28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 06,2018

ธพว.ผนึกพลัง ๕ ค่ายมือถือ ดันแพลตฟอร์ม‘SME D Bank’ บริการครบวงจรเพื่อเอสเอ็มอี

          ธพว.จับมือ ๕ ค่ายเครือข่ายสัญญาณมือถือ-อินเทอร์เน็ต และ ๙๐ ผู้ประกอบการด้านดิจิทัล เติมศักยภาพแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ สู่การเป็นศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อ SMEs ไทย อุ้มผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตั้งเป้าถึง ๑ แสนดาวน์โหลดภายในสิ้นปีนี้

          นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ธพว. กับ ๕ บริษัท ผู้ให้บริการธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ หรือ Big Player ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL ผู้ให้บริการข้อมูลนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศ ว่า จะก่อประโยชน์สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนตัวเล็กที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าของทั้ง ๕ บริษัทอยู่แล้ว ที่มีจำนวนรวมกว่า ๙๐ ล้านเลขหมาย ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งด้านความรู้ และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูกของ ธพว.ได้ ผ่านแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ แอปพลิเคชัน (Application) บนโทรศัพท์มือถือ สามารถให้บริการได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุม ถือเป็นการปฏิวัติการทำงานของสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อคนตัวเล็กอย่างแท้จริง

          สำหรับการขอสินเชื่อผ่าน SME D Bank นั้น ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ข้อมูลจะส่งมายังฐานข้อมูลทันที และภายใน ๓ วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ วิ่งเข้าไปพบ เพื่อดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ประกอบการรู้ผลได้ใน ๗ วัน ขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ไปอย่างหมดสิ้น  

          แพลตฟอร์ม SME D Bank  ซ่อนความหมายสำคัญของการทำงานผ่านตัวอักษร “ดี” ๓ ตัว หรือ 3D ย่อมาจาก ๑.Development = ช่วยพัฒนาธุรกิจ ด้วยความรู้คู่ทุน ๒.Delivery = บริการถึงถิ่นอย่างรวดเร็ว และ ๓.Digital = บริการผ่านเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึง บ่งบอกว่า ธนาคารแห่งนี้ สร้างบริการ “ดีมากๆ” เพื่อเอสเอ็มอีไทย นำความรู้คู่เงินทุนไปถึงตัวผู้ประกอบการรายย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ให้บริการลูกค้าด้วยระบบดิจิทัล รหัส ๒๔x๗ หมายถึง บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง ๗ วัน ส่วนกระบวนการทำงานของพนักงานธนาคาร ยึดรหัส ๘-๘-๗ หมายถึง หน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุนฯ  วิ่งเข้าบริการตามวันเวลาที่ผู้ประกอบการสะดวก ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. ตลอดสัปดาห์ทั้ง ๗ วัน”  นายมงคล กล่าว    

          นอกจากนั้น ภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank ยังมีเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) ช่วยให้เอสเอ็มอีเติบโต เข้มแข็ง อยู่รอด และยั่งยืน โดยรวบรวมแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์  ยกระดับความสามารถแก่เอสเอ็มอี ซึ่งเดิมมีแล้วกว่า ๕๐ ราย และล่าสุด ได้จับมือผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่เพิ่มอีก ๙๐ ราย รวมเป็น ๑๔๐ ราย จึงกล่าวได้ว่า โหลด SME D Bank เพียงแค่แอปฯ เดียว สามารถเข้าถึงบริการเสริมแกร่งมากกว่า ๑๔๐ ประโยชน์ อีกทั้ง รวบรวมคลังข้อมูลความรู้สำหรับเอสเอ็มอี (e-Library)  ไว้ในที่เดียวมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในรูปแบบข่าวสาร ข้อมูลสถิติ บทความ คลิปวิดีโอ  อินโฟกราฟิก เป็นต้น เบื้องต้นมากกว่า ๒,๐๐๐ องค์ความรู้ และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยอัพเดทให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวทันเทคโนโลยี ปรับตัวเท่าทันการแข่งขัน รวมถึง ยังมีสิทธิพิเศษ  (Privilege) จากการใช้งานภายในแพลตฟอร์มด้วย     

          “ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นมิติใหม่ของการให้บริการยุคดิจิทัลที่สถาบันการเงินภาครัฐ จับมือกับผู้ให้บริการธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม  และเครือข่ายพันธมิตร รวบรวมสิ่งจำเป็นต่างๆ สำหรับเอสเอ็มอีให้มาอยู่พร้อมกันในแพลตฟอร์ม SME D Bank ทำหน้าที่ “ศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อ SMEs ไทย” เปิดโอกาสผู้ประกอบการคนตัวเล็กตกสำรวจที่มีกว่า ๓ ล้านรายทั่วประเทศ  เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ซึ่งจะก่อประโยชน์เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายไปทุกชุมชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” นายมงคล กล่าว 

          นายมงคล กล่าวด้วยว่า จากที่ธนาคารได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม SME D Bank  เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคมที่ผ่านมา นับถึงวันที่ ๒๓ กันยายน ที่ผ่านมา มียอดผู้ดาวน์โหลดการใช้งานไปแล้ว ๑๕,๐๐๐ ราย มีการขอสินเชื่อผ่านระบบกว่า ๑,๐๐๐ คำขอ เป็นวงเงินกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท อีกทั้ง ในเร็วๆ นี้ จะมีการเพิ่มเติมบริการภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank  เช่น ระบบจองสัมมนาอัตโนมัติ (Seminar Booking) ระบบที่ปรึกษาเพื่อผู้ประกอบการ (Consulting) เชื่อมโยงโครงการผู้เชี่ยวชาญกว่า ๑,๐๐๐ ราย ระบบเชิญผู้สนใจ (Invite to SME D Bank) และระบบเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อการซื้อขาย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร และในหมู่ผู้ประกอบการด้วยกันเอง เป็นต้น และตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ (๒๕๖๑) จะเพิ่มเติมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจถึงกว่า ๑,๐๐๐ ประโยชน์ คลังข้อมูลถึง ๑๐,๐๐๐ องค์ความรู้ และยอดผู้ดาวน์โหลดใช้งานกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ราย  สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนวงเงินกว่า ๒ หมื่นล้านบาท 

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๘ วันจันทร์ที่ ๑ - วันศุกร์ที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

701 1354