25thApril

25thApril

25thApril

 

August 16,2018

อุดรฯชูไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแปลงใหญ่

         เกษตรจังหวัดอุดรธานี นำสื่อมวลชนสัญจรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ  และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดอุดรธานี

         เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ศูนย์เรียนรู้การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ บ้านห้วยสำราญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จ.อุดรธานี นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ เกษตรจังหวัดอุดรธานี นำสื่อมวลชนจังหวัดอุดรธานีเข้าชมการดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ กิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ ๑” เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานและสื่อมวลชน รวมถึงการเผยแพร่กิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมู่บ้านมากกว่า ๖๔๕ ไร่ โดยจะตัดดอกส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ ๓๕๐ ตันต่อปี ปัจจุบันจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และจัดตั้งกองทุนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ

         นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม บริหารจัดการร่วมกัน ร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน และให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาแล้ว เป็นปีที่ ๒ มีการพัฒนาเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร มีการถ่ายทอดความรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรม การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกลและแหล่งน้ำ การยกระดับมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าสินค้า การเชื่อมโยงการตลาด และจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดอุดรธานี.ในโอกาสต่อไป

         นายหวังชัย แก้วบับภา ที่ปรึกษากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ กล่าวว่า พื้นที่ตำบลหนองไฮ มีความเหมาะสมในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เริ่มปลูกเมื่อปี ๒๕๒๓ โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกมันสำปะหลัง มาปลูกไม้ดอก แบบต่างคนต่างปลูก ผลผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี จึงได้เข้ามารวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำพันธุ์เบญจมาศมาจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูก และมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มีการทัศนศึกษาดูงานการปลูกไม้ดอกที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย เกษตรกรจึงได้นำความรู้ที่ได้รับมาทำการปรับใช้และปรับปรุงคุณภาพผลผลิตออกมาให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้เกิดเป็นรายได้หลักของหมู่บ้าน  มีรายได้ดีกว่าการทำการเกษตรอย่างอื่น กระทั่งเกิดมีการอพยพแรงงานคืนถิ่นมาถึงปัจจุบัน

         ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกไม้ดอก จำนวน ๑๐๔ ราย เป็น Smart Farmer ๒๐ ราย ผลผลิตไม้ดอกเกษตรกรผลิตได้ ๓๕๐ ตันต่อปี ชนิดดอกไม้ที่ปลูกประกอบด้วย มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุดคัตเตอร์ กุหลาบร้อยมาลัย และไม้ตัดใบ จำหน่ายภายในตลาดในตัวเมืองอุดรธานีและต่างจังหวัดก็มารับซื้อ เช่น จังหวัดเลย หนองคาย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และพ่อค้าจากปากคลองตลาด รวมถึงจำหน่ายให้กับสปป.ลาว อีกประมาณ ๒๐ ตันต่อปีอีกด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๑ วันพฤหัสบดีที่  ๑๖ - วันจันทร์ที่  ๒๐  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

 


696 1344