19thApril

19thApril

19thApril

 

August 20,2019

สวนสัตว์โคราชวิจัยเพาะพันธุ์“ตะโขง” สัตว์ใกล้สูญพันธุ์มุ่งฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ

           เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ส่วนแสดงตะโขง สวนสัตว์นครราชสีมา นายพิทักษ์ อุ่นซ้อน ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา พร้อมนายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา, นายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมเปิดกิจกรรมแสดงผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ “ตะโขง” ในงานจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนดูแลเพาะพันธุ์ “ตะโขง” รวมทั้งบรรยายให้ความรู้ลักษณะทางกายภาพของตะโขง พฤติกรรมในธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงสัตว์ นำชิ้นเนื้อไก่สดผูกติดกับเชือกห้อยกับไม้ไผ่ในลักษณะคันเบ็ดตกปลา หย่อนลงไปเพื่อสาธิตการให้อาหาร เมื่อตะโขงกระโจนจากน้ำขึ้นมาคาบชิ้นเนื้อไก่ลงไปกิน สร้างความหวาดเสียวตื่นเต้น และเสียงฮือฮาให้กับนักท่องเที่ยวที่ยืนชมใกล้ชิดขอบกรงสระ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก 

           ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙–๒๕๖๒ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีตะโขงในความรับผิดชอบ ทั้งหมด ๑๐ ตัว เป็นตัวผู้ ๑ ตัว และตัวเมีย ๙ ตัว ขณะนี้สวนสัตว์นครราชสีมากำลังเพาะขยายพันธุ์ตะโขง ได้จำนวน ๒ รัง หากประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก เตรียมวางแผนจัดโครงการนำปล่อยคืนถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมในธรรมชาติต่อไป

           ทางด้าน นายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยสวนสัตว์ฯ เผยว่า ตะโขง หรือจระเข้ปากกระทุงเหว พบกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๐๓ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.๒๕๐๔ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมักอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อยหรือป่าชายเลน แต่ในปัจจุบันประเทศไทยถือว่าสูญพันธ์ุไปแล้ว ปัจจุบันไม่มีการพบตะโขงอยู่ในป่า หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ หลงเหลืออยู่กับฟาร์มจระเข้ หรือกลุ่มผู้เพาะพันธุ์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ตะโขงถูกจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อหมายเลขหนึ่ง (Appendix I) ในอนุสัญญา CITES คือ ห้ามล่าหรือค้าโดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย สถานะสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ในธรรมชาติ (Extinct in the Wild-EW) 

           ตะโขงถือว่าเป็นสัตว์ หายาก คาดว่ามีพฤติกรรมการจับคู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น โดยทำรังพูนดินและโกยวัชพืชขึ้นบนชายฝั่ง วางไข่ครั้งละ ๒๐-๖๐ ฟอง ระยะฟักไข่ราว ๒.๕-๓ เดือน ฟักเป็นตัวประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม อุณหภูมิและความชื้นมีผลต่อการฟักไข่ของสัตว์ในกลุ่มจระเข้ คือถ้าอุณหภูมิ ต่ำกว่า ๓๑ องศาเซลเซียสลงมา โอกาสในการฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย แต่หากอุณหภูมิตั้งแต่ ๓๓ องศาเซลเซียสขึ้นไป มีโอกาสฟักออกมาเป็นตัวผู้ และอุณหภูมิ ๓๒ องศาเซลเซียส มีโอกาสคละเพศ และหากอุณหภูมิสูงเกิน ๓๔ องศา จะทำให้ตัวอ่อนตาย และศัตรูตัวฉกาจของตะโขงก็คือ ตะกวด เหี้ย ที่คอยกินไข่ของตะโขง ทำให้โอกาสในการรอดชีวิตของลูกตะโขงมีน้อย และลูกตะโขงที่ฟักออกมาใหม่จะเลี้ยงไว้ในตู้อนุบาลหรือบ่ออนุบาลที่มีอุณหภูมิน้ำในระหว่าง ๓๑-๓๒ องศาเซลเซียส อยู่ในที่เงียบ มืด มีอากาศไหลเวียนถ่ายเทอย่างสม่ำเสมอ

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๙ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

717 1349