26thApril

26thApril

26thApril

 

July 17,2018

เร่งใช้ยางตามนโยบายรัฐบาล หวังดึงราคายางสูงขึ้น ชลประทานประเดิม ๓๐๐ ล.

           ชาวสวนยางพารายื่นหนังสือเรียกร้องภาครัฐ รีบนำยางพาราไปทำถนนตามคำสั่งรัฐบาล เพื่อดึงราคายางพาราให้สูงขึ้น ขณะที่ชลประทานเป็นเจ้าแรกเริ่มเคาะระฆัง นำยางพาราไปทำถนนรอบขอบอ่างคลองส่งน้ำ ด้วยงบประมาณกว่า ๓๐๐ ล้านบาท

           ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี กว่า ๒๐ กลุ่ม หารือกดดันให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราไปใช้ในการก่อสร้างถนนตามนโยบายของรัฐบาล โดยทำเป็นหนังสือเรียกร้องผ่านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดให้สั่งไปยังสำนักงานทางหลวงชนบท องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานชลประทาน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ สั่งซื้อยางพาราจากเกษตรกรนำไปทำเป็นถนน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางพาราให้มากขึ้น เพื่อดึงราคาน้ำยางและยางแผ่นดิบในประเทศให้สูงขึ้นตามความต้องการใช้งาน

 

           สำหรับการหารือวันนี้ กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี มีมติกำหนดราคากลางซื้อขายยางพาราแผ่นดิบ ๑๐๐% ไว้ที่กิโลกรัมละ ๖๐ บาท เพื่อใช้เป็นราคากลางให้แก่ผู้รับเหมานำยางพาราไปทำเป็นถนนด้วย

           นายสมาน โตนันท์ ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินฮักลำโดมใหญ่จัด และประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางวันนี้ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านการคมนาคมนำยางพาราที่ซื้อจากการยางแห่งประเทศ ไทย (กยท.) ไปเป็นส่วนผสมทำถนนลาดยางแอสฟัลต์ หรือทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์

           แต่ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ มีเพียงหน่วยงานเดียวที่มีโครงการทำถนนยางพาราแล้วคือ โครงการชลประทานชีล่าง สำนักงานชลประทานจังหวัดอุบล ราชธานี ได้ตั้งงบซื้อยางพาราไปทำถนนรอบขอบอ่างความยาวประมาณ ๙๐ กิโล เมตร ส่วนหน่วยงานหลักทั้งสำนักงานทาง หลวงชนบท องค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังไม่นำไปใช้ จึงหารือทำหนังสือเรียกร้องให้ทั้ง ๒ หน่วยงานนำยางพาราไปทำถนนในปีนี้อย่างน้อยอำเภอละ ๑๐ กิโลเมตร รวมทั้งจังหวัดจะได้ระยะทางกว่า ๒๕๐ กิโลเมตร ซึ่งจะเกิดการใช้ยางพาราในพื้นที่กว่า ๕๐๐ ตัน

           ที่ผ่านมาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี เคยสอบถามไปยังหน่วยงานที่ยังไม่นำยางพาราไปใช้ก่อสร้างถนน ทั้งที่มีราคาถูกกว่ายางแอลฟัลต์หรือยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ได้รับคำตอบ เพราะยังไม่มีการกำหนดราคากลางของราคายางพาราให้ผู้รับเหมาดำเนินการ ในวันนี้ จึงเสนอราคากลางของยางพาราไว้ที่กิโลกรัมละ ๖๐ บาท หากในปีนี้ หน่วยงานรัฐ ยังไม่มีการนำยางพารามาใช้ตามนโยบายรัฐบาล เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี จะออกมากดดันอีกครั้ง

           นายเชิดชัย มาลัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานชีล่าง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ กรมชลประทานจัดสรรงบประมาณมาให้สำนักงานชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี นำยางพารามาใช้ทำถนนลาดยางพารากว่า ๓๓๐ ล้านบาท ในส่วนของโครงการชลประทานชีล่าง ได้เสนอขอทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์รอบขอบอ่างส่งน้ำแทนถนนเดิมที่เป็นถนนลูกรัง เป็นระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร ซึ่งเกิดประโยชน์ทั้งในส่วนชาวสวนยางพาราได้ขายยาง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในเขตชลประทาน จะเส้นทางใช้ขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาดสะดวกสบายขึ้น

           อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกวดราคา เพื่อหาผู้รับเหมามาดำเนินการก่อสร้าง สำหรับในปีงบ ประมาณ ๒๕๖๒ โครงการชลประทานชีล่าง ก็เตรียมเสนอของบมาใช้ก่อสร้างถนนยางพาราซอยซีเมนต์ในส่วนถนนที่เหลือต่อไปอีกด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๖ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


689 1343