28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 03,2018

หวั่นอาชีพเกษตรสูญพันธุ์ เร่งปั้น‘ยุวเกษตรกร’ รร.เพียงหลวงอุบล’ชนะเลิศ

             ผลักดัน “กลุ่มยุวเกษตรกร” เน้นเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เผยช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวันยั่งยืน สานฝันครัวไทยสู่ครัวโลก ทึ่งพลังเกษตรกรจิ๋ว รร.เพียงหลวง จ.อุบลฯ ชนะเลิศ

             นายวิบูลย์ ไชยวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ ๗ จังหวัดนครราชสีมา (สสข.๗) รับผิดชอบพื้นที่ ๘ จังหวัดอีสานตอนล่าง เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยประชากรร้อยละ ๓๕ ประกอบอาชีพเกษตร กรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีการอพยพแรงงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและด้านบริการมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการเกษตรประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน กลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันเยาวชนในภาคเกษตรกรรม ที่เคยเป็นแรงงานสำคัญในครอบครัวได้หันไปสู่อาชีพอื่น วัตถุนิยมได้เข้ามามีบทบาททำให้ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป บิดามารดาไม่สนับสนุนให้บุตรหลานประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้สืบทอดอาชีพการเกษตรลดลง 

             “ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงได้ดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการส่งเสริมการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชน จัดตั้งเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพการเกษตร ทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง (Learning by doing) ให้ยุวเกษตรกรมีความสามารถและมีความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตร รวมทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ”

             นายวิบูลย์ ไชยวรรณ กล่าวว่า “สสข.๗ นครราชสีมาจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกร และที่ปรึกษาเกษตรกรระดับเขตขึ้น เพื่อทำให้สมาชิกยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกรประจำกลุ่มที่ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ และมีผลงานดีเด่นได้รับการถ่ายทอดความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ และฝึกให้สมาชิกรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ รักความสามัคคีและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกให้ยุวเกษตรกรเกิดความรัก และภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพและเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความคิดการทำงาน ภาวะผู้นำของยุวเกษตรกรเพื่อพัฒนาให้เป็นมืออาชีพ สำหรับกิจกรรมในงานชุมนุมยุวเกษตรกรฯ ประกอบด้วย กิจกรรมการเลือกตั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับเขต กิจกรรมการแข่งขัน ได้แก่ การแข่งขันการพูดในที่ชุมนุม, การแข่งขันแยกเมล็ดพันธุ์, การประกวดโครงงานและฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตร, การแสดงรอบกองไฟ และพิธีเทียน”

             “ในปี ๒๕๖๑ โรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาวัฒนาพรรณวดี อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในโรงเรียนเป้าหมายที่ สสข.๗ นครราชสีมา เข้าไปส่งเสริมจนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาวัฒนาพรรณวดี ได้รับรางวัล สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี ๒๕๖๑ ซึ่งเข้ารับรางวัลไปเมื่อวันพืชมงคลที่ผ่านมา และปี ๒๕๖๐ นายเสมอ หาวิวร ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี ๒๕๖๐ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการกลุ่มยุวเกษตรกร ของ สสข.๒ นคร ราชสีมา อย่างเป็นรูปธรรมแห่งชาติ” นายวิบูลย์ กล่าว

             เด็กหญิงกมลชนก มิ่งมูล อายุ ๑๒ ปี ตัวแทนเกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาวัฒนาพรรณวดี อ.โขงเจียม จ.อุบล ราชธานี กล่าวว่า “โรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ มีครูและนักเรียนรวมกันทั้งหมด ๓๘คน ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประสบปัญหาด้านการเกษตร และที่ตั้งของโรงเรียนเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาส่วนใหญ่เป็นหิน ที่ดินทำกินมีจำกัด และชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทางโรงเรียนจึงเริ่มดำเนินโครงการยุวไทบรู พัฒนาอาชีพ เกษตรพอเพียง ภายใต้กลุ่มยุวเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก พัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอสำหรับการเกษตร พัฒนาความรู้วิธีการใหม่ๆ ที่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่จำกัดให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยไม่ใช้สารเคมี”

             “ขณะนี้กลุ่มยุวเกษตรกรสามารถทำดินปลูกเองได้ เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ทำปุ๋ยอินทรีย์เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งไก่ไข่ เป็ด และหมู ซึ่งผลผลิตที่ได้จะนำกลับมาเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียน และหากเหลือจะนำไปแปรรูปเพื่อส่งขายออกสู่ตลาดภายนอกในรูปแบบของสหกรณ์ มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ ขณะนี้มีเงินหมุนเวียนอยู่กว่า ๖๐,๐๐๐ บาท  และยังนำเอาผลผลิตของชาวบ้านประเภทเครื่องจักรสาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาจำหน่ายในสหกรณ์ด้วย” เด็กหญิงกมลชนก กล่าว

 

 

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๘ วันพุธที่ ๑ - วันอาทิตย์ที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

705 1358