28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 02,2019

‘หมอหนู’ย้ำรพ.ตำบลต้องมีแพทย์ประจำ ราษฎรขอนแก่นหนุนปลดล็อกกัญชา

          “อนุทิน” ย้ำชัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้องมีแพทย์ประจำทุกวัน เพื่อให้บริการประชานในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ชาวขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือหนุน สธ.แก้กฎหมาย ปลดล็อกกัญชาโดยเร็วเพื่อเข้าสู่การใช้เป็นยารักษาโรคตามมาตรฐานการแพทย์สากล 

          เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๒ โรงแรมพลูแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุม วิชาการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (National Health R2R Forum) ประจำปี ๒๕๖๒ ภายใต้หัวข้อ “Meta R2R to Value Based Healthcare” ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้น โดยมีบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมรวมกว่า ๓,๐๐๐ คน ทั้งนี้ในช่วงของการประชุมนั้นได้มีกลุ่มเครือข่ายภูมิปัญญาอีสาน เพื่อการพึ่งตนเอง เข้ายื่นหนังสือต่อนายอนุทิน เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายในการนำกัญชา เข้าสู่การพัฒนาสำหรับการใช้งานทางการแพทย์ด้วย

          นายอนุทิน  ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุข ต้องร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้บริการทางสาธารณสุขของไทยให้ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการบรรจุแพทย์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่จะต้องมีแพทย์ประจำในระยะเวลาของการปฏิบัติงานที่ยาวนานยิ่งขึ้นเพื่อที่จะได้ทำการรักษาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ

          “การเจ็บไข้ได้ป่วยบางครั้งไม่ต้องจำเป็นที่จะมารักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลในตัวเมือง อย่างน้อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ้ามีแพทย์ประจำก็จะสามารถคัดกรองให้เราได้ โดยไม่ต้องมาแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ เรากำลังจะพยายามนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้นมาติดไว้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแต่ละแห่งเพื่อที่จะใช้สมาร์ทโฟนเพื่อดูอาการของคนไข้จากโรงพยาบาลไกลๆ ได้ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่าย ลดค่าเดินทางของคนไข้ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ๆ” นายอุนิทน กล่าว

          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับการปลดล็อกกัญชานั้น ขณะนี้ อย.ได้เริ่มให้สถาบันการศึกษา และ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทดลองกระบวนการการปลูกกัญชาแล้ว โดยกำหนดกรอบระยะเวลา  ๕-๖ ปี จะต้องผลิตน้ำมันกัญชา ขวดละไม่เกิน ๕ ซีซี. ให้ได้ ๑ ล้านขวด หรือ ๕ ล้านซีซี. เพื่อที่จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น ลำดับขั้นตอนจะต้องค่อยทำไปทีละขั้น ถ้าการรักษาพยาบาลจากสารสกัดกัญชาได้ผลมากก็จะเป็นบทพิสูจน์วงการแพทย์ไทย

          “เราจะขยายการรักษาพยาบาลให้มากขึ้นเพิ่มไปได้เรื่อยๆ แล้วก็จะได้ไปเริ่มคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคลายล็อกกัญชา และเพื่อเป็นการเข้าถึงบริการของประชาชน หลังจากนี้ก็จะได้นำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในคนป่วยอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราผลักดันมาได้ผลจริงๆ และคนที่ปลูกก็จะสามารถปลูกได้อย่างถูกต้องภายใต้การควบคุมของกฎหมาย”

          ขณะที่นายสุทธี ปุราทะกา ผู้ประสานงานเครือข่ายภูมิปัญญาอีสาน เพื่อการพึ่งตนเอง กล่าวว่า การพัฒนากัญชาสู่การให้บริการทางการแพทย์นั้นเป็นนโยบายที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่เจ้ากระทรวงเดินหน้าผลักดันในเรื่องดังกล่าวถือว่ามาถูกทางแล้วดังนั้นการที่เครือข่ายฯ มาร่วมแสดงพลังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และ สธ. ในครั้งนี้เป็นการแสดงออกและเรียกร้องให้ทุกคนได้เข้าถึงกัญชาได้ทุกภาคส่วน และทุกคน ผู้ที่ไม่ป่วยไม่เป็นโรคก็สามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญคือการสนับสนุนในการปลูกกัญชาคนละ ๖ ต้น แต่อยากให้ปลูกได้ทั่วไป 

          “ขณะเดียวกันเครือข่ายฯ อยากให้ปลดล็อกกัญชา อยากให้มีการยืดเวลาออกไปอีกและให้ปลูกได้อย่างเสรี เพราะเป็นวิถีดั้งเดิมของคนสมัยก่อนโดยใช้กัญชารักษาโรคเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน และการเปิดให้มีการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง” นายสุทธี กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑ - วันจันทร์ที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


768 1418