23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

July 17,2018

๔ ประเทศอาเซียนจับมือ สู่การเป็นมหาอำนาจ “เกษตรไร้สารพิษ”

      สัมมนา “เกษตรอินทรีย์ วิถีอาเซียน” ให้ความรู้ด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร พร้อมให้แนวทางการพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลก แก่เกษตรกรทั้งไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน จาก ๔ ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว เล็งอาเซียนสามารถขึ้นเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้แน่นอน

      เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมพิมาย โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา นายนคร บุตรดีวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา และคณะ จัดสัมมนาเชิงวิชาการ “เกษตรอินทรีย์ วิถีอาเซียน” โดยได้รับเกียรติจาก นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน ประกอบด้วยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การสัมมนาในครั้งนี้แบ่งเป็น ๒ หัวข้อ คือภาคเช้าเป็นการเสวนาในหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์ ความท้าทายของอาเซียน” และภาคบ่ายเป็นการสัมมนาในหัวข้อ “แนวโน้มตลาดโลกของสินค้าเกษตรอินทรีย์” โดยในช่วงเช้าได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่ นางอินแปง ชามุนตี ผู้อำนวยการวิสาหกิจ ผสมปากซองพัฒนาฯ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, Mr.Sat Theap ประธานสมาคมมันสำปะหลัง อัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย จากราชอาณาจักรกัมพูชา, Professor Dr.Dang Van My อธิการบดีมหาวิทยาลัยดานัง วิทยาเขตดอนตูม จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, นายอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว นครราชสีมา และวิทยากรในช่วงบ่าย นางจุฬาพร กรธนทรัพย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไทย บริษัท ไทยสมาร์ทไลฟ์ จำกัด 

      นายนคร บุตรดีวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ มีแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต การบริการ การค้า และการพัฒนาผู้ประกอบการแบบคบวงจร โดยการพัฒนากลไก และยกระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ประเทศได้ก้าวเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาของรัฐบาล และด้วยกระแสการรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักสุขภาพของผู้บริโภค กระแสของตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษในตลาดโลก ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความต้องการขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการด้านการผลิตผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในประเทศไทยและในประเทศอาเซียน ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลที่ตลาดยอมรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ดังนั้นการสร้างแบนด์หรือการพัฒนาด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และความท้าทายของกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในประเทศไทย และกลุ่มประเทศในอาเซียน ในการพัฒนาสินค้าทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ให้ก้าวไปสู่กลุ่มประเทศมหาอำนาจด้านอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าทางการเกษตรให้มีคุณภาพ เพิ่มผลผลิต สร้างความมั่นคงด้านการเกษตร และพัฒนาช่องทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน

ทำไมถึงทำเกษตรอินทรีย์

      นายอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว นครราชสีมา กล่าวว่า “ผมเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ว่า อาหารเป็นหนึ่งในโลก และการให้อาหารคือการให้ชีวิต แต่เกษตรกรทั่วโลกหรือส่วนใหญ่หลงทิศผิดทางกัน แทนที่จะให้ชีวิตกลับเป็นทำลายชีวิตด้วยสารพิษ ทั้งที่เมื่อก่อนประเทศเราก็ไร้สารพิษอยู่แล้ว ไม่เคยมีปุ๋ยเคมี สารเคมีอะไร เมื่อผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดี จึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี’๓๗ ทำด้วยความเชื่อว่า ปลูกพืช ปลูกผัก ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี เพราะขนาดป่าจริงๆ ยังโตขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับปุ๋ยเคมีอะไรเลย ประโยชน์จากการทำเกษตรอินทรีย์ก็คือ ๑.ทำแล้วได้บุญ เอาพืชเอาผักไปให้ใครก็ปลอดภัย และคนรับยังมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นอีก และ ๒.ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ช่วยลดมลพิษที่จะเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีได้”

      นางอินแปง ชามุนตี ผู้อำนวยการวิสาห กิจ ผสมปากซองพัฒนาฯ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า “ปัจจุบันลาวก็กำลังกระจายการผลิตให้กับประชาชน เพราะมันเป็นวิถีชีวิตอยู่แล้ว ฉันมองว่าตอนนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว, ไทย, พม่า, เวียดนาม ถึงเวลาที่พวกเราจะช่วยกันทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสู้กับธุรกิจนำเข้าต่างๆ จากหลายประเทศ แล้วฉันก็อยากเชิญชวนให้พี่ๆ น้องๆ ทุกประเทศในอาเซียน หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเกษตรอินทรีย์นั้นสามารถส่งออกได้ และมีมูลค่าที่มากพอจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น ในตอนนี้ประเทศลาวกำลังเริ่มขยายการทำเกษตรอินทรีย์ให้ทั่วประเทศ แต่ว่าตอนนี้ลาวยังไม่ได้ปลูกเพื่อส่งออก ปลูกเพียงเพื่อใช้บริโภคในประเทศของเราเอง”

      Mr.Sat Theap ประธานสมาคมมันสำปะหลัง อัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย จากราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า “กัมพูชากำลังมองเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ทางสมาคมก็ไม่ได้ทำแค่พืชไร่อย่างเดียว แต่พืชชนิดอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน ทางสมาคมก็ทำด้วยเช่นกัน และตอนนี้ก็กำลังจะผลักดันให้ประชาชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์เหมือนกับที่อื่นๆ ด้วย”

      Professor Dr.Dang Van My อธิการบดีมหาวิทยาลัยดานัง วิทยาเขตดอนตูม จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวว่า “จริงๆ แล้วที่ประเทศเวียดนามนั้นมีเกษตรกรมาก และเกษตรกรก็ใช้ปุ๋ยคอกมานานแล้ว แต่ว่าพืชที่ปลูกนั้นยังไม่หลากหลาย ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ประเทศเวียดนามตอนนี้กำลังช่วยกันผลักดัน ให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ในส่วนที่กำลังทำเกษตรอินทรีย์อยู่และให้ความสำคัญ จะมีข้าวและชาที่ส่งออกให้คนทั้งโลกดื่ม ที่สำคัญนมก็จะต้องนมอินทรีย์ นอกจากนี้ เวียดนามก็กำลังปลูกฝังให้ประชาชนเปิดใจกับการทำเกษตรอินทรีย์ ต้องสร้างความเข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ดีอย่างไร และสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากแค่ไหน ในส่วนของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าเอง จำเป็นต้องรับสินค้าอินทรีย์ไปขาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการบริโภคเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ในเวียดนามราคาผักและสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะมีมูลค่าสูงกว่าผักหรือสินค้าทั่วๆ ไป ๓ ถึง ๕ เท่า ดังนั้นในอนาคต เกษตรกรในประเทศอาเซียนที่ทำเกษตรอินทรีย์จะต้องรวยขึ้นกว่าเดิมแน่นอน”

เกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลก

      นางจุฬาพร กรธนทรัพย์ ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไทย บริษัทไทยสมาร์ทไลฟ์ จำกัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร กล่าวว่า “ในปี ค.ศ.๒๐๐๔ ฝั่งยุโรปเพิ่งรู้จักเกษตรอินทรีย์ ทางบริษัทเราจึงเริ่มต้นการขายเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่นั้นมา ทางเรามีความภูมิใจว่า คนไทยสามารถผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ชาวโลกได้รับประทาน ที่ทางเราทำเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งขายไปยังประเทศฝั่งยุโรป หรืออเมริกา เพราะพืชพันธุ์บางชนิด สามารถปลูกได้เฉพาะที่เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมฝรั่งจึงไม่ปลูกเกษตรอินทรีย์มาใช้บริโภคเอง และถ้าเราทำในสิ่งที่เรามีไปขายในประเทศที่ไม่มี อย่างไรก็ตาม สินค้าของเราก็ต้องขายได้แน่นอน ส่วนคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องนึกถึงกำไรหรือขาดทุน ให้นึกถึงว่าจะรวยช้าหรือรวยเร็วเท่านั้น ในส่วนของสินค้าที่บริษัทเรากำลังจำหน่ายนั้น มีสินค้าเกษตรอินทรีย์มากมายที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก จะให้บอกว่าใช้พื้นที่ปลูกทั้งโคราชก็ยังไม่พอ สินค้าที่ตลาดโลกต้องการเป็นอย่างมากและมีเฉพาะที่ประเทศอาเซียน ได้แก่ ข้าว, ว่านหางจระเข้, ขมิ้นชัน, ใบบัวบก, แก่นตะวัน, และโหระพา นี่คือสินค้าที่พวกเขาไม่มี แต่เรามีและสามารถทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนั้นไม่มีทางที่พวกเราจะทำไม่ได้อย่างแน่นอน และทางเราก็จะทำให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยพื้นที่เกษตรอินทรีย์ภายในปี’๖๒ ให้ได้” 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๖ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


691 1344