20thApril

20thApril

20thApril

 

September 19,2018

มทส.เปิดตัว‘โดรนหว่านข้าว’ แม่นยำรวดเร็วประหยัดแรง ดันเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์ม

          โชว์ผลงานวิจัย มทส. “เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ” แม่นยำ รวดเร็ว ใช้งานง่าย ประหยัดแรงงาน บรรจุเมล็ดพันธุ์สูงสุด ๕ กก. ใช้เวลาเพียง ๓๐ นาทีต่อไร่ พร้อมผลักดันสู่ยุคสมาร์ทฟาร์ม ๔.๐

          เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ ที่แปลงสาธิต ฟาร์ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร. บุญชัย วิจิตรเสถียร รองอธิบดีฝ่ายยุทธศาสตร์แผนและงบประมาณ มทส. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการเทคโนธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ ทองทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และนายปัญญา หันตุลา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม มทส. ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ” โดยเป็นการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ใช้เวลาศึกษาวิจัยและออกแบบเป็นเวลา ๔ เดือน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ การศึกษาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือโดรน ที่สามารถบินตามเส้นทางที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติ และการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับโปรยเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อติดตั้งบนโดรนใช้งบประมาณ ๒ แสนบาท ต่อเครื่อง ซึ่งเป็นราคาเทียบเท่ากับโดรนทางการเกษตรที่ใช้อยู่ทั่วไป

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ ทองทา กล่าวว่า การออกแบบอากาศยานไร้คนขับนับเป็นส่วนสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากต้องคำนึงถึงลักษณะการนำไปใช้งาน โดยพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น โครงสร้าง, น้ำหนักบรรทุก และระยะเวลาในการบิน  ส่วนเครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ๑.ตัวอากาศยานไร้คนขับเป็นแบบหลายใบพัดหรือ Multirotor UAVs โดยสร้างจากวัสดุคาร์บอนไพเบอร์ ทำให้ตัวโดรนมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ๒.อุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์เป็นส่วนที่ทีมวิจัยออกแบบและพัฒนาขึ้น โดยใช้พลาสติกเป็นโครงสร้างทำให้มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน เมล็ดพันธุ์จะถูกบรรจุอยู่ในกระบะบรรจุติดตั้งอยู่ด้านบนอุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์ หลังจากนั้น ฟันเฟืองถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เพื่อตักเมล็ดพันธุ์และโปรยลงไปด้านล่าง ซึ่งสามารถปรับอัตราการโปรยได้ตามที่ต้องการ ตัวโดรนทำหน้าที่บินและนำพาอุปกรณ์ไปตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้าของโดรนทุกตัวจะรับคำสั่งจากอุปกรณ์ควบคุมการบิน โดยมีเซ็นเซอร์วัดระดับทิศทางของแกนหมุน เพื่อปรับการทรงตัวของโดรนในขณะบินอยู่ให้อยู่ในแนวดิ่งและรักษาตำแหน่งทิศทางการบินด้วยระบบ GPS สามารถควบคุมการบิน ความเร็วและความสูงจากรีโมทคอนโทลได้แม่นยำ และตั้งโปรแกรมการบินอัตโนมัติผ่านคอมพิวเตอร์ เมื่อโดรนบินครบตามจุดที่กำหนดจะบินกลับมาตำแหน่งเริ่มต้นอย่างอัตโนมัติ

          “โครงสร้างของโดรนต้นแบบ มีขนาดความกว้าง ๑.๒ เมตร สูงจากพื้นดิน ๑ เมตร บรรทุกน้ำหนักสูงสุด ๒๐ กิโลกรัม (รวมน้ำหนักโดรน) สามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ได้หลากหลายชนิด เช่น เมล็ดข้าว, เมล็ดถั่วเขียว บรรจุเมล็ดพันธุ์ได้ครั้งละ ๕ กิโลกรัม ระยะเวลาบินต่อเนื่อง ๑๕ นาที ความเร็วที่เหมาะสม ๑-๒ เมตรต่อวินาที ความสูง ๒-๓ เมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดพันธุ์พืช ใช้เวลาในการโปรยประมาณ ๒๕-๓๐ นาทีต่อไร่ นับเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรไทย ทั้งประหยัดเวลาและแรงงาน สอดรับกับนโยบายเกษตร ๔.๐ รวมทั้งต่อยอดให้เหมาะสมกับการใช้งานประเภทอื่น เช่น การหว่านปุ๋ย การโปรยสารเคมี หรือการขนส่งยาเวชภัณฑ์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน ๕-๖ กิโลกรัม เข้าไปในพื้นที่มนุษย์เข้าถึงได้ยากลำบาก รวมทั้งช่วยในการเพาะพันธุ์ขยายพื้นที่ป่าไม้ตามลักษณะภูมิประเทศต่างๆ ที่มีอุปสรรคในการเดินทาง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ กล่าว

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

723 1348