29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 10,2018

‘สยามเจมส์’ดันเครื่องเงินสุรินทร์ ลงพื้นที่คัดผลิตภัณฑ์ป้อนตลาดโลก

            “สยามเจมส์ กรุ๊ป” เดินหน้าสืบสานงานเครื่องฝีมือชาวบ้าน ลงพื้นที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องเงินที่ดีที่สุด สู่ตลาดการค้าและท่องเที่ยวสากลทั่วโลก หวังขยายโอกาสและยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องเงินเมืองสุรินทร์ สู่สายตาชาวโลก และสร้างรายได้ให้ชุมชน

            เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่โรงแรมโซริน บูทีค อำเภอเมืองสุรินทร์ นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป พร้อมคณะกรรมการ ลงพื้นที่จัดกิจกรรม Mini Matching ตามโครงการสืบสานงานเครื่องเงิน เพื่อพัฒนาฝีมือและขยายโอกาสผลิตภัณฑ์เครื่องเงินสู่สายตาชาวโลก ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและช่างฝีมือ ได้นำเสนอผลงานให้กับคณะกรรมการ และได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมุ่งยกระดับสินค้าไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับที่จังหวัดสุรินทร์มีการทำหัตถ กรรมเครื่องเงินแบบโบราณ ที่อำเภอเขวาสิ นรินทร์ โดยผลิตลูกประคำเงิน หรือคนพื้นเมืองจะเรียกว่า “ลูกประเกือมเงิน” และ “ตะเกาเงิน” ที่ทำเป็นรูปดอกไม้ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดสุรินทร์ และยังเป็นศิลปหัตถกรรมโบราณที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน นับวันจะหาคนทำได้ยาก จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไป โดยมีผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินของจังหวัดสุรินทร์ นำผลงานที่เกิดจากการรังสรรค์ผลงานที่ประณีตและสวยงามจากช่างฝีมือด้านเครื่องเงินโบราณมานำเสนอ เพื่อเข้าร่วมคัดเลือกจำนวน ๘ ราย ก่อนที่คณะกรรมการจะคัดให้เหลือเพียง ๔ ราย ที่จะได้เข้าไปร่วมคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป

            ทั้งนี้ โครงการ “สืบสานงานเงิน” มีผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทยสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า ๓๐ รายจากทั่วประเทศ และคัดเลือกเหลือเพียง ๑๐ ราย จะได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบสินค้าที่สอดรับกับความชื่นชอบ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว กับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณในการพัฒนาสินค้า ๕๐,๐๐๐ บาทต่อรายตลอดโครงการ พร้อมรับสิทธิ์เซ็นสัญญาจำหน่ายสินค้ากับทางสยามเจมส์ กรุ๊ปต่อไป สำหรับผลงานที่ผ่านการพัฒนาทั้งหมดจะได้รับการจัดแสดงสู่สาธารณชน ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน อีกด้วย

            นายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า โครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพราะว่า สยามเจมส์ กรุ๊ป  ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้านักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจิวเวอรี่ เครื่องประดับต่างๆ มา ๕๐ กว่าปีแล้ว และมองเห็นช่องทางว่า ตลาดเครื่องเงินเป็นตลาดที่แข็งแกร่งของไทย ในแง่ของการส่งออก ปัจจุบันตลาดเครื่องเงินโตเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ ด้วยทักษะที่เรามี และช่องทางการจำหน่ายของสินค้าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์เครื่องประดับให้กับต่างชาติ เรามองว่า สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับเครื่องเงินไทยได้ จึงลงพื้นที่สำรวจ และมองว่า การให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่า ตลาดต่างชาติมองสินค้าเครื่องเงินเป็นอย่างไรและเขาต้องการอะไร แล้วเราก็นำสิ่งนี้ไปประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ คือดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นมารวมกับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะสามารถต่อยอดและช่วยเหลืออุตสาหกรรมเครื่องเงินไทยให้เติบโตในวงการอุตสาหกรรมโลกได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยอย่างยั่งยืน โดยการมาเที่ยวเมืองไทยแล้วยังมีสินค้าจากช่างฝีมือไทยกลับไปด้วย 

            “เหตุที่เลือกมาจังหวัดสุรินทร์ เพราะว่า สุรินทร์เป็นศูนย์กลางเครื่องเงินของอีสาน มีจุดเด่นในเรื่องของประเกือม หรือประคำ ที่เป็นเครื่องเงิน มีช่างฝีมือที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เรามองสุรินทร์เป็นเซ็นเตอร์ของอีสานในการรวบรวมผู้ประกอบการอื่นๆ มาสมทบ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาร่วมในวันนี้ ต้องเป็นคนที่มีทักษะฝีมือในเรื่องของการทำเครื่องเงินอยู่แล้ว แต่ขาดทักษะในเรื่องของการออกแบบที่เข้าใจตลาดระดับสากล หรือขาดช่องทางในการจำหน่าย เพราะฉะนั้นการที่เข้ามาร่วมโครงการสืบสานงานเงินของเรา สิ่งหนึ่งคือจะได้ช่องทางการจำหน่าย และมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบ เขาจะได้รับความรู้ในเรื่องการออกแบบ ศิลปะสมัยใหม่ เพื่อประยุกต์กับฝีมือดั้งเดิมของเขา และเราก็สนับสนุนทุนในการเริ่มต้นในการออกแบบด้วย ได้รับทุนในการออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับเรา ก็ได้รับครบวงจร ในเรื่องของทักษะฝีมือและเรื่องของการจำหน่าย ส่วนลวดลายดั้งเดิมที่ผู้ประกอบการออกแบบมาอยู่แล้ว เราก็ยกให้เป็นของผู้ประกอบการเอง ส่วนลวดลายใหม่ที่มาพัฒนาออกแบบร่วมกับเราในโครงการนี้ เราก็จะขอให้เป็นของเรา เพื่อที่เราจะได้ไปจำหน่ายต่อไป ส่วนลายอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว เราไม่ได้เข้าไปแตะต้อง คือเขาสามารถขายที่ไหนก็ได้ ส่วนสินค้าต้องออกแบบและผลิตที่ชุมชน เพราะเป็นเรื่องราวที่นำไปเสนอขายให้กับชาวต่างชาติ เพราะชาวต่างชาติต้องการสินค้าที่เป็นแฮนด์เมคจากชุมชนนั้นๆ และมีเรื่องราว มีดีเอ็นเอของท้องถิ่นนั้น” นายณัฐพล กล่าว

 

 

 

  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๙ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

710 1364