24thApril

24thApril

24thApril

 

July 12,2018

‘นิคมอุตฯอุดรธานี’เนื้อหอม WHAUP สนใจสนับสนุน ชี้ผู้ลงทุนมุ่งพัฒนาท้องถิ่นชัดเจน

ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีต้อนรับผู้บริหาร WHAUP

         บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจบริการสาธารณูปโภครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรม บินด่วนเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ ประทับใจและสนใจร่วมสนับสนุน ชี้ผู้บริหารโครงการมีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

         นายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด พร้อมด้วยนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริษัทฯ นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการบริษัทฯ และคณะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ประกอบด้วย นายประมวลชัย ทวีเศรษฐ์ นางจิดาภา มั่นใสัจจธรรม นายอมร พรหมดีราช นายพูนเกียรติ พุทธรักษ์ และนายทรงพล ตันศรีตรัง บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ให้การต้อนรับ นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ผู้ดำเนินธุรกิจบริการสาธารณูปโภคแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมการพัฒนาพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ตำบลโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี จุดแรกที่สะพานข้ามทางรถไฟทางเข้าโครงการ จุดสถานีไฟฟ้าย่อย จุดพื้นที่ตั้งศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งจุดนี้มีการบรรยายสรุปข้อมูลและความคืบหน้าของโครงการ จุดพื้นที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ หรือ CY และแหล่งน้ำสำรองหนองนาตาล เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา

         นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด จ.อุดรธานี เปิดเผย ว่า ความคืบหน้าในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น คาดว่ากลางปี ๒๕๖๒ จะแล้วเสร็จ ปัจจุบันสภาพพื้นที่และถนนหลักภายในโครงการ มีการปรับเกรดแล้วเสร็จ ๘๐% สถานีไฟฟ้าย่อยภายในโครงการ ขนาด ๑๐๐ MW มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ พื้นที่ติดทางรถไฟกว่า ๔๐๐ ไร่ เพื่อรองรับการเป็นลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard-CY) และบ่อเก็บน้ำสำรองจำนวน ๓ บ่อ พื้นที่ ๑๑๐ ไร่ ความจุรวม ๑,๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาดำเนินโครงการท่าเรือบก หรือ Inland Container Depot : ICD ในพื้นที่ของนิคม และบรรจุลงในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งสนข.ได้บรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ ระยะกลาง ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๙ และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบให้การรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

 

         ขณะที่ นายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานกรรมการบริหารบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า วันนี้ทาง WHAUP ลงพื้นที่สภาพพื้นที่จริง หลังจากที่นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้ทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ข้อมูลตรงกัน และนโยบายของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีในเรื่องพื้นที่สีเขียว และดูว่ามีศักยภาพพอที่จะดึงนักลงทุนเข้ามา ที่จะเชื่อมโยงสู่ประเทศในแถบอินโดจีนเชื่อมสู่แหลมฉบัง ขณะเดียวกันเราก็มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ในอนาคตไม่ไกลนักหากความร่วมมือกันเกิดขึ้น ในแง่ของข้อมูลเชิงต่างๆเหล่านี้ ที่นำไปสู่การตัดสินใจของทุกฝ่ายได้อย่างดี จึงอยากฝากไว้ว่านิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาหลายปี ก่อนหน้านี้ชาวอุดรคาดหวังไว้เยอะ ณ ปัจจุบันใกล้ถึงจุดมุ่งหมาย ดูจากการที่มีบริษัทต่างๆเข้ามาศึกษารวมถึง WHAUP เอง ได้เข้ามาศึกษา รวมทั้งบริษัทจากต่างประเทศด้วย เราก็ไม่ได้นิ่งเฉย พยายามปรับปรุงตามนโยบายของ กนอ. ทั้งพื้นที่ ถนนหนทาง การสร้างระบบสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นทำให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากทางส่วนราชการในการทำถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟหนองตะไก้เป็นที่ขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันชาวจังหวัดอุดรธานีก็ต้องการที่จะให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพหรือต่างจังหวัด ได้กลับมาทำงานที่บ้าน เพราะจะมีการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากในพื้นที่

         “ในการร่วมมือของภาคเอกชนด้วยกัน โดยเฉพาะกับ WHAUP คิดว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดแล้ว เพราะพึ่งแต่ภาครัฐอย่างเดียวคงยาก ต้องร่วมมือกันให้บรรลุเป้าหมาย แนวคิดในการทำนิคมอุตสาหกรรมถ้าทำได้สำเร็จ จะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่เรานำเอาจุดอ่อนในนิคมหลายๆพื้นที่มาวิเคราะห์ และพอดีว่านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีสามารถมีระบบรางได้โดยไม่ต้องสร้าง เพราะมีทางรถไฟผ่าน และจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคอีสานที่จะเกิดขึ้น และคาดหวังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ในส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าจะสามารถคิกออฟได้ เช่น จะทำโกดังสินค้าพื้นที่ ๔๐ ไร่ เนื่องสภาพของจังหวัดอุดรธานีมีปัญหาในเรื่องการจราจร รถติด รถบรรทุกเข้าไม่ได้ ก็ประสานกลุ่มทุนต่างๆมาใช้ เพื่อเก็บและบริหารสต็อกสินค้าเอา ดีกว่าจะขนวันต่อวัน เป็นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เรามองว่าเป็นโอกาสที่คนอุดรฯ จะได้ใช้” นายเสนีย์ กล่าว ทางด้าน นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอยูพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ WHAUP International Co., Ltd. ด้วยทุนจดทะเบียน จำนวน ๔๕ ล้านบาท เพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจลงทุนในกิจการอื่น (Holding Company) โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภค เพื่อเป็นการต่อยอดการขยายการเติบโตออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น ตามนโยบายของบริษัทฯ ที่สนใจลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ในอนาคต

 

         “จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานที่ก่อ สร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ประทับใจและเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนในจังหวัดอุดรธานีจะให้การสนับสนุน น่าจะมาจากการที่คณะผู้บริหารโครงการมีเป้าหมายที่จะพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะอยู่และได้ผลประโยชน์ไปพร้อมๆกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากในการประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในภาพรวมเรามีความสนใจ และเราพร้อมที่จะแชร์ข้อคิดและประสบการณ์ ช่วยในการวางแผน”

 

         นายวิเศษ จูงวัฒนา กล่าวท้ายสุดว่า อุตสาหกรรมในแต่ละนิคมฯ อาจจะไม่เหมือนกัน เห็นเลยว่าการใช้สาธารณูปโภค โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ไฟฟ้า มีการใช้แตกต่างกัน ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเอาชิ้นส่วนมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ เรื่องการใช้น้ำจะไม่มาก แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จำพวกโรงงานไฟฟ้าจะใช้น้ำมหาศาล ต้องทำความเข้าใจในเรื่องสาธารณูปโภค เพราะว่าหากเราทำน้อยไปก็ไม่เพียงพอ หรือทำมากไปแต่ก็อาจมีคนใช้อยู่นิดเดียว สิ่งเหล่านี้เรามีประสบการณ์ และเห็นมาตลอด ๓๐ ปี ที่ทำธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๔ วันพุธที่ ๑๑ - วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


728 1343