28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 17,2018

เด็ก ๑๓ คนติดถ้ำช่วยเหลือได้ ราษฎร ๒ หมื่นวอน‘ประยุทธ์’อย่าทิ้ง

           เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่วัดบ้านโนนแย้ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ราษฎรจาก ๒ ตำบล ๕ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนแย้, บ้านโนนหล่อ, บ้านโนนสำนัก, ชุมชนโนนสำราญ และชุมชนกุดหวาย จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน นำโดยนางทองคำ ชัยชาญ อายุ ๗๔ ปี ในนามคณะกรรมการศูนย์ประสานงานที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย “พื้นที่โนนป่ายาง” ได้มาชุมนุมประชาคมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนผู้เดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย และติดตามความคืบหน้ากรณีที่ได้เคยเรียกร้องให้ทางการเข้ามาแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน

           นางทองคำ ชัยชาญ กล่าวว่า “ที่ดินสาธารณประโยชน์โนนป่ายาง เดิมเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ตำบลหญ้าปล้อง มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไม่ชัดเจน ชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๒ ถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ก่อนที่จะมีการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี มีหลักฐานพิสูจน์ได้ คือหลักฐานการเวนคืนที่ดินที่จะสร้างทางรถไฟ ที่สาธารณประโยชน์โนนป่ายางหรือที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ตำบลหญ้าปล้องขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนหลังจากที่ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย

           นางทองคำ กล่าวต่อไปว่า “ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ราษฎรแจ้งครอบครองที่ดินและได้เอกสาร สค.๑ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ต่อมาราษฎรขอออกโฉนดในที่ สค.๑ ไม่สามารถออกได้ ราษฎรจึงร้องเรียนไปทางจังหวัดศรีสะเกษเพื่อขอให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่เรื่องก็เงียบ ไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด ต่อมา พ.ศ.๒๕๓๒ มีพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยถอนสภาพที่ดินโนนป่ายาง ทั้ง ๔,๑๒๕ ไร่ แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่แจ้งให้ราษฎรได้รับทราบ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐ (กปร.) จังหวัดศรีสะเกษ สั่งให้ กปร.อำเภอ ไปจัดทำเขตที่ดินโนนป่ายางอีกครั้ง เพื่อจะกันไว้เป็นที่สาธารณะรอบที่ ๒ ซึ่งการกระทำในครั้งนี้ทำโดยพลการ เนื่องจากไปกั้นที่ดินของราษฎรโดยไม่แจ้งให้เจ้าของทราบล่วงหน้า ไม่มีการทำประชาคม และดำเนินการในเนื้อที่ ๑,๕๓๑ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา จึงเกิดการร้องเรียนของราษฎรขึ้นอีก และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีการประชุมคณะกรรมการสภาตำบลหญ้าปล้องและสภาตำบลหนองไผ่ให้ราษฎรลงชื่อ ลงมติรับแผนที่แนวเขตที่สาธารณประโยชน์รอบ ๒ ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) แล้วให้ราษฎรเช่า จึงเกิดการคัดค้านของราษฎรในพื้นที่ เพราะเห็นว่าราษฎรทั้งหมดอาศัยอยู่ในที่ดินของตัวเองมาตลอดจึงไม่ต้องการให้มีการเก็บค่าเช่า”

           “ล่าสุดเราได้ประชุมประชาคมเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๑ และเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่เรื่องก็ยังเงียบไม่มีอะไรคืบหน้า การประชุมในวันนี้เพื่อติดตามเรื่องการทำงานของทางราชการ พวกเราต้องการให้ทางหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเขตที่ดินพื้นที่โนนป่ายางให้ถูกต้องโปร่งใส ชัดเจนและเป็นธรรม โดยได้ทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ, เจ้าหน้าที่ทหาร กกล.รส.จ. ศรีสะเกษ, ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ แต่ไม่มีใครมาแม้แต่คนเดียว ตอนนี้ทางราชการจะให้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิ์ คือต้องมีเอกสารทางราชการในการครอบครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยก่อนปี ๒๔๖๘ ซึ่งไม่มีราษฎรคนใดมีเอกสาร พวกเราจึงไม่ยอมในการพิสูจน์สิทธิ์เพราะจะทำให้เสียสิทธิ์ในที่ดินที่ได้ทำกินและอยู่อาศัย ขอเรียนเชิญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมาพิสูจน์พื้นที่นี้ด้วยตัวท่านเอง แม้แต่ ๑๓ ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนเชียงราย ยังระดมคนจากทั่วโลกมาช่วย แต่พวกเราชาวบ้านกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ติดอยู่ในพื้นที่โนนป่ายาง ทำไมไม่มีคนมาช่วย ขอวอนให้ท่านนายกฯ มาช่วยเหลือ ดูแลพวกเราด้วย ขอให้อย่าดำเนินงานแบบ ๒ มาตรฐาน” นางทองคำกล่าวเพิ่มเติม

           ‘โคราชคนอีสาน’ ได้ติดต่อสัมภาษณ์ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ ถึงกรณีดังกล่าวได้รับการเปิดเผยว่า “เรื่องพื้นที่โนนป่ายางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่กำหนดว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๘ และมีการแก้ไขปัญหากันมาตลอด ทางส่วนราชการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการดำเนินการเข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) โดยมีการประชุม มีการกำหนดขอบเขตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังมีส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ มีที่ดินที่ถูกกำหนดอยู่ ๔,๑๒๕ ไร่ ที่ถูกขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของขอบเขต ทางจังหวัดก็ได้ประชุมกันไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านมาตลอด ไม่ได้มีการละเลยแต่อย่างใด เพียงแต่ยังติดขัดในเรื่องของข้อกำหนดระเบียบอยู่ว่า ที่ดินตรงนี้ขึ้นทะเบียนไว้นานแล้ว ซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่งใน กบร. ดังนั้น ก็จะเป็นในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา”

           ทั้งนี้ กรณีที่ราชการแจ้งว่า ราษฎรต้องมีเอกสารครอบครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยก่อนปี ๒๔๖๘ นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ กล่าวว่า “ในวันนี้ ( ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑) จะมีการลงไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการอย่างไร จะได้นำเสนอ กบร.จังหวัดต่อไป โดยจะรับฟังในส่วนของแนวทาง แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นที่สาธารณประโยชน์ ก็คงไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมีการหาทางออกร่วมกัน เราเข้าใจว่าประชาชนก็อยู่กันมานานชั่วลูกชั่วหลาน ส่วนจะมีการเยียวยาหรือไม่นั้น ในส่วนของอำนาจหน้าที่ผมคงตอบไม่ได้ ขณะนี้เรื่องถึงคณะกรรมการระดับจังหวัดแล้ว ก็อยู่ที่ทางคณะกรรมการฯ ในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๖ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


690 1334