19thApril

19thApril

19thApril

 

June 10,2019

พาณิชย์ดันผ้าไหมไทย เพิ่มมูลค่าผงาดตลาดแฟชั่น

          กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นในศักยภาพผ้าไหมไทย เตรียมผลักดันให้ผงาดบนตลาดแฟชั่น เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้า ปรับแนวทางการผลิตนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า เตรียมเดินสายพัฒนาเส้นทางสายไหม อีสาน เหนือ ใต้ สู่แหล่งท่องเที่ยว ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

 

          นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเดินหน้าพัฒนาเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยได้วางกลยุทธ์การพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหมของไทย ๓ ภูมิภาค และมอบหมายให้นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่ ๓ เส้นทาง ประกอบด้วย ๑) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น ๒) ภาคใต้ ได้แก่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ ๓) ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่  โดยสาระสำคัญ คือ การยกระดับ ผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายและการตลาดขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการผลิต เทคนิคเฉพาะ และอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชนเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามและทนทาน รวมถึง หัวใจหลักของการพัฒนาต่อยอด คือ การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมของไทยให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับผ้าไหมไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี

          นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า การพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม จะเริ่มจากการอบรมบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ การค้าและการตลาด สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดหานักออกแบบ และผู้ซื้อ รวมทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติสร้างความภาคภูมิใจเมื่อได้สวมใส่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม ทั้งนี้ ผ้าไหมไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศที่มีความสวยงาม มีความอ่อนนุ่ม เส้นไหมมีความเลื่อมเงางามโดยธรรมชาติ ใส่แล้วภูมิฐาน นอกจากนี้ คุณสมบัติพิเศษของผ้าไหม เมื่ออากาศร้อน...ผ้าไหมจะช่วยคลายร้อน และเมื่ออากาศหนาว...ผ้าไหมบางๆ กลับช่วยให้อุ่นสบาย ซึ่งจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของผ้าไหมไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่หรือใช้งาน ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่านลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหมที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย

          “จากข้อมูลของกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่า ประเทศที่ผลิตเส้นไหมมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับ ๑ จีน อันดับ ๒ อินเดีย อันดับ ๓ อุสเบกีสถาน อันดับ ๔ ไทย อันดับ ๕ บราซิล ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมี  นโยบายเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยลดบทบาทภาคการเกษตรลง รวมทั้งสินค้าด้านหม่อนไหม ซึ่งสามารถเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณการผลิตเส้นไหมที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และคงอัตลักษณ์ในการเป็นไหมไทยโดยแท้ที่เป็นเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ก็จะทำให้ไหมไทยสามารถเจาะตลาดตลาดต่างประเทศได้ไม่ยากโดยเฉพาะตลาดอาเซียน” นาย      วุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้ ผ้าไหมของไทยที่มีชื่อเสียง มีความสวยงาม สามารถสะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เช่น ผ้าจกเมืองลอง จ.แพร่, ผ้ายกดอก จ.ลำพูน, ผ้าจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์, ผ้าแพรวา จ.กาฬสินธุ์, ผ้าโฮล จ.สุรินทร์, ผ้าอัมปรก จ.สุรินทร์, ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี, ผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดา จ.มุกดาหาร, ผ้าสาเกต จ.ร้อยเอ็ด, ผ้าพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี,ผ้ายกเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช และผ้าจวนตานี จ.ปัตตานี ฯลฯ เป็นต้น

          ข้อมูลจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร : สถานการณ์การส่งออกและนำเข้าเส้นไหม ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ไหมของประเทศไทย พบว่า ในปี ๒๕๕๙ มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้น ๔๘๙,๓๓๘,๙๖๕ บาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๘ มีมูลค่าลดลง ๙๗,๐๖๘,๕๖๘ บาท หรือ ลดลงคิดเป็นร้อยละ ๑๖.๕๕ (มูลค่าส่งออกปี ๒๕๕๘ : ๕๘๖,๔๐๗,๕๓๓ บาท) และมูลค่าการนำเข้าปี ๒๕๕๙ รวมทั้งสิ้น ๘๖๓,๙๑๘,๔๕๕ บาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๘ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ๑๔๖,๙๓๕,๐๖๓ บาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๒๐.๔๙ (มูลค่านำเข้าปี ๒๕๕๘ : ๗๑๖,๙๘๓,๓๙๒ บาท)

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๖ วันพฤหัสบดีที่ ๖ - วันจันทร์ที่ ๑๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


695 1342