20thApril

20thApril

20thApril

 

July 12,2018

หวั่นนักธุรกิจย้ายลงทุน ‘โคราช’ต้องมีสิ่งดึงดูด อนาคตคมนาคมสะดวก

สภาอุตสาหกรรมฯ และพันธมิตรที่ร่วมจัดสัมมนา SME Strong Regular Level ปี ๒๕๖๑

 

         สภาอุตสาหกรรม ร่วมกับหลายองค์กรด้านธุรกิจ จัดโครงการพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต SME Strong Regular Level ปี ๒๕๖๑ สัมมนาผู้ประกอบการ หวังผลต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจเมืองโคราช รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ๔๐ ราย มุ่งแก้ปัญหาเชิงลึกให้ธุรกิจ SMEs ประสบความสำเร็จ “หัสดิน” ย้ำโคราชต้องมีสิ่งดึงดูดนักลงทุน เพื่อไม่ให้ย้ายไปที่อื่น

         เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียลโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โคราช มีงานสัมมนาโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต SME Strong Regular Level ปี ๒๕๖๑ จัดโดย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับองค์กรพันธมิตร มีนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย นางสาววนิตา อินช้างคำ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมผลิต (SMI) นายอนวัช คิมหสวัสดิ์ (เคี้ยว) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ OneStockHome นายวิจัย วรรณภักดี ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ๒ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานสาขานครราชสีมา ฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า ๑๐๐ ราย

รับสมัครผู้ประกอบการ

         ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบัน SMI มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราช สีมา ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการระดับเติบโต SME Strong Regular Level ปี ๒๕๖๑ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สสว. และสถาบัน SMI ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒ เพื่อสนับสนุน SMEs ให้เติบโตอย่างเต็มที่ตามศักยภาพ และมีเป้าหมาย ๓ ประการ คือ ๑.เพื่อประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ๒.ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต เพื่อเตรียมเข้าสู่ INDUSTRY 4.0 และ ๓.เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ก่อนจะเข้าสู่การสัมมนา นางสาววนิตา อินช้างคำ เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมผลิต (SMI) กล่าวถึงรายละเอียดขั้นตอนโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต SME Strong Regular Level ปี ๒๕๖๑ ว่า “แนวทางการดำเนินโครงการในขั้นแรกคือ ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นจะมีการสัมภาษณ์ ประเมิน วินิจฉัย ซึ่งก็คือกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้กรอกเอกสารว่ามีปัญหาด้านใดบ้าง และเมื่อได้คัดกรองแล้วว่าผู้ประกอบการมีปัญหาด้านใด เราจะนำที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านไปให้คำปรึกษาเชิงลึกที่สถานประกอบการนั้นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งมีเงื่อนไขคือผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนพาณิชย์มาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ปี โดยในพื้นที่โคราชมีโควตาสำหรับ ๔๐ ที่นั่ง”

ทิศทางเศรษฐกิจโคราช

         นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา บรรยายพิเศษถึงทิศทางการพัฒนาเมืองโคราชสู่ยุค อุตสาหกรรม ๔.๐ ว่า “ณ วันนี้รัฐบาลจัดหาสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคให้โคราชจำนวนมาก อาจจะเป็นรองแค่โครงการของ EEC ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลประกอบด้วย ๓ จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยมีงบประมาณ ๑.๕ ล้านล้านบาท เป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของโคราช การลงทุนมาอยู่ที่ภาคอีสานมีมูลค่ากว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และอยู่ที่โคราช ๒๔,๐๐๐ ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปที่อื่นได้ หากพื้นที่ใดที่ผู้ลงทุนเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า เขาก็จะไปตั้งที่นั่น ดังนั้น จึงอาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากโคราชไปที่อื่นก็ได้ ในส่วนของโรงงานที่มีความเข้มแข็ง อาจจะเปลี่ยนไปลงทุนที่ EEC ดังนั้น โคราชจึงต้องมีสิ่งจูงใจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการเดิมอยู่ได้ นอกจากนี้เราอาจจะเก็บตกผู้ประกอบการที่ไม่เข้าเงื่อนไข EEC ให้มาลงทุนกับเราแทน”

ต้องมีรถไฟทางคู่

         ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอีกว่า “ในด้านมอเตอร์เวย์จะทำให้คนเดินทางจากศูนย์กลางมาจังหวัดนครราชสีมาสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ อำเภอปากช่องยังมีความเจริญเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะด้านอสังหาฯ และการท่องเที่ยวสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตปากช่องอาจเป็นบ้านหลังที่ ๒ ของคนกรุงเทพฯ เนื่องจากเดินทางสะดวก แต่ข้อจำกัดก็คือการจราจรที่ติดขัดในวันศุกร์และวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่คนเดินทางจำนวนมาก ส่วนรถไฟทางคู่ จากกรุงเทพฯ มาถึงอำเภอภาชี เป็นรถไฟ ๓ ทางอยู่แล้ว และจากภาชีมาถึงมาบกะเบาเป็นทางคู่อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือมาบกะเบาอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งจากสระบุรีมาโคราชจะมีปัญหา เนื่องจากเป็นรถไฟทางเดี่ยว ทำให้มีปัญหาในการขนคนและสินค้า ภายหลังมี CY (Container Yard) อยู่ที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน แต่มีการใช้งานน้อยมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางที่เป็นรถไฟทางเดี่ยวนั้น สวนกันไม่ได้ ต้องจอดรอการสับหลีกรางรถไฟ ทำให้ล่าช้า การขนส่งด้วยรถไฟทางเดี่ยวจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่สามารถบอกกำหนดเวลาที่แน่นอนขณะรถไฟเดินทางไปถึงได้ และหากเปรียบเทียบด้านการบรรทุก รถไฟ ๑ ขบวนสามารถขนสินค้าได้มากเท่ากับรถสิบล้อ ๗๐  คัน ทำให้ลดค่าขนส่งไปได้มาก ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ที่จะเสร็จก่อนคือ เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ส่วนมาบกะเบา-จิระยังติดเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงทำให้ล่าช้าไป หากโครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จะมีการส่งสินค้าจากส่วนกลางมาที่โคราช เกิดเป็นสถานีขนส่งขนสินค้าหรือ Truck Terminal ซึ่งเราพยายามกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาให้ได้”

คาดหวังท่าเรือบก

         “นอกจากนี้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังที่มีความแออัดสูง เราจึงคาดหวังให้มี ICD หรือท่าเรือบกเกิดขึ้น ปัจจุบันการส่งออกต้องไปส่งสินค้าที่ลาดกระบัง แล้วนำสินค้าใส่รถไฟไปที่แหลมฉบัง เนื่องจากค่าขนส่งทางรางราคาถูกกว่ามาก แต่ปัญหาอยู่ที่เมื่อสินค้าไปถึง ต้องขนใส่รถบรรทุกต่อไปที่ท่าเรือแหลมฉบังอีกรอบหนึ่ง จึงทำให้มีความยุ่งยาก แต่เนื่องจากการขนส่งสินค้าไปที่ลาดกระบังถูกกว่าส่งสินค้าไปที่แหลมฉบังโดยตรง ประมาณ ๔,๕๐๐ บาทต่อตู้ และอีกเรื่องหนึ่งคือรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยเซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว ๓.๕ กิโลเมตร แต่ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าสถานีปลายทางที่โคราชอยู่ตรงไหน ซึ่งขณะนี้กำลังกระตุ้นทางจังหวัดว่าต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้สถานีทั้งหมดจะมี ๕ แห่ง คือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปากช่อง และโคราช ซึ่งหากแวะตามสถานีทั้ง ๕ แห่ง จะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ดังนั้นการเดินทางจะสะดวกมากขึ้น แต่ต้องวางแผนการเดินทางให้เป็นระบบ เพราะหากโครงการเสร็จต้องมีคนใช้บริการจึงจะคุ้มค่า” นายหัสดินกล่าวเพิ่มเติม

‘เคี้ยว’ แนะต้องมีทีมที่ดี

         ด้าน นายอนวัช คิมหสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ OneStockHome เว็บไซต์ขายวัสดุก่อสร้างครบวงจรและมียอดขายอันดับ ๑ ของตลาดอีคอมเมิร์ซวัสดุก่อสร้างในกลุ่มประเทศ CLMV เล่าประสบการณ์ทางธุรกิจว่า “OneStockHome ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากนักสำหรับผม เรายังมีโจทก์ที่ใหญ่มากอยู่ตลอดเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสามารถทำให้ธุรกิจไปไกลได้ก็คือ ทีมงาน คนเป็นเรื่องสำคัญ บางทีคนที่ไม่เหมาะกับองค์กรเรา แต่เราพยายามที่จะเก็บกลุ่มคนที่เราไม่อยากปล่อยทิ้งไป รวมถึงใช้เวลานานเกินไปในการเก็บคนเหล่านี้ไว้ หลักๆ แล้ว OneStockHome ไม่ได้สร้างบริษัทขึ้นมาเพื่อที่จะทำงานกันแบบครอบครัว แต่เราคือ ทีม คนที่เข้ามาทำงานคือคนที่ต้องการจะเข้ามาเรียนรู้ ต้องการที่จะเอาประสบการณ์มาใช้ต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะทำงานเป็นลักษณะของครอบครัว คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่สุดท้ายเราจะรู้เองว่า คนที่เข้ามาทำงานเขาต้องการอะไร อีกเรื่องที่ผมมองต่างจากคนอื่น คือ เรื่องของ First Impression หลายคนที่เข้ามาในชีวิตเรา ลองสังเกตว่า First Impression เขาดูดี แต่สุดท้ายเขาก็อาจจะไม่ดีก็ได้ ส่วนคนที่ First Impression ไม่ดี แต่สุดท้ายเขาอาจจะเป็นคู่ค้าที่ดีของเราไปตลอดชีวิตก็ได้เช่นกัน” 

         “สำหรับด้านการพัฒนาตนเอง โดยนิสัยปกติผมไม่ใช่คนขยัน ค่อนข้างขี้เกียจด้วยซ้ำ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่นำมาใช้แล้วได้ผลก็คือ คนหลายคนอาจจะชอบอ่านหนังสือหลายเล่ม แต่สำหรับผมจะอ่านหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม แต่ทุกเล่มที่อ่าน ผมจะนำมาใช้ในชีวิตจริง นอกจากนี้ ในด้านการเข้าอบรมหรือสัมมนาก็เป็นส่วนสำคัญ เรื่องไอเดียธุรกิจผมอาจจะไม่ได้คิดเองทั้งหมด แต่ผมนำไอเดียจากหลายๆ คนมารวมกันจนกลายเป็นความสำเร็จได้” นายอนวัช กล่าวเพิ่มเติม

         อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายมีการสัมมนาให้ความรู้ในหัวข้อ “ชีวิตดี๊ ดี กู้ Bank SME ใครว่ายากส์” โดยนายวิจัย วรรณภักดี ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ๒ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และหัวข้อ “อนุมัติด่วน ฉับไว ไว้ใจ บสย. ค้ำประกัน” โดยนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานสาขานครราชสีมา ฝ่ายกิจการสาขาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาห กรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมตอบข้อซักถามผู้เข้าสัมมนา

 

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๔ วันพุธที่ ๑๑ - วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

 

 

 

 


713 1345