28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 26,2018

๒๘ ปี‘มทส.’ผู้นำด้านงานวิจัย ลุยภารกิจสร้างคุณค่าเศรษฐกิจชาติ ปี’๖๒ รพ.ทันสมัยรองรับ ๘๐๐ เตียง

          ๒๘ ปี มทส. สร้างความเป็นเลิศทางการวิจัย เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนในชาติ พัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสังคมเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับ ๑ ของไทย และเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง ย้ำปี ๒๕๖๒ รพ.พร้อมรองรับ ๘๐๐ เตียง

          เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มีการจัดงาน “สานสัมพันธ์ มทส.-สื่อมวลชน ประจำปี ๒๕๖๑” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงต่อสื่อมวลชนในประเด็น “มทส. : มหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในวาระครบรอบ ๒๘ ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ท่ามกลางผู้บริหารและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมจำนวนมาก พร้อมทั้ง จัดแสดงผลงานวิจัยที่สำคัญของมหาวิทยาลัยฯ ให้ชมด้วย

มหา’ลัยด้านวิทย์และเทคโนฯ อันดับหนึ่ง

          รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แถลงทิศทางของมหาวิทยาลัยภายใต้ยุทธศาสตร์ “SUT Re-profile 2020” ว่า มุ่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ในการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นเลิศทางการวิจัย นำผลงานวิจัยมาใช้กับความอยู่ดีกินดีของคนในชาติ สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโน โลยีที่มีผลกระทบต่อสังคมเชิงพาณิชย์ การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมถึงมีระบบธรรมาภิบาลและระบบคุณภาพ ควบคู่กับการมีกลยุทธ์ที่สามารถบริหารเชิงธุรกิจให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นเลิศทางวิชาการและเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง

            “สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากการดำเนินการด้านพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม ด้วยการส่งเสริมการปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม การให้บริการวิชาการ ขยายผลงานวิจัยและสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น สังคม และภาคการผลิต รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ๑๐ อุตสาหกรรม รวมทั้งการประยุกต์ใช้เพื่อร่วมแก้ปัญหาหลักของประเทศ มากกว่าการวิจัยเพื่อองค์ความรู้หรือผลิตเอกสารวิชาการเพียงอย่างเดียว การสร้างความร่วมมือกับภาคการผลิต เพื่อทำวิจัยบนโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมให้ผลตรงกับการเพิ่มรายได้ของประเทศ การปรับแนวทางการทำวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการประเทศ (Country Policy Alignment) มุ่งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง สามารถสร้างรายได้และพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ เน้นการทำวิจัยในลักษณะองค์รวม (Total Solution Approach) หมายความว่าโจทย์จากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม จะต้องได้รับการตอบรับเพื่อแก้ปัญหา โดยมีทีมวิจัยเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ตอบโจทย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ” รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวย้ำ

เน้นงานวิจัยที่ใช้ได้จริง

          ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก มทส. สู่สังคมในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ งานวิจัยเพื่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ “Smart Mattress” ชุดเซนเซอร์วัดแรงกดและความชื้นบนที่นอน ป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง “SuraSole” แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า,  เครื่องหว่านข้าวโดยอัตโนมัติโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ, เครื่องผสมสูตรปุ๋ยสั่งตัดอัตโนมัติ สำหรับเกษตรกรยุค ๔.๐, เรือเก็บขยะอัตโนมัติ, แผ่นพื้นอัจฉริยะผลิตพลังงานสีเขียวสำหรับประชาคมยุคดิจิทัล แนวทางของพลังงานทางเลือกในอนาคต รวมถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบริหารภูมิปัญญาชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าให้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติของชุมชนไท-ยวน และบริหารจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีสืบเนื่องยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี

อุทยานวิทย์’อีสานตอนล่าง

          ทั้งนี้ มทส. กำลังจะเป็นที่ตั้งของ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ SUT Science City” ซึ่งเป็นแห่งที่ ๔ ในระดับภูมิภาคของประเทศ ให้เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ฐานทรัพยากรของอีสานตอนล่าง ส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วและผู้ประกอบการใหม่ หรือ New StartUp ด้วยการใช้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มทส. มี Biorefinergy โรงงานต้นแบบการจัดการขยะชุมชนและของเสียอันตรายแบบครบวงจร โรงงานต้นแบบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลแบบครบวงจร มี Creative Economy รวมถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็น Northeastern Food Innopolis หรือ เมืองนวัตกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากฟาร์มมหาวิทยาลัย มีโรงงานต้นแบบเกษตรแปรรูปและอาหารสำหรับ SME แบบครบวงจร มีศูนย์วิจัยมันสำปะหลัง โรงงานต้นแบบสำหรับอุตสาห กรรมพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนบริการห้องปฏิบัติการทดสอบโดยศูนย์เครื่องมือวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี

ถ่ายทอด “ศาสตร์พระราชา”

          อธิการบดี มทส. กล่าวอีกว่า “ในต้นปี ๒๕๖๒ มทส.จะมีจัตุรัสวิทยาศาสตร์ หรือScience Square ณ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร จากความร่วมมือระหว่าง มทส. กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งใหม่ สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในจังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ “Project C วิทย์สร้างคน คนสร้างชาติ และสำคัญที่สุด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชวินิจฉัยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีดูแลรับผิดชอบศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. คลองไผ่ และศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดแนวทางตามพระราชดำริ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ด้านบทบาทการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รองรับผู้ป่วยในได้ ๘๐๐ เตียง ในกลางปี ๒๕๖๒ ซึ่งช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัดนครราช สีมา และใกล้เคียง”

“นักเทคโนโลยี” หรือ “นวัตกร”

          “สำหรับการปรับการเรียนการสอนเป็น E-Learning และ Active Learning สร้างหลักสูตร “สหศาสตร์” ที่มีความหลากหลายของศาสตร์หลายศาสตร์รวมกัน พัฒนาด้านสหกิจศึกษาสู่สหกิจศึกษาประกอบการ (Enterprise Coop) เพื่อสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตที่จบการศึกษาให้มีทักษะของศตวรรษที่ ๒๑ มีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุผล รวมถึงมีคุณลักษณะเป็น “นักเทคโนโลยี” หรือเป็น “นวัตกร” และเป็น “Entrepreneur” มากกว่าเป็นผู้จบการศึกษาและได้รับปริญญาบัตรเท่านั้น” อธิการบดี มทส. กล่าว

          “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครบ ๒๘ ปี แห่งการสถาปนา ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวไปสู่ความเป็นมาตรฐานสากล ตามทิศทางการบริหาร “ความท้าทาย” บนแนวคิด “SUT Re-profile 2020” มีจุดมุ่งหมายสู่ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (SUT as a Social Enterprise) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศ ที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง” อธิการบดี มทส. กล่าวในท้ายสุด

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


700 1356