18thApril

18thApril

18thApril

 

September 19,2018

แนะ‘อีสาน’ลงทุนเมียนมา ชี้ศักยภาพเศรษฐกิจสูง หวังดันไทยเติบโตสู่อาเซียน

         

          สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เยือนโคราช จัดประชุมสัญจรภาคอีสาน จุดประกาย SME  ไทย สร้างโอกาสในการค้าการลงทุนในเมียนมา พร้อมพาผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ จัดหาพันธมิตร ชี้เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง อยู่ใจกลางเอเชีย มีประชากรกว่า ๒,๖๐๐ ล้านคนล้อมรอบ เชื่อระยะยาวเติบโตขึ้นอีกแน่นอน 

          เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา จัดประชุมสัญจรเพื่อเปิดสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนที่ ๑ (นครราชสีมา, ขอนแก่น และสกลนคร) โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย พลเอกวิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา นายณัฐวิณ พงษ์เภตรารัตน์ รองนายกสมาคมฯ นายวรมินทร์ ถาวราภา กรรมการสมาคมฯ นางสาวยุวดี แท่นทอง เลขาธิการสมาคม และนายวุฒิชัย เสริมส่งสกุลชัย เหรัญญิกสมาคมฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมประชุมกว่า ๓๐๐ คน

ข้อมูลพื้นฐาน ‘โคราช’

          นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสาน มีพื้นที่ ๑๒.๘ ล้านไร่ ประชากร ๒.๖๓ ล้านคน มากเป็นอันดับ ๒ รองจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ๓๒ อำเภอ ๒๘๙ ตำบล ๓,๗๕๓ หมู่บ้าน เศรษฐกิจของจังหวัดขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ๒๖๔,๙๖๔ ล้านบาท อยู่ในลำดับที่ ๑ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำดับที่ ๑๑ ของประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี อยู่ที่ ๑๐,๖๐๐ บาท อยู่ในลำดับที่ ๑ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลำดับที่ ๓๓ ของประเทศ ประชากรร้อยละ ๗๐ ประกอบอาชีพเกษตรกร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมายังตั้งอยู่ในพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอินโดจีน จึงมีศักยภาพการพัฒนาในหลายด้าน เช่น ๑.ด้านอุตสาหกรรม มีมูลค่า ๗๒,๓๖๘ ล้านบาท ร้อยละ ๒๙.๕๑ ๒.ด้านการเกษตรมีมูลค่า ๔๑,๗๑๒ ล้านบาท ร้อยละ ๑๗.๐๑ และ ๓.ด้านการขายส่ง/ขายปลีก มีมูลค่า ๓๐,๐๑๑ ล้านบาท ร้อยละ ๑๒.๒๔ 

          ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ๙,๓๙๘,๖๓๓ คน รายได้ท่องเที่ยว ๒๐,๑๓๓ ล้านบาทต่อปี (ข้อมูลปี ๒๕๖๐) จากการมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน แหล่งท่องเที่ยวใน อ.วังน้ำเขียว ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นอันดับ ๗ ของโลก รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีและประวัติ ศาสตร์ที่สำคัญ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปราสาทหินพนมวัน ดังนั้น จากศักยภาพการพัฒนาดังกล่าว จังหวัดจึงได้กำหนดเป้าหมายระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) และวิสัยทัศน์การพัฒนาของจังหวัดไว้ว่า “โคราชเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีความสุข มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ขยายผลไปสู่ประชาคมอาเซียน

          พลเอกวิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า “การประชุมสัญจร ณ จังหวัดนครราช สีมา  ประตูสู่ภาคอีสานวันนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑.เพื่อรับทราบสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครองในจังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น และสกลนคร ๒.เป็นการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักสาขาสมาคมฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ๓.เพื่อทราบปัญหาและมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิสัยทัศน์จากผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งวาระพิเศษที่สมาคมฯ จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์และกลยุทธ์ เพื่อสร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนในประเทศเมียนมา สำหรับนักธุรกิจไทย” โดยมีวิทยากรที่มีทักษะและประสบการณ์จากสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา ซึ่งจะถ่ายทอดสาระสำคัญขององค์ความรู้ และขยายภาพในบริบททุกมิติของความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ในอันที่จะก่อให้เกิดความมั่นคง ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนไปด้วยกันทุกสถานภาพ เป็นการเตรียมความพร้อมในการนำกิจกรรมขยายผลไปสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ การส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาตามแนวชายแดน เป็นการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ การค้า การลงทุน ความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความร่วมมือทางวัฒนธรรม และการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยกุศโลบายที่ไทยมีเทคโนโลยีและทุน   บูรณาการกับเมียนมา ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน 

          ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมีศูนย์รวมแห่งจิตใจในการมีความศรัทธานับถือศาสนาพุทธ เป็นแรงขับเคลื่อนให้บรรลุซึ่งผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน โดยทางสมาคมฯ ตระหนักดีว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่มีความสำคัญ คือมีทรัพยากร ธรรมชาติ มีกำลังการผลิตสินค้า ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพพร้อมในการส่งออก รวมทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการทุกสาขาอาชีพ ผนวกกับการผนึกพลังร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวที่มีความมั่นคง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้เชิญบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มาร่วมประชุม เพื่อการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนทัศนคติและวิสัยทัศน์ เป็นการสร้างแนวคิดและข้อมูลใหม่ ที่จะเป็นแนวทางให้กับสมาคมฯ นำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง” 

พาลงทุนในพื้นที่

          “บทบาทหลักของสมาคมฯ เน้นส่งเสริมการค้าขาย การค้าการลงทุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ต้องการไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยสมาคมจะเป็นตัวกลาง พากลุ่มนักลงทุนดังกล่าวไปลงทุนในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดหาพันธมิตรจากสมาคมฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา หรือหากนักลงทุนไทยต้องการแรงงานก็สามารถประสานได้ ขณะเดียวกันสมาคมยังเชื่อมสัมพันธ์รอบด้าน ไม่ว่าการทหาร การเมือง ความล่าช้าขั้นตอนกฎระเบียบ แม้แต่สงครามที่ปกติมักมองไม่เห็นปัญหา แต่สมาคมฯ สามารถช่วยได้ด้วยการเจรจา โดยอาศัยสัมพันธ์ที่มีมากกว่า ๑๕ ปีช่วยรัฐและเอกชนได้ ซึ่งขณะนี้รัฐเองอย่างกระทรวงการคลัง ได้ดึงนักลงทุนเมียนมาเข้ามาลงทุนในตลาดทุนบ้านเรา” พลเอกวิชิต กล่าว

          นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา กล่าวอีกว่า “ในปัจจุบัน สมาคมฯ ได้ขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศถึง ๒๑ สาขา ซึ่งเกิดจากการระดมมันสมองจากคณะทำงานของสมาคมฯ ที่ตระหนักดีว่าเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญ คือมีทรัพยากรธรรมชาติ มีกำลังการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพพร้อมในการส่งออก จึงได้เปิดสาขานครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร และอุบลราชธานี เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงกิจกรรมในพันธกิจของสมาคมฯ เข้าสู่กรอบประชาคมอาเซียน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจมุกดาหาร เพราะเห็นว่ามุกดาหารตั้งอยู่บนกึ่งกลางตามแนวเส้นทางเชื่อมโยง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก (EEC) โดยมีสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ทำให้มุกดาหารเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีของเมียนมา, เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก, เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนลาว, เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ของเวียดนาม และออกไปสู่ท่าเรือดานัง และยังขึ้นไปยังเวียดนามตอนเหนือเข้าสู่ตอนใต้ของจีน เชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษจงฉั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกวางสี ที่มีนครหนานหนิงเป็นเมืองหลวง มีประชากรมากกว่า ๑๐๐ ล้านคน”

เมียนมาอยู่ใจกลางทวีปเอเชีย

          นายณัฐวิณ พงษ์เภตรารัตน์ รองนายกสมาคมฯ วิทยากรในการประชุมให้คำแนะนำการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ตลาดเมียนมาว่า “ย่างกุ้งเป็นเมืองเศรษฐกิจและเป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดของเมียนมา สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนที่เมียนมาควรศึกษาตลาดก่อน ปัจจุบันเที่ยวบินจากดอนเมืองไปย่างกุ้งมี ๘ สายการบิน ๒๐ เที่ยวบินต่อวัน ใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมง ไปกลับไม่ถึง ๓,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ค่าโรงแรมถูกมากไม่ต่างกับไทย อยากให้คิดว่าย่างกุ้งเป็นเหมือนจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่เราอยากจะลองไปเปิดตลาด เพียงพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ที่นั่นจะมีสมาคมนักธุรกิจไทย สำนักงานพาณิชย์ และสถานทูตไทย หากท่านที่ยังไม่คุ้นเคยสามารถติดต่อสถานที่เหล่านี้ได้ หรือประสานงานกับทางธนาคารสาขาของท่านไว้ก่อน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่าย นอกจากนี้ เราจะพบว่ามีสินค้าไทยวางจำหน่ายอยู่ที่ย่างกุ้งจำนวนมาก เช่น ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีสินค้าไทยอยู่ไม่น้อยกว่า ๕๐-๖๐% เนื่องจากไทยขายสินค้าผ่านชายแดนจำนวนมาก วันนี้โลกไม่มีพรมแดน การเดินทางสะดวกขึ้นมาก แม้ว่า SME ทุนจะไม่มาก แต่ในวันนี้เรามาจุดประกายก่อนเพื่อให้ท่านได้เห็นว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพมาก เหมาะแก่การขยายธุรกิจเมียนมาเป็นประเทศขนาดใหญ่ ประชากร ๕๔ ล้านคน ที่สำคัญอยู่ใจกลางทวีปเอเชีย ด้านซ้ายเป็นอินเดีย ๑,๓๐๐ ล้านคน ด้านขวาติดจีน ๑,๒๐๐ ล้านคน นอกจากนี้ยังติดบังคลาเทศ ๒๐๐ ล้านคน ลองคิดดูว่าหากธุรกิจของเราอยู่ในเมียนมาซึ่งอยู่ใจกลางของพื้นที่ที่มีประชากรรวมกว่า ๒,๖๐๐ ล้านคน โอกาสธุรกิจจะมากขนาดไหน นอกจากนี้ GDP ของเมียนมาคือ ๗% ต่อปี และเชื่อว่าจะโตขึ้นอีก การเข้าไปขายสินค้าในเมียนมาไม่ใช่เรื่องยาก นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปลงทุนกับประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่สูง มากๆ”

          สำหรับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เป็นองค์กรเอกชน พัฒนาที่มีบทบาทในการบริหารจัดการองค์การ ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความผาสุก และความมั่นคงให้เกิดกับประชาชนชาวไทย และชาวเมียนมาอย่างเสมอภาค ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ รวมระยะเวลา ๑๗ ปี โดยปฏิบัติภารกิจส่งเสริมกิจกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันได้ขยายสาขาไปในทุกภาค ถึง ๒๑ สาขา ได้แก่ ภาคเหนือ ประกอบด้วย สาขาเชียงราย, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่ และแม่สอด ภาคกลาง ประกอบด้วย สาขากาญจนบุรี, พระเจดีย์สามองค์, พุน้ำร้อน, ราชบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และเพชรบุรี ภาคใต้ ประกอบด้วย สาขาประจวบคีรีขันธ์, ระนอง, พังงา และภูเก็ต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย สาขานครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

 


707 1342