29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 10,2018

เผยชื่อ‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ ทำหน้าที่แทน‘กกต.จว’ ลุ้นจับฉลากทำงานนอกพท.

             คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผย ๘ ว่าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งโคราช ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ รอลุ้นผล ๑๕ วัน ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ก่อนจะขึ้นทะเบียน ๕ ปี แต่ไม่แน่ได้ทำงานที่ไหนรอลุ้นผลจับฉลาก ค่าตอบแทนครึ่งแสนต่อเดือน หวั่นใจได้ทำงานจังหวัดอื่น คาดเลือกตั้งปีหน้าโคราชใช้งบพันล้านบาท 

             ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการรับสมัครบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยเปิดรับสมัครพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๓-๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดรับสมัครบุคคลผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นเวลา ๑๐ วัน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีผู้สนใจเข้าสมัครรวมทั้งสิ้น ๗๓ ราย และคณะกรรมการคัดเลือกในระดับจังหวัดคัดเลือก ๑๖ คน ก่อนส่งชื่อไปที่ กกต.ส่วนกลาง

             โดยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ หลังการประชุมคณะกรรมการเลือกตั้งมีการพิจารณาเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง ๗๗ จังหวัด จากบัญชีรายชื่อที่แต่ละจังหวัดคัดเลือกส่งมาจังหวัดละ ๑๖ คน เพื่อให้ กกต.พิจารณาเลือกให้เหลือจังหวัดละ ๘ คน รวมทั้งหมดมี ๖๑๖ คน โดย กกต.มีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครตรวจการเลือกตั้งและจัดส่งบัญชีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อส่งไปยังสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั้ง ๗๗ แห่ง เพื่อประกาศเป็นเวลา ๑๕ วัน ให้ประชาชนได้รับทราบ และสามารถให้ข้อมูลเพิ่ม หากพบว่าผู้ที่รับการคัดเลือกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งหากมีการคัดค้าน กกต. จะดำเนินการคัดเลือกใหม่ แต่หากไม่มีการคัดค้าน กกต. จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นเวลา ๕ ปี ให้บุคคลทั้งหมดเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง

เปิดชื่อ ๘ คนของโคราช

             สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง ๘ คน ดังนี้ นายกมล คงสัตย์ อดีตพัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ, พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสุรินทร์, นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, ว่าที่ร้อยตรี ทวี ชุนเกาะ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดนครราชสีมา, นายปราโมทย์ ลำดับวงศ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พ.ต.อ.พรเทพ เพชรคง อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ, นายวิวัฒน์ชัย เศรษฐชัย อดีตป้องกันคณะกรรมการและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดนครราชสีมา และนายสมพงษ์ วิริยะจารุ อดีตวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา

             นายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนัก งานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.จ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า รายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง ๘ คน ที่ทาง กกต.ประกาศรายชื่อออกมายังไม่ถือว่าเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะต้องรอการประกาศจากสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ซึ่งจะแจ้งให้ประชาชนภายในจังหวัดได้รับทราบเป็นเวลา ๑๕ วัน และถ้าไม่มีการคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมของผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง ๘ คน ก็จะมีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการจาก กกต.ก่อนวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ 

             “ผู้ตรวจการเลือกตั้งทุกคนจากทั่วประเทศทั้ง ๖๑๖ คน จะต้องเข้าอบรมเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงกฎหมายการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะบางคนยังไม่มีประสบ การณ์ทางด้านการตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งทุกคนจะถูกขึ้นทะเบียนไว้เป็นเวลา ๕ ปี จะเริ่มทำงานปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อมีการประกาศวันเลือกตั้งจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง และจะหมดหน้าที่ก็ต้องเมื่อมีการประการผลการเลือกตั้ง” นายศิริชัย กล่าวและว่า

ต้องจับฉลากก่อน

             ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องมาจากการจับฉลากว่าใครจะได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดใด เพราะ ๘ คน ที่คัดเลือกมาใช่ว่าจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งทุกคน โดยจังหวัดนครราชสีมาจัดอยู่เขตเลือกตั้งที่ ๗ ซึ่งประกอบด้วย ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา มีเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ๑๔ เขต จึงมีผู้ตรวจการเลือกตั้งมากสุดที่ ๘ คน ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่าง ชัยภูมิ, ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ๘ คน แต่ทำหน้าที่ ๖ คน, ส่วน มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ทำหน้าที่ ๕ คน เมื่อถึงช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง กกต.จะแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วยการจับฉลาก โดยแบ่งเป็น ๑.ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด (คนในพื้นที่) จำนวน ๒ คน และ ๒.ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัด หรือ “คนนอกพื้นที่” เข้ามาทำหน้าที่ ส่วนที่เหลือของแต่ละจังหวัด ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่ดวงด้วยว่าใครจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ต้องมีคนว่างงานแน่นอน เป็นเพียงขึ้นบัญชีรายชื่อไว้ และจะไม่มีค่าตอบแทนให้ ส่วนผู้ที่ได้รับการจับฉลากและปฏิบัติหน้าที่จะมีค่าตอบแทนอยู่ที่ ๕ หมื่นบาทต่อเดือน เบี้ยเลี้ยงวันละ ๔๐๐ บาท ค่าที่พัก ๑,๕๐๐ บาท และค่าพาหนะ ๑,๐๐๐ บาทต่อวัน เริ่มจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง โดยจะมีระยะเวลาทำงานประมาณ ๖๐ วัน 

ทำหน้าที่แทนกกต.จังหวัด

             นายศิริชัย กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งนี้จะทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัดที่ยกเลิกไป จากการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างกกต.จังหวัดกับนักการเมืองท้องถิ่น บนฐานคิดที่ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่จะช่วยปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง และทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรรม ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม รวมถึงชี้ช่องเบาะแส ตรวจสอบพฤติกรรมนักการเมือง พรรคการเมืองที่กระทำการมิชอบผิดต่อกฎหมายการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่ได้ทำงานเหมือน กกต.จังหวัดในสมัยก่อน เพราะผู้ตรวจการฯ จะลงพื้นที่พบปะประชาชนหาเบาะแสในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

             “สำหรับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมดจะต้องทำเรื่องเสนอขอไปยังรัฐบาล ถ้าจากการประเมินแล้วโคราชน่าจะใช้งบประมาณในการเลือกตั้งมากกว่าทุกครั้ง น่าจะอยู่ที่หลักพันล้านขึ้น ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งจะดำเนินการด้านการข่าว และสอบสวนเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม มีเรื่องรางวัลนำจับสำหรับใครที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดการเลือกตั้ง การคุ้มครองพยานในการให้เบาะแสต่างๆ รวมถึงค่าดำเนินการอื่นๆ จึงทำให้ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง” 

วอนประชาชนให้ความสนใจ

             นายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการ กกต.จว.นครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย จึงอยากให้ทุกคนสนใจและร่วมกันปฏิรูปการเลือกตั้งกันใหม่ อย่าให้กลับไปเป็นระบบเดิม จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบ “รายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ซึ่งหากมีข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ได้รับคัดเลือกดังกล่าว สามารถจัดส่งข้อมูลมาที่ สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เลขที่ ๕๕๕ หมู่ที่ ๑๕ บ้านหนองกระดังงา ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๓๑๐ โทรศัพท์ ๐๔๔-๗๕๖๗๓๐-๓ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

             ส่วนการเตรียมกำหนดวันเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้เบื้องต้นคือ เลือกตั้งเร็วสุดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถัดมาก็วันที่ ๓๑ มีนาคม, ๒๘ เมษายน หรือช้าสุดคือวันที่ ๕ พฤษภาคม โดยกกต.ยึดเอาวันอาทิตย์สิ้นเดือนเป็นเกณฑ์

เปิดใจ (ว่าที่) ผู้ตรวจการเลือกตั้ง

             ‘โคราชคนอีสาน’ สัมภาษณ์ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ถึงแม้ตัวเองจะมาจากภาคเอกชนคนเดียวจากทั้งหมด ๘ ท่าน แต่มั่นใจว่าจะทำหน้าที่อย่างสุจริตและเที่ยงตรง แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและผู้ตรวจการเลือกตั้งท่านอื่นว่าจะใช้สิทธิ์ในทางที่ชอบหรือไม่ ตรงนี้ตนอาสาเข้ามาทำงานและจะทำให้สุดความสามารถ เรื่องของผลตอบแทนถือว่าไม่ได้มากเกินไป และจะได้ค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว ส่วนเรื่องการจับฉลากและต้องไปทำงานนอกพื้นที่ หรือว่าต้องมีคนจากนอกพื้นที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเรา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้การทำงานโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และจะได้ไม่มีพวกเขาพวกเราระหว่างการทำงาน

ไม่รับเด็กฝาก-แป๊ะเจี๊ยะ

             นายวิวัฒน์ชัย เศรษฐชัย อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ผมอาสาเข้ามาทำงานตรงนี้ เพื่อต้องการความโปร่งใสและปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการเมือง และหวังว่าครั้งนี้จะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไป หลังจากเราผ่านมาหลากหลายรูปแบบ สมัยผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสุรนารีจะไม่รับเด็กฝาก ไม่รับแป๊ะเจี๊ยะ เพราะผมยืนหยัดในความถูกต้องมาตลอด ส่วนที่ว่าอาจได้ไปทำงานนอกพื้นที่ ตรงนี้ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะการทำงานในพื้นที่เราจะรู้จักคน รู้จักพื้นที่ รู้จักเครือข่าย การทำงานก็จะง่ายขึ้น แต่เมื่อไปทำต่างที่เราก็ยอมรับได้ แต่อาจจะต้องเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม หาทีมงานเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าได้ทำงานก็เต็มที่แน่นอน ถึงอย่างไรก็ฝากพี่น้องประชาชนด้วยว่า ให้ลืมการเมืองแบบเก่าที่ว่า เงินไม่มา กาไม่เป็น และหวังว่าการเมืองในอดีตน่าจะเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงการเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่

             ด้านว่าที่ร้อยตรีทวี ชุนเกาะ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ตนอาสาเข้ามาทำงานต้องการหาความสุจริตและเที่ยงธรรมให้กับการเมืองไทย เพราะตำแหน่งนี้ก็เหมือนเป็นการคัดกรองคนด้วย ถ้าได้คนดีเข้าไปทำหน้าที่ก็จะทำให้บ้านเมืองเราเดินหน้าอย่างถูกต้อง ที่สำคัญผมมีประสบการณ์ด้านการเลือกตั้งมาพอสมควร ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็น ผอ.กกต.จังหวัดมาหลายที่ ก็จะนำประสบการณ์ตรงนี้มาใช้ในการทำงาน ส่วนเรื่องการนำคนนอกเข้ามาทำงานในพื้นที่ตรงนี้ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยแต่แรกแล้ว แต่กกต.เป็นผู้ออกกฎนี้มา คงมองว่า การทำงานของผู้ตรวจการกับนักการเมืองน่าจะไม่รู้จักสนิทสนมกัน การทำงานน่าจะเป็นกลางมากขึ้น แต่ส่วนเสียก็คือการไม่รู้จักพื้นที่ ไม่มีเครือข่ายในการให้ข้อมูลข่าวสาร แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่จะมีข้อมูล เครือข่ายมากกว่า แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดมากเรื่องนี้ เพราะเคยทำงานมาครบทุกจังหวัดในกลุ่มนี้แล้ว แต่เอาจริงไม่ว่าจะคนนอกหรือคนในก็มีสิทธิ์ถูกซื้อตัวได้เหมือนกันขึ้นอยู่ที่ตัวผู้ตรวจการเลือกตั้งมากกว่า จึงขอฝากประชาชนร่วมตรวจสอบหาคนดีที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อที่การเมืองจะได้มีความสุจริต เที่ยงตรง และยุติธรรม 

 

 

 

นายราชวัติ ราชรักษา /ข่าว/ภาพ

  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๙ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

709 1365