29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 11,2019

‘ทีพีไอ’สำรวจปิโตรเลียม เตรียมเจาะ‘ด่านขุนทด’ ๔ จุด หลังพลาดหวังจากชัยภูมิ

          TPI จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม อ.ด่านขุนทด หวังมีโอกาสเจอปิโตรเลียมจำนวนมาก พอที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ 

 

          เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องพิมาย โรงแรมสีมาธานี นายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๑ ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของโครงการ โดยนายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว กล่าวว่า ตามที่บริษัท โรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ (๑๙๙๗) ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๕๔/๑๑๐ ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L๒๙/๕๐ มีความประสงค์ที่จะทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกดังกล่าว จำนวน ๔ แห่ง ประกอบด้วย ฐานเจาะ DKT-1, DKT-2, DKT-3 และ DKT-4 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยการดำเนินการดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อรายงานให้ที่ประชุมทราบ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแล

          นางวรรณฑกา ธิติภาทร ผู้ชำนาญการพิเศษ จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการจัดหาพลังงาน และพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเห็นได้ว่าในปัจจุบันการใช้พลังงานตั้งแต่ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๑ มีการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบการผลิตในประเทศในปี ๒๕๕๗ ผลิตได้เยอะ แต่ปี ๒๕๖๑ ผลิตพลังงานได้น้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องสำรวจหาพลังงานอยู่เรื่อยๆ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเมื่อให้สัมปทานต่างๆ ไปแล้ว มีการกำกับดูแลว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีการผลิตที่ดีหรือไม่ และเมื่อหากหมดสัมปทานทางกรมเชื้อเพลิงก็จะเข้ามากำกับดูแลในเรื่องการรื้อถอนว่า จะมีกระบวนการอย่างไร 

          “บริษัทที่ได้รับการสัมปทานจะต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด เรากำหนดไม่ว่าบริษัทไหนก็ตาม หากจะสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียม ต้องทำ EIA ให้ผ่านก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการได้ และนอกจากนั้นในการสำรวจและผลิต เมื่อผ่าน EIA บริษัทเข้าไปดำเนินการ กรมฯจะเข้าไปกำกับดูแล โดยส่งเจ้าหน้าที่จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้าไปประจำอยู่ในพื้นที่ ๒๔ ชั่วโมง ในช่วงของการสำรวจ ถ้าในพื้นที่พบปัญหา หรืออะไรที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนไม่อยากคุยกับบริษัท สามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโดยที่ไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า ดำเนินการตามกฎหมายของไทยหรือไม่ และไม่อนุญาตให้บริษัททิ้งน้ำลงพื้นที่ธรรมชาติ ต้องอัดกลับลงหลุม แต่หากไม่สามารถทิ้งกลับอัดลงหลุมได้ต้องนำน้ำที่มีการปนเปื้อนไปเผาที่โรงปูนเท่านั้น หากพบเห็นการปล่อยน้ำลงพื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติ สามารถร้องเรียนกับทางเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ และบริษัทต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องหามาตรการแนวทางดูแล” นางวรรณฑกา กล่าว

หวังพบปิโตรเลียม

          นายสราวุธ ธรรมบุญญา ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท โรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ(1997) จำกัด กล่าวว่า ผู้บริหารให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ซึ่งเป็นความมั่นคงของประเทศ จึงมอบหมายให้ทีมงานบางส่วนยื่นขอสัมปทานเพื่อสำรวจปิโตรเลียม  รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ หลังจากนั้นได้ดำเนินการสำรวจตามข้อผูกพันในสัมปทาน ทั้งนี้ได้ยื่นข้อผูกพันกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า เมื่อได้สัมปทานมาแล้วจะสำรวจอย่างไร ใช้งบในการสำรวจประมาณเท่าไร พื้นที่สัมปทานช่วงแรก ๓,๙๖๕ ตารางกิโลเมตร ทางกรมฯ จะตีแปลงตามพิกัดละติจูด ลองติจูด เป็นบล็อกสี่เหลียม เมื่อสำรวจแล้วถึงกำหนดระยะเวลาหนึ่งจะทำการคืนพื้นที่ ขณะนี้ได้ทำการคืนพื้นที่ไปแล้ว ๒ ครั้ง เหลือพื้นที่ยังคงมีสิทธิ์สำรวจ ๙๘๒.๘๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เน้นสำรวจที่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ 

          นายสราวุธ กล่าวต่อว่า “ตามที่ได้ยื่นเสนอสัมปทาน ทางเราได้ยื่นไว้ว่า ในการเจาะสำรวจ ๑ หลุม จะใช้เงินประมาณ ๕ ล้านเหรียญ หรือ ๑๕๐ ล้านบาท  แต่ในการสำรวจจริงๆ ตอนนี้ใช้ไปแล้วประมาณ ๔๐ กว่าล้านเหรียญ ซึ่งผู้บริหารเน้นให้ทำการสำรวจอย่างจริงจัง ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เผื่อจะมีโอกาสเจอปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ทั้งนี้ที่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ทำการขุดเจาะทั้งหมด ๒ หลุม พบเพียงร่องรอยปิโตรเลียม ซึ่งไม่มากพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ปีที่ผ่านมาจึงเบนเข็มมาทางรายละเอียดที่อ.ด่านขุนทด และได้จัดการประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการให้ทราบว่า จะสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งสำรวจเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการแปรผลว่า จุดไหนที่มีศักยภาพที่ดีที่สุดที่มีปิโตรเลียมมากที่สุด เราก็จะทำการเจาะสำรวจตรงนั้น แต่จากการแปรผลเบื้องต้น ปีนี้จะเป็นสัมปทานปีสุดท้าย ดังนั้นในปีนี้จำเป็นที่จะต้องเจาะให้เจอปิโตรเลียม และหากเราเจอปิโตรเลียมจำนวนมากพอที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เราจะขอเป็นพื้นที่การผลิตจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และทำแผนว่า จะผลิตมาใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งในขั้นตอนนั้นเราจะต้องจัดทำรายละเอียด และมาจัดประชุมอีกครั้งเพื่อจัดทำ EIA แต่ ณ วันนี้เป็นการเจาะเพื่อสำรวจพิสูจน์ทราบว่า ที่เราสำรวจผิวดินมาพื้นที่ใต้ดินนั้นมีจริงไหม ขอโอกาสบริษัทพบเจอปิโตรเลียมเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในบ้านเราต่อไป”

การเจาะสำรวจปิโตรเลียม

          ทั้งนี้การเจาะสำรวจปิโตรเลียม ทางบริษัทฯ จะทำการก่อสร้างและติดตั้งฐานแต่ละฐานซึ่งใช้ระยะเวลา ๑ เดือน/ฐาน สำหรับการเจาะสำรวจบริษัทฯ เลือกใช้แท่นขุดเจาะ SINOPEC ของประเทศจีน เป็นแท่นเจาะขนาดใหญ่ ซึ่งความลึกเป้าหมายในการเจาะประมาณ ๕ กิโลเมตร ปากหลุมกว้างประมาณ ๒๖ นิ้ว การเจาะยิ่งเจาะลึกขนาดหลุมจะเรียวลงเรื่อยๆ กระทั่งถึงความลึกสุดท้ายเหลือประมาณ ๖ นิ้ว ใช้ระยะเวลาดำเนินการ ๔-๕ เดือน/ฐาน ของเหลวที่ใช้ในการช่วยเจาะใช้ของเหลวที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก (WBM) ที่มีสารสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบหลัก (SBM) และที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลัก  (OBM) เพื่อช่วยในการนำพาเศษดินเศษหินต่างๆ ขึ้นมาบนปากหลุม อีกทั้งช่วยหล่อลื่น และลดความร้อนให้กับหัวเจาะ

การจัดทำ EIA

          อย่างไรก็ตาม TPI ได้มอบหมายให้บริษัท วิชั่น อี คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย นางสาวจันทรา เกิดมี                        ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท วิชั่นอี คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวว่า วันนี้ที่จัดการประชุม จะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการศึกษาเรื่องกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในด้านกฎหมายของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาปิโตรเลียมในทุกระยะจะมีกฎหมายควบคุมอยู่ จะต้องมีการขออนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมก่อนถึงจะดำเนินการได้ ซึ่งในการเจาะสำรวจปกติแล้วเป็นผลกระทบแบบระยะสั้น ระยะเวลาการเจาะเพียงแค่ไม่กี่เดือน กฎหมายกำหนดไว้ว่า จะยังไม่สามารถทำการใดๆ ได้ จนกว่า EIA จะได้รับความเห็นชอบ แต่หากมีการเจาะเจอก็ยังไม่สามารถทำการผลิตได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าก่อนที่จะทำการผลิต จะต้องมีการจัดทำ EIA ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ โดยให้เหตุผลว่า ระยะเวลาของการผลิตนั้นเป็นกิจกรรมที่ใช้ระยะเวลายาวมากกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบได้ จึงต้องแบ่งระยะการขอ EIA เป็น ๒ ช่วง คือช่วงเจาะสำรวจ และช่วงการผลิต สำหรับวันนี้จะเป็นกิจกรรมช่วงเจาะ เป็นผลกระทบในระยะสั้น

          นางจันทรา กล่าวต่ออีกว่า การจัดทำรายงาน EIA จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ๒ ครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่มาแนะนำเปิดตัวโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะแจ้งให้พื้นที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และเสนอขอบเขตการศึกษาการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่างๆ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะนำความคิดเห็นเพื่อทบทวนขอบเขต และศึกษาขอบเขตการศึกษาอีกครั้ง และจัดประชุมให้ทราบผลการศึกษาอีกครั้งช่วง มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นร่าง EIA ที่เกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ และรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากนั้นจะทำการจัดส่งรายงานให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ใช้ระยะเวลา ๔-๕ เดือน ทาง TPI จึงจะสามารถดำเนินการได้ สำหรับช่วงนี้จึงจะเป็นขั้นตอนของการจัดทำรายงานและการขออนุญาตก่อน

ขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

          ในส่วนของขอบเขตพื้นที่การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้กำหนดขอบเขตไว้ คือพื้นที่ ต.พันชนะ, ต.บ้านเก่า, ต.ตะเคียน, ต.ด่านขุนทด, ทต.ด่านขุนทด, ทต.หนองบัวตะเกียด, ต.สระจระเข้, ต.ด่านนอก และต.ด่านใน ซึ่งหัวข้อในการศึกษาที่ดำเนินการศึกษาตั้งแต่ช่วงมีนาคม-กรกฎาคม ๒๕๖๒ จะศึกษาทั้งในด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต การตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้ง การตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดัชนีที่ทำการตรวจวัด เช่น ฝุ่นละอองรวม (TSP), ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO), ความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น  การตรวจวัดระดับเสียง ดัชนีที่ทำการตรวจวัด ระดับเสียงเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง (Leq 24 hr) ระดับเสียงสูงสุด (Lmax) ระดับเสียงกลางวัน-กลางคืน (Ldn)  และระดับเสียงเปอร์เซ็นไทล์ที่ ๙๐ (L90 ) การเก็บตัวอย่างคุณภาพดิน ดัชนีที่ตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ คุณภาพทางกายภาพ เช่น pH, ความเค็ม, การนำไฟฟ้า คุณภาพทางเคมี เช่น TPH, BTEX โลหะหนัก เช่น  As, Cd Cr+6  การเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำผิวดิน และนิเวศวิทยาทางน้ำ ดัชนีที่ตรวจวิเคราะห์ เช่น คุณภาพน้ำทางกายภาพ เช่น pH, TDS, TSS คุณภาพน้ำทางเคมี เช่น TPH-Gas, BTEX โลหะหนัก เช่น As, Cd, Cr, Pb, Hg, Ni, Cu, Fe, Mn นิเวศวิทยาทางน้ำ ได้แก่ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สัตว์หน้าดิน ปลา และพืชน้ำ การเก็บตัวอย่างคุณภาพดินตะกอน ดัชนีที่ตรวจวิเคราะห์ เช่น ทางกายภาพ ทางเคมี โลหะหนัก การเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำใต้ดิน ดัชนีที่ตรวจวิเคราะห์จะเป็นดัชนีเดียวกับการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำผิวดิน 

เปิดเวทีรับฟังความเห็น

          จากนั้น นายสุรินทร์ แสงไทยทวีพร พลังงานจังหวัดนครราชสีมา ทำหน้าที่แทนประธาน ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

          นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้ เรายังไม่มีข้อมูลพื้นฐานว่าหากทำการสำรวจไปแล้วเราจะพบสิ่งแวดล้อม หรือหลักฐานต่างๆ ซึ่งถือว่า เขตนครราชสีมายังมีสุสาน  หรือแหล่งโบราณคดีใต้ดินอีกเยอะ ซึ่งถ้ายังไม่มีข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่เพียงพอ ตนเห็นว่าดำเนินการในครั้งนี้ดูเป็นการลัดขั้นตอนหรือไม่

          ในกรณีนี้ นางจันทรา กล่าวชี้แจงว่า  “ที่มีการจัดประชุมวันนี้เป็นในส่วนของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเพิ่งเริ่มศึกษาเท่านั้น เพราะฉะนั้นบริษัทจะยังเจาะไม่ได้ จนกว่า EIA จะได้รับความเห็นชอบ ในปัจจุบันจริงๆ แล้วยังไม่มีกิจกรรมการดำเนินการเจาะใดๆ เป็นเพียงแค่การติดต่อกับเจ้าของพื้นที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ และความพึงพอใจในการให้เราเช่าพื้นที่ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการศึกษาทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดทำตัวโบราณคดี ซึ่งหลังจากเสร็จรายงานโบราณคดีใช้ระยะเวลาประมาณอีก ๒ เดือน ก็จัดส่งให้ศิลปากรในพื้นที่ หรือส่วนกลางตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง“ 

          พ.อ.วีรศักดิ์ สาระชาติ จาก กอ.รมน.จังหวัดนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า ประชาชนมีหลายหมู่บ้านที่นำเสนอ ตนยกตัวอย่าง สมมุติว่ามี ๑๐๐ หลังคาเรือน แล้วให้ความสำคัญเพียงแค่ ๑๐-๒๐ หลังคาเรือนที่เห็นด้วย อาจทำให้ส่วนที่เหลือเกิดความไม่เห็นด้วย ในส่วนตรงนี้กำหนดหรือไม่ว่า ประชาชนต้องเข้าร่วมกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วหากประชาชนที่ไม่มานั้นจะดำเนินการอย่างไร

          นางจันทรา ชี้แจงว่า ในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นนั้น นอกจากจะมีการจัดการรับฟังแบบจัดเวที ซึ่งครอบคลุมทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล รวมถึงหมู่บ้านที่ตั้งฐาน ๑ กม. ทางเราเชิญมาครบ แต่จะมาครบหรือไม่นั้นไม่สามารถที่จะบังคับได้ แต่จะมีการสำรวจซ้ำด้วยแบบสอบถาม ซึ่งมีทางเจ้าหน้าที่ลงสำรวจเคาะหน้าบ้านโดยตรง โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รัศมี ๑ กม. ถือว่ามีโอกาสได้รับผลกรทบมากที่สุดจะทำการสำรวจแบบ ๑๐๐% แต่หากห่างไกลจากนั้นอาจจะต้องใช้แบบสุ่มตัวอย่างให้ได้ค่าความเชื่อมั่นที่เชื่อถือได้

          นางลัดดาพร ชานันโท นักวิชาการอุตสาห กรรมชำนาญการ กล่าวว่า ประเด็นผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือน ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ได้มีการสำรวจหรือไม่ และตอนที่ฝังกลบปิดหลุมมีความมั่นคงแข็งแรงแค่ไหน มีโอกาสที่คนหรือสัตว์จะหล่นลงไปในหลุมหรือไม่ 

          นางจันทรา กล่าวว่า ในการศึกษาถึงผล       กระทบ ทางบริษัทมีการศึกษาในทุกด้าน และจะดึงออกมาว่า ด้านใดคือผลกระทบที่แท้จริง และทำการศึกษาผลกระทบตรงนั้น ในด้านการสั่นสะเทือน โครงการมีการศึกษาเช่นกัน  แต่เมื่อมาดูกิจกรรมที่เกิดจากโครงการแล้วพบว่า ไม่มีแหล่งที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เพราะเวลาเจาะจะไม่ใช้วิธีการกระแทก ซึ่งจะใช้หัวเจาะแบบหมุน หากไปยืนที่ปากหลุมจะไม่รู้สึกว่ามีแรงสั่นสะเทือน ฉะนั้นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งฐานต้องมีระยะห่างจากชุมชนตามที่บริษัทกำหนด พื้นที่ตรงนั้นก็จะไม่ได้รับแรงสั่นสะเทือน

          ด้าน นายสราวุธ ธรรมบุญญา กล่าวเสริมว่า “ในส่วนของหลุมสำรวจที่ไม่ได้ใช้แล้ว จะปิดหลุมด้วยซีเมนต์ข้างบนให้เต็ม ในพื้นที่ด้านล่างจะมีซีเมนต์เป็นช่วงๆ เพื่อกรณีบางหลุมที่เจอก๊าดธรรมชาติแล้วมีแรงดันใต้ดินก็จะมีตัวปลั๊กเพื่อที่จะลบแรงกดดันของบรรยากาศ (pressure) จนข้างบนไม่มีผลกระทบ และ section ๕๐ เมตรข้างบนในหลุมจะเป็นซีเมนต์ทั้งหมด“

          ทั้งนี้ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ มีแผนการจัดประชุมการจัดเวทีสาธารณะ (ระดับจังหวัด/อำเภอ) และการประชุมกลุ่มย่อย (ระดับตำบล/หมู่บ้านที่ตั้งฐานเจาะ) โดยลงพื้นที่ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นที่พื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๑ วันเสาร์ที่ ๑๑ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

783 1415