23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

July 05,2019

จิตแพทย์โคราช แนะวิธีป้องกัน “หมดแบตทำงาน” มนุษย์เงินเดือนเลี่ยงขยันเกินเหตุ “ หอบงาน ” ไปทำที่บ้าน

           นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ในการประชุมองค์การอนามัยโลก ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี ๒๕๖๒ ได้มีมติให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟหรือที่เรียกว่าเบิร์นเอาท์ (Burnout) เป็นสภาพที่ต้องเข้ารับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรกและจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลก ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ นับเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพใจที่มักเกิดกับคนวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ  

           ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟนั้น มักจะเกิดกับบุคคลที่สะสมความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไว้มากเกินไปและไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิบัติอย่างเหมาะสม จึงส่งผลกระทบทั้งร่างกายโดยนอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลียและอาจปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง ส่วนทางจิตใจ บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกสิ้นหวัง หงุดหงิดและถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างได้ง่าย รวมทั้งอาจหาทางออกในทางที่ผิด เช่นสูบบุหรี่จัดขึ้น ดื่มหนักขึ้นหรือเที่ยวเตร่ ไปทำงานสายเป็นต้น ผลการศึกษาในต่างประเทศ พบคนทำงานประมาณ ๑ ใน ๔ มีความเครียด โดยร้อยละ ๖๐ มีสาเหตุมาจากการทำงาน

           ด้านแพทย์หญิงภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ประจำ รพ.จิตเวชนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาเมื่อยล้าหมดไฟสามารถป้องกันได้ ประการสำคัญต้องเริ่มจากตัวเอง โดยมีคำแนะนำที่ควรทำ ๖ ประการ ดังนี้ ๑.ยึดหลักสมดุลชีวิต แบ่งเวลาแต่ละวันออกเป็น ๓ ส่วน คือทำงาน ๘ ชั่วโมง นอนหลับพักผ่อน เพื่อซ่อมแซมร่างกายอย่างเพียง ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมง ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ทั้งส่วนตัว ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ๒.ควรจัดลำดับงานสำคัญหรือเร่งด่วน ๓.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ ๓๐ นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย ๓ วัน เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ช่วยสลายความเครียดได้อย่างดีและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ๔.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะประเภทผัก ผลไม้ที่มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดีให้วิตามินซี ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม พืชผักที่มีสีเขียวเข้ม ๕.พูดคุยสร้างอารมณ์ขันในหมู่เพื่อนร่วมงาน ๖.เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ขอให้ปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน อย่าอายการปรึกษาจะช่วยให้คลายข้อคับข้องใจและหาทางออกได้เหมาะสมขึ้น

           พฤติกรรมที่ควรเลี่ยง ลด ละ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาหมดไฟทำงานง่ายขึ้นที่สำคัญและใกล้ตัวมี ๔ พฤติกรรม คือ ๑.อย่าทำงานอย่างหักโหมจะมีผลให้ร่างกายถูกใช้งานมาก เสื่อมโทรมเร็ว ภูมิต้านทานโรคลดลง ๒.อย่าหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน ๓.การใช้เวลาว่างท่องโลกโซเซียล ๔.อย่านำปัญหาในที่ทำงานกลับไปบ้านหรือนำปัญหาจากบ้านไปที่ทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้สะสมความเครียดรวมทั้งเบียดเบียนเวลาในการพักผ่อนให้น้อยลงไปด้วย สัญญานของอาการที่ส่อแววจะหมดไฟทำงานสามารถสังเกตตัวเองได้ ๖ ประการดังนี้ ๑.ความรู้สึกชีวิตมีความสุขน้อยลง ๒.อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ไม่กระตือรือร้น เบื่อเซ็งไม่อยากตื่นไปทำงาน ๓. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ๔.เริ่มมีทัศนคติไม่ดีต่องานที่ทำอยู่หรือมองโลกในแง่ลบ รู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถ ๕.มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ๖.หาตัวช่วยเพื่อให้มีแรงทำงาน เช่นดื่มกาแฟ สูบบุหรี่จัดขึ้น เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว อาจแก้ปัญหาโดยอาจลางานพักผ่อนจะช่วยผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้น หากรู้สึกชีวิตยังไม่มีความสุข อึดอัดใจหรือวิตกกังวลบ่อยๆ ขอปรึกษาเจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ๑๓๒๓ ฟรี ตลอด ๒๔ ชั่วโมง     

 

 


700 1349