24thApril

24thApril

24thApril

 

June 08,2019

คณะทูตกัมพูชาเยือน‘ซีพีเอฟ’ หวังรัฐบาลสานต่อความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานในไทย

ซีพีเอฟโคราชต้อนรับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยพร้อมคณะ เดินทางเยี่ยมชมพร้อมพบปะแรงงานชาวกัมพูชา หวังรัฐบาลใหม่สานต่อส่งเสริมความสัมพันธ์สองประเทศให้ดียิ่งขึ้น ด้านซีพีเอฟสร้างความเชื่อมั่นแรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมตามหลักสากล

         เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ฯพณฯ นายอูก ซอร์พวน (Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาได้เดินทางเยี่ยมเยียนและพบปะแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร นครราชสีมา สถานประกอบการของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมี ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะผู้บริหารโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา และนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอโชคชัย ให้การต้อนรับ 

         ฯพณฯ นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งแรกที่เห็นหลังจากที่เดินทางมาที่นี่คือ รอยยิ้มของแรงงานชาวกัมพูชา จากการพูดคุยกับแรงงานทุกคนต่างมีความสุข อีกทั้ง ทางซีพีเอฟยังให้การดูแลและสวัสดิการที่เท่าเทียมกันไม่ต่างจากแรงงานคนไทย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่แรงงานกัมพูชาได้รับการดูแลอย่างดีจากซีพีเอฟ

         “ที่ผ่านมาต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงทางรัฐบาลที่ให้การดูแลแรงงานชาวกัมพูชาเป็นอย่างดี และในโอกาสที่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นนายกสมัยที่ ๒ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด ก็หวังว่าจะยังคงได้รับ และส่งเสริมความสัมพันธ์กับทางกัมพูชาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมหลายๆ ด้านของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ แรงงานกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย มีประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน สำหรับแรงงานที่มีการลักลอบเข้ามาในประเทศไทย โดยเมื่อก่อนมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เข้ามาจัดทำเอกสารสำหรับแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมาย ให้มีความถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันแรงงานงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีส่วนน้อยที่อาจจะยังเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่ทางรัฐบาลและทางกัมพูชาเองก็พยายามหาทิศทางว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้แรงงานส่วนที่เหลือนี้กลายเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ฯพณฯ นายอูก กล่าว

         นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะผู้บริหารโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา กล่าวว่า การที่ ฯพณฯ นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเดินทางมาเยี่ยมพบปะแรงงานชาวกัมพูชาที่โรงงานของบริษัทในวันนี้ นับเป็นขวัญและกำลังใจที่ดีมากต่อชาวกัมพูชาที่มาอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ครอบครัวของแรงงานชาวกัมพูชาว่าทุกคนที่ทำงานในทุกสถานประกอบการของซีพีเอฟได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานไทย และสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ผสานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการดำเนินงานของบริษัท มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนในห่วงโซ่การผลิต สร้างความมั่นใจว่าซีพีเอฟปราศจากการใช้แรงงานบังคับและแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ

         “กิจกรรมในวันนี้ สร้างความสุขและปลื้มปีติของพนักงานชาวกัมพูชา เสมือนมีญาติผู้ใหญ่มาดูแลความเป็นอยู่และการทำงานถึงที่ทำงาน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวของแรงงานชาวกัมพูชาได้เห็นการทำงานและใช้ชีวิตในประเทศไทยที่มีความสุขและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและแรงงานสากล” นายปริโสทัติกล่าว

         บริษัทฯ ยังสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการเติบโต และเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อาทิ เป็นคณะกรรมการด้านต่างๆ เช่น คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เป็นต้น เพื่อให้แรงงานทุกคนเข้าถึงสิทธิที่พึงได้อย่างทั่วถึงและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ร่วมกิจกรรมสืบสานประเพณีของไทยและกัมพูชา กิจกรรมจิตอาสา ส่งเสริมทุกคนทำงานในองค์กรแห่งความสุข

         นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network: LPN) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างชาติในประเทศไทย จัดตั้ง ศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN” ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๙ เป็นศูนย์รับฟังคำเสนอแนะ ร้องเรียน หรือขอคำปรึกษา และความช่วยเหลือของพนักงานแรงงานผ่านองค์กรที่เป็นกลาง ด้วยภาษาต่างๆ ๔ ภาษา ประกอบด้วย ภาษากัมพูชา เมียนมา ไทย และอังกฤษ รวมทั้งการจัดการฝึกอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แรงงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายแรงงานไทย สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และสร้างความมั่นใจให้แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนพนักงานที่เกิดปัญหา รวมทั้งในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังได้ดำเนินการทวนสอบย้อนกลับกระบวนการจัดหาแรงงานตั้งแต่ประเทศต้นทางเพื่อตอกย้ำความโปร่งใสด้านการจัดหาพนักงานของบริษัทฯดำเนินด้วยความถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ปราศจากการบังคับ การค้าทาส และการจัดจ้างที่ผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ ๑๐๐%

         นายปริโสทัต กล่าวย้ำว่า การบริหารจัดการแรงงานด้วยความรับผิดชอบ รวมถึงการส่งเสริมการเคารพในการปฏิบัติงานร่วมกัน และให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีของพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพียงช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับองค์กร ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาของเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

         ด้าน ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานที่โคราชทราบว่ามีประมาณ ๑๖,๐๐๐ กว่าคน และจากที่สอบถามและพูดคุยกับแรงงานชาวกัมพูชาแล้ว เขามีความสุขที่ได้ทำงานที่ซีพีเอฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ หรือค่าตอบแทนที่ได้ จึงทำให้แรงงานกัมพูชายิ้มแย้ม และมีความสุขในการทำงาน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แรงงานกัมพูชาที่มีอยู่ในโคราชส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานด้านก่อสร้าง และด้านการเกษตร

         หลังจากนั้น ฯพณฯ นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชา ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์  รองผู้ว่าฯ และนายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางเยี่ยมชมขั้นตอนการแปรรูปเนื้อไก่ และเดินทางเยี่ยมชมหอพักของพนักงานชาวกัมพูชา รวมถึงพบปะแรงงานชาวกัมพูชา และร่วมแจกอาหาร พร้อมรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งสร้างรอยยิ้มและนับเป็นขวัญให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก

         ปัจจุบัน ซีพีเอฟ มีการจัดจ้างแรงงานต่างชาติทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟ เพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานในการผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัย เป็นชาวกัมพูชาประมาณ ๕,๘๐๐ คน และชาวเมียนมาประมาณ ๓,๕๐๐ คิดเป็นสัดส่วนร้อย ๔๐ ของพนักงานระดับแรงงาน โดยที่ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา มีการจ้างแรงงานกัมพูชาจำนวน ๒,๙๐๐ คน ซึ่งทุกคนเป็นการลูกจ้างของบริษัทฯ ตามนโยบายการจัดจ้างแรงงานโดยตรงของบริษัทฯ ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาคกันสอดคล้องตามกฎหมายและบริษัทฯ รวมถึงโอกาสในการเติบโตในสายงานตามความสามารถโดยไม่เลือกปฏิบัติ


708 1350