25thApril

25thApril

25thApril

 

July 12,2018

เดินสายประเมิน“จีโอพาร์ค” ดันโคราชสู่ดินแดน ๓ มงกุฎ

         กรรมการลงพื้นที่ตรวจประเมิน เพื่อรับรองเป็น National Geopark ดันโคราชขึ้นชั้นดินแดน ๓ มงกุฎของยูเนสโก กำหนดเงื่อนไขเข้ม กำชับภาครัฐสร้างวิสาหกิจชุมชนให้มีนวัตกรรม พร้อมสร้างงานเป็นแหล่งรายได้ชุมชนผ่านท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา

         เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ “อุทยานธรณีโคราช” หรือสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากร ธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระ เกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.สาวิตรี สุวรรณสถิต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการสตูลจีโอพาร์คและกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระจากองค์การยูเนสโก เดินทางมาตรวจการประเมินภาคสนามของอุทยานธรณีโคราช เพื่อรับรองเป็น National Geopark โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช พร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัดนครราช สีมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และการค้นพบฟอสซิลทั้งซากพืชซากสัตว์ ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติและคุณค่าทางประวัติ ศาสตร์ต่อวงการบรรพชีวินไทย ซึ่งได้อนุรักษ์ฟอสซิลในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ ยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ บ่งบอกถึงศักยภาพอันโดดเด่นของแหล่งอนุรักษ์ที่จะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งกรรมการฯ ได้เน้นย้ำแนวทางการบริหาร จัดการแบบองค์รวมทั้งการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การให้การศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนท้องถิ่น ตระหนัก เห็นความสำคัญและภาคภูมิใจกับมรดกโลก กำชับให้ภาครัฐต้องสร้างวิสาหกิจชุมชนให้มีนวัตกรรมต่างๆ การสร้างงานให้เป็นแหล่งรายได้ของชุมชนผ่านการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเข้าองค์ประกอบได้รับรองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

         ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า “อุทยานธรณีโคราชหรือโคราชจีโอพาร์ค ครอบคลุมพื้นที่ ๓,๑๖๗ ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาระดับสากล รวมทั้งนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาเควสตา หินทรายด้านตะวันตกเฉียงใต้ ที่ราบรูปคลื่นและที่ราบลุ่มด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำตะคองเป็นลุ่มน้ำสายหลักไหลผ่านกลางพื้นที่ ๕ อำเภอ ประกอบด้วย สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นที่ตั้งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และค้นพบซากฟอสซิลจำพวกช้างดึกดำบรรพ์รวม ๑๐ สกุล จาก ๕๕ สกุล มากสายพันธุ์ที่สุดในโลก เรียกว่า “เควสตาแอนด์ฟอสซิลแลนด์ (Cuesta&Fossil Land) หรือ ดินแดนแห่งเควสตาและฟอสซิล”

         ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า “ขณะนี้มีเพียง ๓ ประเทศในโลก คือ ๑.อิตาลี ๒.เกาหลีใต้ และ ๓.จีน ได้รับรองเป็น “ดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก” ซึ่งหมายถึง จังหวัดของประเทศหนึ่ง ได้รับการรับรองโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครบทั้ง ๓ โปรแกรมของยูเนสโก จังหวัดนครราชสีมา คือคำตอบสุดท้าย ล่าสุดยูเนสโกรับรองแล้ว ๒ โปรแกรม คือ ๑.มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ๒.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ขณะที่อุทยานธรณีโคราชหรือจีโอพาร์ค ทุกภาคส่วนกำลังผลักดันให้ก้าวไปสู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งต้องผ่านการตรวจประเมินในระดับประเทศก่อนเสนอให้ยูเนสโก ดำเนินการตรวจเข้มในครั้งสุดท้าย ซึ่งจะทราบคำตอบในปี ๒๕๖๒” 

         “คุณค่าของดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก จะส่งผลให้ประเทศ ไทยและจังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติตามมาตรฐานสากล สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้หลายเท่าตัว โดยจังหวัดเชจู เกาหลีใต้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม ๔ ล้านคน ภายในเวลา ๓ ปี โดยเครือข่ายความร่วมมือ ๓ มงกุฎ หรือ Triple Crown เพิ่มคุณค่าโคราชให้เป็นเมืองท่องเที่ยวโดดเด่นแตกต่างจากเชียงใหม่ ภูเก็ต และอยู่ในระดับเดียวกับจังหวัดเชจู โดยใช้เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วงรอบ “เขาใหญ่–สะแกราช–ท่าช้าง–ท้าวสุรนารี-ศรีจนาศะและขอม–เควสตา เขายายเที่ยงหรือภูผาสูง” สามารถส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักอนุรักษ์และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” ผอ.อุทยานธรณีโคราช กล่าวทิ้งท้าย   

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๔ วันพุธที่ ๑๑ - วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


704 1345