29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 16,2019

ทุบ/ไม่ทุบ“สะพานสีมาธานี” ‘วิเชียร’ยื่นหนังสือให้ชี้แจง ทางลอด‘บัวใหญ่’ต้องมีทางเดินเท้า

           ผู้ว่าฯ โคราช ลุยพื้นที่ปัญหารถไฟทางคู่ผ่านอำเภอบัวใหญ่ หลังประชาชนระบุทางลอดแคบ ชัน น้ำขัง ย้ำต้องมีทางเดินเท้าเพื่อประชาชน วิศวกร ยอมรับทางลอดคือจุดบอดของการออกแบบ ส่วนทุบ/ไม่ทุบ “สะพานสีมาธานี” คาดได้ข้อสรุปแล้ว แต่กระทรวงยังไม่เปิดเผย จังหวัดเร่งทำหนังสือให้ชี้แจงด่วน

           เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองบัวใหญ่ สำนักงานเทศบาลเมืองบัวใหญ่ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น โดยมี นายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่, นางไพรวัลย์ รักชาติเจริญ นายอำเภอบัวใหญ่, นายศักดิ์ชัย ทรัพย์ใจเที่ยง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค ๒, นายพุฒากาศ ศรีหนา วิศวกรโครงการกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MPA และนายยุทธนา ท้าวนอก ตัวแทนภาคประชาชนชาวอำเภอบัวใหญ่ ร่วมด้วย เจ้าหน้ที่ฝ่ายปกครองอำเภอบัวใหญ่, ผู้บริหารบริษัทรับเหมาโครงการก่อสร้าง และตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ท่ามกลางประชาชนเข้าร่วมรับฟังกว่า ๕๐ คน 

           ตามที่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ ซึ่งตลอดโครงการก่อสร้าง มีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟที่เสมอระดับถนนทุกแห่ง ก่อสร้างเป็นทางต่างระดับทดแทน พร้อมแนวรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งตามสัญญาการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แต่มีการขยายสัญญาออกไปอีก ๕ เดือนถึงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ หลังจากก่อสร้างและเริ่มเปิดใช้ทางลอดรถไฟ ประชาชนที่สัญจรไปมาในอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากทางลอดดังกล่าว เนื่องจากลักษณะทางลอดค่อนข้างอันตราย และมีน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายออกได้ทัน ในช่วงฝนตก พบมีการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่า ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีช่องทางลอดแคบ มีความลาดชัน และมีน้ำขัง ทำให้รถเล็ก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และรถซาเล้ง ผ่านไปมาด้วยความยากลำบาก ที่ผ่านมาตัวแทนภาคประชาชนร่วมกับเทศบาลเมืองบัวใหญ่มีการยื่นหนังสือขอปรับแบบแก้ไข เพราะหวั่นประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนในอนาคต

           นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ตัวสถานีชุมทางบัวใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งห่างจากสถานีเดิมประมาณ ๑๐๐ เมตร และพบปัญหาการร้องเรียนจากผู้โดยสารจำนวนมากถึงสะพานลอยเชื่อมชานชาลาระหว่างช่องทางซื้อตั๋วโดยสารกับจุดรอขึ้น-ลงรถไฟ เพราะสะพานลอยมีความสูงจากพื้นรางถึง ๗ เมตร บันได ๔๘ ขั้น สร้างปัญหาให้กับคนชรา คนพิการ และผู้มีสัมภาระ ที่มาใช้บริการ 

ผู้ว่าฯ ลุยพื้นที่ปัญหา

           นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีที่ประชาชนชาวบัวใหญ่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ถึงผลกระทบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ นายกรีฑา สพโชค ผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น แต่ขณะนี้ผลกระทบบางส่วนได้แก้ไขแล้ว เช่น ปัญหาฝุ่นละออง และมีการติดแผ่นผนังกันเสียง เพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากการจราจร เข้าสู่บ้านและอาคาร

           “ส่วนปัญหาสำคัญที่ยังแก้ไขไม่ได้หลังจากการก่อสร้างเสร็จแล้วคือ ทางลอดทางรถไฟทั้ง ๓ จุดคือ ๑.ทางลอดถนน ๒๐๒ ทางลอดใต้สะพานยกระดับ ช่องทางสูง ๒.๕ เมตร กว้าง ๓.๕ เมตร รถฉุกเฉินหรือรถกู้ภัย ที่มีเสาวิทยุ ความสูงรวมมากกว่า ๒.๕ เมตร ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ๒.ทางลอดและสะพานเกือกม้า ถนนเทศบาล ๑๕ (บีวาย-ชูมิตร) ทางลอดแคบมีความชันและเป็นมุมอับในจุดเลี้ยว และที่สำคัญคือไม่มีทางเดินเท้าของประชาชน และ ๓.ทางลอดและสะพานเกือกม้า ถนนเทศบาล ๙ (บึงบัวใหญ่-บ้านดอนขุนสนิท) ทางลอดเล็กขนาด ๒x๒ เมตร ไม่มีทางเดินเท้าให้กับประชาชน”

ทางลอดต้องมีทางเดินเท้า

           นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมาจะรับเรื่อง เพื่อทำรายงานเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออก เพราะถือว่า เป็นผลกระทบอย่างมากกับประชาชน เพราะทางลอดแต่ละจุดไม่มีพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า และเครื่องสูบน้ำภายในทางลอดก็ไม่มีเครื่องสำรองไฟเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งจะเป็นอันตรายมากสำหรับผู้ใช้เส้นทาง อย่างน้อยทางการรถไฟ ควรหาป้ายเตือนหรือติดตั้งสัญลักษณ์ให้กับผู้สัญจรไปมาได้เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งเมื่อโครงสร้างแล้วเสร็จก็คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ทางจังหวัดจะนำเรื่องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้ปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องทางเดินเท้าของประชาชนซึ่งก็ต้องมี ช่วงนี้อยู่ในการปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเมื่อได้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่ตนจะขออนุญาตเข้าพบ เพื่อหาทางออกให้กับประชาชนแน่นอน

ทางลอด จุดบอดการออกแบบ

           นายพุฒากาศ ศรีหนา วิศวกรโครงการกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MPA กล่าวชี้แจงว่า การก่อสร้างทางลอดรถไฟกว่า ๘๐ ช่องลอดของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย นับว่า เป็นจุดบอดของการออกแบบ เพราะทุกพื้นที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กันคือ ไม่มีทางเดินเท้าของประชาชน ซึ่งถ้าจะมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไข ต้องมีการทำเรื่องเสนอของบประมาณใหม่จึงจะสามารถแก้ไขได้ ตามกำหนดการการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่มีการขยายโครงการออกไปอีก ๕ เดือนจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ จากนี้ผู้รับเหมาโครงการจะดำเนินการแก้ไขส่วนที่ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งเรื่องของถนนชำรุด การขุดเจาะท่อทางระบายน้ำ รวมถึงปัญหาหน้างานต่างๆ ที่ยังต้องแก้ไข ส่วนเรื่องทางลอดดำเนินตามแบบที่ออกแบบมาจึงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ผู้ว่าฯ ความหวังชาวบัวใหญ่

           นายยุทธนา ท้าวนอก ตัวแทนภาคประชาชนชาวอำเภอบัวใหญ่ เปิดเผยว่า การประชุมหารือแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ผ่านอำเภอบัวใหญ่ครั้งนี้พอจะมีความหวังอยู่บ้าง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาลงมาดูสถานที่และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น และจะนำเข้าสู่วาระของจังหวัด เพื่อนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย หวังเพียงว่า ครั้งนี้ชาวบัวใหญ่จะได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างจริงจัง 

           อนึ่ง โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ นครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง ๑๘๗ ก.ม. การรถไฟแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญาก่อสร้างกับกลุ่มกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช ที่มี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นแกนหลัก ด้วยงบประมาณ ๒๓,๔๓๐ ล้านบาท โดยตามสัญญาพร้อมจะเปิดให้บริการตลอดสายภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งตามสัญญานอกจากการก่อสร้างระบบราง สถานี งานโยธาอื่นๆ เช่น ระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม ถนนยกระดับ (overpass) ถนนยกระดับรูปตัวยู เพื่อแก้ปัญหาระหว่างถนนกับทางเป็นความรับผิดชอบของโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะหมดสัญญาจ้างในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒

           ตลอดระยะเส้นทางจะมีสถานีรถไฟ ทั้งสิ้น ๑๙ สถานี โดยจะเป็นการปรับปรุงจากสถานีเดิมที่มีในปัจจุบันทั้งหมด ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่พิเศษ ๑ แห่ง ได้แก่ สถานีขอนแก่น, สถานีขนาดใหญ่ จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ สถานีชุมทางบัวใหญ่ และสถานีเมืองคง, สถานีขนาดกลาง จำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ สถานีโนนสูง สถานีเมืองพล และสถานีบ้านไผ่, สถานีขนาดเล็ก จำนวน ๑๓ แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านเกาะ สถานีบ้านกระโดน สถานีหนองแมว สถานีบ้านดงพลอง สถานีบ้านมะค่า สถานีพลสงคราม สถานีบ้านดอนใหญ่ สถานีโนนทองหลาง สถานีหนองบัวลาย สถานีหนองมะเขือ สถานีบ้านหัน สถานีบ้านแฮด และสถานีท่าพระ พร้อมทั้งมีพื้นที่ลานกองสินค้า (Container Yard หรือ CY) ที่สถานีบ้านกระโดน สถานีบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และสถานีท่าพระ จังหวัดขอนแก่น 

           อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ลดระยะเวลาในการเดินทางจาก ๓ ชั่วโมง เหลือแค่ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที และลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม ๖ ชั่วโมงเหลือเพียง ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจาก ๔ แสนตันต่อปีเป็น ๔ ล้านตันต่อปี ตลอดแนวเส้นทางและยังรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก ๒ ล้านคนต่อปีเป็น ๑๐ ล้านคนต่อปี

ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี

           ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการออกแบบโครงการรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางจิระ ระยะทางรวม ๑๓๒ กิโลเมตร โดยมีการปรับรูปแบบการก่อสร้างบางช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา (สะพานสีมาธานี) ให้เป็นทางรถไฟยกระดับและบางช่วงเป็นคันทางสูงให้รถยนต์ลอดข้าม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านกายภาพ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่และต้นทุนค่าก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน

           นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ขณะนี้รับทราบมาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการสรุปแบบออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งทางจังหวัดกำลังรอหนังสือตอบกลับจากทางกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะส่วนตัวก็ยังไม่ทราบเช่นกันว่า จะออกมาในรูปแบบใด 

           สำหรับการก่อสร้างออกแบบโครงการรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางจิระ ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อถกเถียงกันว่า ทางรถไฟช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา ควรจะยกระดับด้วยการทุบสะพานสีมาธานีหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่ายใกล้เคียงกัน

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

805 1434