29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 22,2019

ปลูกเงาะโรงเรียนดินภูเขาไฟ เกษตรกรบุรีรัมย์รายได้งามหลังมันสำปะหลังราคาตกต่ำ

         เกษตรกรตำบลดอนอะราง บุรีรัมย์ กว่า ๒๐๐ ครัวเรือนใช้พื้นที่ว่างรอบตัวบ้าน และปรับพื้นที่ที่เคยปลูกมันฯประสบปัญหาราคาตกต่ำ ปลูกเงาะโรงเรียนดินภูเขาไฟขาย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่บางช่วงผลผลิตออกไม่ทัน ความต้องการของตลาด สร้างรายได้ครัวเรือนละ ๒-๓ หมื่นบาท

         เกษตรกรตำบลดอนอะราง อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้พื้นที่ว่างรอบตัวบ้าน และปรับพื้นที่ที่เคยปลูกมันสำปะหลังแต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ปลูกเงาะโรงเรียนดินภูเขาไฟขายทั้งปลีกและส่งตั้งแต่ครัวเรือนละ ๑๒ ต้น ถึง ๒ ไร่ โดยเงาะโรงเรียนที่ชาวบ้านตำบลดอนอะรางปลูกจะมีรสชาติหวาน กรอบอร่อย และเปลือกบาง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค บางช่วงผลผลิตออกไม่ทันความต้องการของตลาด ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้มารับซื้อถึงที่ โดยหากเป็นเงาะคละขนาดจะขายส่งในราคากิโลกรัมละ ๑๕ บาท หากคัดขนาดราคากิโลกรัมละ ๑๘ บาท หากเกษตรกรคนใดนำไปวางขายปลีกก็จะขายในราคากิโลกรัมละ ๓๕ บาท ๓ กิโลฯ ๑๐๐ บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกเงาะโรงเรียนดินภูเขาไฟขายเฉลี่ยครัวเรือนละ ๒๐,๐๐๐–๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี และบางรายยังได้ทดลองปลูกมังคุด และทุเรียน คาดว่าหากสามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว จะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

         นายสุภาพ พวงพลี เกษตรกรบ้านโนนพะยอม บอกว่า ก่อนหน้านี้มีอาชีพค้าขายแต่ รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงหันมาปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ขายก็ได้รับการตอบรับดี กระทั่งหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกเงาะโรงเรียน ก็ได้ทดลองปลูกโดยวิธีติดตั้งระบบสปริงเกอร์ เพื่อดึงน้ำหล่อเลี้ยง เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ก็ประสบผลสำเร็จสามารถเก็บผลผลิตขายได้ ทั้งมะละกอและเงาะ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยปีละ ๔–๕ หมื่นบาท สามารถส่งลูกเรียนจนจบและเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีและขณะนี้กำลังทดลองปลูกมังคุด และทุเรียนเพิ่มเติมอีก 

         ด้านนายสุลัย แสนสุข ผู้ใหญ่บ้านโนนพะยอม บอกว่า ส่วนมากชาวบ้านในหมู่บ้านจะทำไร่มันสำปะหลัง แต่ที่ผ่านมาก็จะประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ หลังจากมีหน่วยงานราชการเข้ามาให้คำแนะนำส่งเสริม พร้อมจัดหาต้นพันธุ์เงาะโรงเรียนมาให้ทดลองปลูกในพื้นที่ว่างรอบตัวบ้าน และปรับพื้นที่ที่เคยปลูกมันหันไปปลูกเงาะโรงเรียน ก็ประสบผลสำเร็จสามารถเก็บผลผลิตขายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านครัวเรือนละ ๒–๓ หมื่นบาท และขณะนี้ก็มีชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นในพื้นที่ ต.ดอนอะราง ก็เริ่มหันมาปลูกเงาะโรงเรียนเกือบ ๒๐๐ ครัวเรือนแล้ว ส่วนตลาดก็ไม่มีปัญหาเพราะสามารถวางขายหน้าบ้าน ทั้งยังมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่อีกด้วย

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๓ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


691 1344