29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 17,2019

‘มทส.-เบทาโกร’ยกระดับไก่โคราช สร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกร

           มทส.และเบทาโกร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือด้านการยกระดับความสามารถของเกษตรกรในการผลิตไก่โคราชในระบบอาหารปลอดภัย และยกระดับตลาดไก่โคราช ด้วยการขับเคลื่อนในรูปแบบ Social Enterprise

 

           เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. และ นายสุเทพ ดีระพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มผลิตปศุสัตว์ เครือเบทาโกร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือด้านการยกระดับความสามารถของเกษตรกรในการผลิตไก่โคราชในระบบอาหารปลอดภัย และยกระดับตลาดไก่โคราช ด้วยการขับเคลื่อนในรูปแบบ Social Enterprise พร้อมด้วย นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. รศ.ดร.อมรรัตน์ โมนี หัวหน้าศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช มทส. ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องประชุมพจนสาร อาคารพญาไทพลาซ่า กรุงเทพมหานคร

           รศ.ดร.อมรรัตน์ โมนี หัวหน้าศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช มทส. เผยว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อร่วมกันยกระดับความสามารถของเกษตรกร ในการผลิตไก่โคราชในระบบอาหารปลอดภัย และยกระดับตลาดของไก่โคราชให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับคุณภาพของเนื้อไก่ โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการผลิตลูกไก่ และผลิตผลงานวิจัยเพื่อใช้ในการสร้างจุดต่างให้กับเนื้อไก่ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้อย่างเข้มแข็ง รวมถึงการให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถ ในการพึ่งพาตนเองแก่เกษตรกร ในขณะที่บริษัทจะทำหน้าที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาความสามารถแก่เกษตรกรในการผลิตไก่โคราชที่ได้มาตรฐาน รับซื้อไก่จากเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการชำแหละในโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำการตลาด ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงแก่ผู้บริโภค รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค ในเรื่องของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

           ความสำเร็จจากความร่วมมือนี้ จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคเนื้อไก่มากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เกษตรกรรายย่อยของประเทศมีความสามารถในการผลิตไก่ที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง อันเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างอาชีพให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาที่หยั่งรากลึกของประเทศคือความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จจากความร่วมมือ ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาที่หยั่งรากลึกนี้ให้แก่ประเทศไทยต่อไป

ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า จากวัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงกลุ่มตัวอย่างให้กับประเทศชาติ ด้วยการใช้รูปแบบของ Social Enterprise ซึ่งทาง มทส.เองมีจุดมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของ Social Enterprise เป็นอย่างมาก เพื่อต้องการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานของประเทศโดยการใช้ระบบธุรกิจเข้ามาบริหารในหน่วยงานราชการ เพื่อได้ผลิตผลิตภัณฑ์ และส่งคืนให้กับชุมชนและประชาชน ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับความสามารถเกษตรกรไทย และมีเป้าหมายที่จะส่งคืนความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต

           นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร กล่าวว่า ทางเครือเบทาโกรมองมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ในด้านของแหล่งความรู้ ซึ่งทาง มทส.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านการวิจัยต่างๆ และมีใจในการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นอีกเครือข่ายหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชน และ มทส.มีความพร้อมทุกอย่าง จึงทำให้ทางเบทาโกรเห็นว่า หากนำความรู้ทางด้านการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย และด้านการตลาด ร่วมมือกับมทส. ก็จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเกษตรกร ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับความรู้ ความสามารถในการผลิตสัตว์ในระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัยกับเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

           นายสุเทพ ดีระพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มผลิตปศุสัตว์ เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกร ในฐานะผู้นำด้านการผลิตอาหารคุณภาพสูงและปลอดภัย ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านธุรกิจอาหารคุณภาพและปลอดภัย เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของทาง มทส.ที่ได้ทุ่มเท และวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองจนได้เป็นสายพันธุ์ไก่โคราชขึ้นมา ซึ่งมีการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรหลายพื้นที่ ได้แก่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม นำไปเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทางเบทาโกรเองมีความพร้อมทุกด้านที่จะร่วมมือการดำเนินกับทาง มทส. โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่การรับซื้อลูกไก่ จัดส่งลูกไก่ให้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการ อีกทั้ง สนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนา เพื่อให้กระบวนการเลี้ยงได้รับมาตรฐาน และได้รับซื้อไก่มีชีวิตจากฟาร์มเกษตรกร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และผลิตเนื้อไก่สด ซึ่งมุ่งหวังว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับความสามารถด้านการผลิตไก่โคราชในระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย และสนับสนุนการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร พร้อมยกระดับตลาดไก่โคราชให้มีคุณภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืน

           อนึ่ง ไก่โคราชเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาสายพันธุ์ไก่โคราช คือ ให้ไก่เป็นเครื่องมือที่เข้มแข็งในการประกอบอาชีพแก่ เกษตรกร โดยผลงานวิจัยนี้ได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังคงเดินหน้าต่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จและให้แนวทางคำแนะนำในการพัฒนามาโดยตลอด ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กนก ผลารักษ์ รองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดซะ และรองศาสตราจารย์ ดร.          เกรียงไกร โซประการ

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

793 1427