบโกหกหรือคนโกหก ผมไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาพูดมาไม่ตรงกับข้อมูลในโครงการ ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจกรมศิลปากร หากเป็นไปได้ผมอยากให้เขาย้ายไปที่อื่น ผมต้องอยู่ที่นี่จนตาย แต่เขาอยู่แค่หมดอายุราชการ อีกไม่นานเขาก็ต้องไป อย่างไรก็ตามยืนยันจะสู้ให้ถึงที่สุด ทางศูนย์ดำรงธรรมพยายามจะให้ผู้อำนวยการออกมาชี้แจง เขารื้อลานโดยไม่บอกเจ้าของบ้านทั้งที่ตัวเขาเป็นแค่ยาม คือเขาไม่มาทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนเลย เขาบอกว่าชาวบ้านแค่กลุ่มหยิบมือที่มีปัญหา แต่ชาวเขตเทศบาลตำบลพิมายมีจำนวนกว่า ๔,๐๐๐ คน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้” นายภควัตกล่าวด้วยน้ำเสียงโมโห

 

พื้นลานเมรุพรหมทัตทรุดตัว

       ล่าสุดวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อสัมภาษณ์นางสาวฑาริกา กรรมจันทร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักศิลปากรที่ ๑๐ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการเปิดเผยว่า “สภาพของพื้นบริเวณลานเมรุพรหมทัต ก่อสร้างด้วยอิฐตัวหนอนมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ประมาณปี ๒๕๓๔ และมีการใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นประจำ จึงมีความเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาขอใช้พื้นที่บริเวณนี้เพื่อจำหน่ายสินค้าเป็นรูปแบบคาราวานสินค้าอยู่บ่อยครั้ง จึงมีการขนส่งสินค้าโดยใช้รถบรรทุกเพื่อนำของขึ้นมาขายบนลานเมรุฯ ส่งผลให้พื้นบริเวณดังกล่าวทรุดตัวลงเรื่อยๆ ภายหลังจึงระงับไม่ให้มีคาราวานสินค้า และให้ใช้เฉพาะคนในพื้นที่ หรือส่วนราชการที่มีการใช้งานที่เป็นปกติทั่วไป ทางเทศบาลฯ ที่จัดหารายได้โดยการประมูลให้ประชาชนมาขายสินค้า เราก็อนุญาต โดยไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยเทศบาลฯ จะเป็นผู้เก็บค่าเช่าเอง แต่เมื่อใช้แล้วก็ไม่ได้ช่วยกันดูแล ทำให้เกิดความทรุดโทรม จึงต้องมีโครงการปรับภูมิทัศน์เกิดขึ้น”

       ต่อข้อถามว่า พื้นที่บริเวณลานเมรุพรหมทัตอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ตามที่ประธานเครือข่ายชุมชน ๑๕ ชุมชนกล่าวจริงหรือไม่? นางสาวฑาริกากล่าวว่า “ถ้าเป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตราชพัสดุ ก็จะเป็น กรมศิลปากรใช้ประโยชน์ได้โดยอัตโนมัติ อย่างเช่น คูเมือง กำแพงเมือง ก็เป็นของกรมธนารักษ์เช่นเดียวกัน แต่หากเป็นโบราณสถานก็จะเป็นความดูแลรับผิดชอบของกรมศิลปากร กรณีนี้เขตธนารักษ์กับกรมศิลปากรจะเป็นกรรมการร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานครอบคลุมทุกอย่างในพื้นที่ แม้กระทั่งกฎหมายเมืองเก่า ก็ยังต้องให้อ้างอิง พ.ร.บ. โบราณสถาน”

ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์

       ‘โคราชคนอีสาน’ ถามต่อว่า “เหตุใดจึงไม่มีการทำประชาพิจารณ์?” หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ตอบว่า “ทุกพื้นที่เป็นราชการส่วนกลาง เวลาทำงานปกติก็ไม่เคยทำประชาพิจารณ์อยู่แล้ว ยกเว้นจะมีผลกระทบต่อชาวบ้าน เช่นการไปทำในเขตชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบริเวณใดก็ตามที่ไม่ใช่ที่ของเรา จึงจะมีการพูดคุยร่วมกัน แต่ที่ตรงนี้กรมศิลปากรใช้ประโยชน์มาโดยตลอด และทำเพื่อให้ประชาชนชาวพิมายใช้ประโยชน์อยู่แล้ว รวมทั้งเราไม่คิดว่าคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เข้าใจ จะคิดเลยเถิดว่า เราจะรื้อเมรุพรหมทัต เราจะรื้อทำไม ในเมื่อเป็นโบราณสถาน”

       ‘โคราชคนอีสาน’ ถามอีกว่า “หลังจากมีการคัดค้านเกิดขึ้นจะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่ อย่างไร?” นางสาวฑาริกาตอบว่า “เราคงไปแก้ไขความคิดใครไม่ได้ เพราะเขาคือคนเดิมที่คัดค้านการประกาศเขตเมืองพิมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เราได้นำเสนอภาพสามมิติตรงหน้าโครงการ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นภาพ เขาก็เข้าใจว่าหลังจากทำแล้วบ้านเมืองก็จะสวยงามขึ้น เราให้ท้องถิ่นใช้ประโยชน์ แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยซ่อมแซม เขาเป็นฝ่ายขอใช้ประโยชน์ แต่เราเป็นฝ่ายดูแลรักษา”


แบบลานพรหมทัตที่จะมีการปรับปรุง    

 

ใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม

       “นอกจากนี้ ผู้ออกแบบโครงการ คือ ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระเมรุของรัชกาลที่ ๙ และอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้กรมศิลปากรจะมองว่า อดีตเคยเป็นมาอย่างไร ต้นไม้ที่จะนำมาปลูกจะเป็นไม้พื้นเมืองอย่างต้นตาล ต้นแกง ซึ่งคนรุ่นหลังจะไม่ทราบ คือเราจะปรับให้กลมกลืนกับปราสาท พื้นที่ตรงไหนที่กรมศิลปากรจะพัฒนาได้ หรือดึงดูดนักท่องเที่ยวเราก็จะเข้าไปทำให้เกิดความสวยงาม ไม่อยากให้มองเพียงมุมของตัวเอง โดยทุกอย่างยังใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม เนื่องจากต้นตาลก็จะมีแนวปลูก ไม่ได้ปลูกกลางลาน ดังนั้นลานกิจกรรมจะยังมีเหมือนเดิม แต่การปลูกต้นไม้ก็จะทำให้เกิดความร่มรื่นมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าโครงการจะเสร็จในช่วงปลายปี ๒๕๖๑” หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักศิลปากรที่ ๑๐ กล่าวทิ้งท้าย

       ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวระบุไว้ ดังนี้ ชื่อโครงการ พัฒนาภูมิทัศน์ลานเมรุพรหมทัต อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา งบประมาณ ๑๑ ล้านบาท ผู้ว่าจ้างคือ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร สัญญาจ้างเลขที่ ๔/๒๕๖๑ ผู้รับจ้างคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรณาไท ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๙ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๒ ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการตรวจการจ้างมี นายจารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นคร ราชสีมา เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง โดยกรรมการ ประกอบด้วย นางชุติมา จันทน์เทศ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ, นายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการ, นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการ, นายชำนาญ กฤษณสุวรรณ นายช่างเทคนิคอาวุโส และนายสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดีชำนาญการ 

       สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรณาไท จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ ทุนจดทะเบียน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หุ้นส่วน ได้แก่ ๑.นายกิตติพงศ์ ธรรมารัตน์ ลงหุ้นจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐  บาท ๒.นายพรเทพ อัศวกาญจนา ลงหุ้นจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท และ ๓.นางเจริญศรี ธรรมารัตน์ ลงหุ้นจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท

       อนึ่ง ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า ‘ลานพรหมทัต’ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิมายด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนเนินดินสูง เหตุที่เรียกว่าเมรุพรหมทัต คาดว่าเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวปาจิต นางอรพิม” ซึ่งเล่าว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ถวายพระเพลิงของท้าวพรหมทัต ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นหลังศิลปะเขมรที่ปราสาทหินพิมายอย่างแน่นอน


บริเวณลานเมรุพรหมทัต

นสพ.โคราชคนอรสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๓ วันศุกร์ที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๐  เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


709 1362