18thApril

18thApril

18thApril

 

August 22,2019

รง.น้ำตาลแย่งน้ำลำตะคอง ประชาชน ๕ อำเภอยอมไม่ได้

          ชาวสีคิ้ว ยกคณะขึ้นศาลากลางร้อง “ผู้ว่าฯ ช่วยด้วย” ขอให้ระงับการสูบน้ำจากลำตะคองของโรงงานน้ำตาลครบุรี เผยใช้น้ำกว่า ๓ ล้าน ลบ.ม. มากกว่าโรงงานทั้งสีคิ้วรวมกัน 

          สืบเนื่องจาก นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอสีคิ้ว เป็นประธานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กรณีบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรอ KBS ได้ขออนุญาตดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานรับท่อน้ำดิบและโรงสูบน้ำข้ามคลอง บุ่งยาง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว รวมทั้งใช้น้ำดิบจากลำตะคอง เพื่อใช้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ซึ่งบริเวณด้านหน้ามีกลุ่มชาวสีคิ้ว นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล หรือทนายอ๋อย แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านโรงงานต่างๆ ในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมชาวสีคิ้ว จำนวน ๒๐ คนได้มายืนถือป้ายเขียนข้อความคัดค้านการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลครบุรี ใช้น้ำจากลำตะคอง มีข้อความว่า “ผู้ว่าฯโคราชประกาศภัยแล้งทุกปี แต่หน่วยงานราชการต่างๆ กลับซ้ำเติมประชาชน อนุญาตให้โรงงานน้ำตาล มาสูบน้ำจากลำตะคอง แย่งน้ำประชาชน ผู้ว่าฯ ช่วยด้วย”

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล หรือทนายอ๋อย แกนนำกลุ่มผู้คัดค้าน พร้อมด้วยนายไพรัตน์ แซ่อือ ตัวแทนผู้ใช้น้ำจากลำตะคอง นำประชาชนในเขตอำเภอสีคิ้ว กว่า ๔๐ คน ร่วมมอบหนังสือขอความช่วยเหลือคัดค้านโครงการระบบท่อส่งน้ำดิบ ที่จะสูบน้ำจากลำตะคอง ส่งให้โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมกับส่งเสียงว่า “ผู้ว่าฯ ช่วยด้วย” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ จากนั้น นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มารับหนังสือแทนนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเดินทางไปประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดสุรินทร์

          นายไพรัตน์ แซ่อือ ตัวแทนผู้ใช้น้ำจากลำตะคอง กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปีและนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงขยายวงกว้างขึ้น แต่หน่วยงานราชการต่างๆ กลับซ้ำเติมชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำจากลําตะคอง อนุญาต ให้ทางโรงงานน้ำตาลทําโครงการระบบท่อส่งน้ำดิบเพื่อสูบน้ำจากลําตะคองแย่งน้ำกับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอ ชาวนาต้องงดปลูกข้าว โดยอ้างเหตุผลว่าจะสูบน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น ซึ่งในสภาวะปัจจุบันฝนไม่ได้ตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้มากเหมือนในอดีต แม้กระทั่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนแต่นาข้าวในพื้นที่จังหวัดกลับยืนต้นแห้งตายกว่าแสนไร่ เพราะไม่มีน้ำฝนหรือน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานมาหล่อเลี้ยง”

          “นายทุนเจ้าของโรงงานน้ำตาลมีเงินลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงด้วยโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกําลังการผลิตกว่า ๖๐ เมกะวัตต์ ใช้เม็ดเงินในการลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท แต่ไม่ยอมลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อทําการขุดเจาะบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เองกลับมาแย่งสูบน้ำจากลําตะคองกับชาวบ้าน ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำจากลําตะคองในการ ดํารงชีวิตทั้งทางด้านการอุปโภค บริโภค และทางด้านการเกษตร เพราะโรงงานน้ำตาลโรงเดียวต้องใช้น้ำมากถึง ๓ ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มากกว่ายอดรวมของการใช้น้ำทุกโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอสีคิ้วรวมกันทั้งหมด โดยอ้างอิงจากหลักฐานข้อมูลการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมในเขตรับผิดชอบของเขื่อนลำตะคองทุกโรงงาน รวมกันแค่  ๑ ๒๐,๓๖๘ ลบ.ม. คูณด้วย ๑๒ เดือน เท่ากับ ๑,๔๔๔,๔๑๖ ลบ.ม. โรงงานน้ำตาลขอใช้น้ำ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ลบ.ม. ลบด้วย ๑,๔๔๔,๔๑๖ ลบ.ม. เท่ากับ ๑,๕๕๕,๕๘๔ ลบ.ม. เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรงงานน้ำตาลใช้น้ำมากกว่าทุกโรงงานรวมกันเป็นเท่าตัว”

          นายไพรัตน์ กล่าวต่อว่า “ส่วนที่โรงงานน้ำตาลระบุในเอกสารการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า ขอใช้น้ำ ๓ ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ ๑ ของความจุเชื่อนลำตะคอง ทางโรงงานคิดคำนวณจากยอดความเต็มของน้ำในเขื่อน ๓๑๔ ล้าน ลบ.ม. แต่ความเป็นจริงปริมาณน้ำในเขื่อนลําตะคองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีน้ำเต็มความจุเขื่อน ซึ่งย้อนดูเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙ เขื่อนลำตะคองมีน้ำเพียง ๒๒% ของความจุเขื่อน และล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เขื่อนลําตะคองมีน้ำเหลือ ๔๘% ดังนั้นข้อมูลในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และการจัดทํา EIA ที่มีเรื่องการใช้น้ำอยู่ในรายงานนี้ก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี ๕ ก.ม.ของสถานที่ที่จะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมประชุมรับฟังเสนอแนะความคิดเห็นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่มีภูมิลําเนานอกเขตรัศมี ๕ ก.ม. มีทั้งหมด ๕ อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งชาวบ้านทุก อําเภอคือผู้ใช้น้ำจากลำตะคอง เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยตรงจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรน้ำลําตะคองชาวบ้านทุกอําเภอที่อยู่นอกเขตรัศมี ๕ ก.ม. จึงรับไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมแบบนี้”

          “ในเมื่อชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการต่างๆ จะอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลมาแย่งสูบน้ำลําตะคอง เพราะจะทําให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน หากเป็นโรงงานที่ไม่ได้ใช้น้ำในปริมาณมากขนาดนี้ชาวบ้านคงไม่ออกมาคัดค้าน เพราะเข้าใจถึงการพัฒนา ส่วนโรงงานที่ใช้น้ำในปริมาณมากอย่างโรงงานน้ำตาล ต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เอง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกินขีดความสามารถในการลงทุนของเจ้าของกิจการโรงงานน้ำตาล จึงขอความเมตตาจากผู้ว่าฯ ช่วยเหลือผู้ใช้น้ำจากเขื่อนลําตะคองให้ได้รับความเป็นธรรม” นายไพรัตน์ กล่าว

          นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล กล่าวว่า “ตามที่ทาง อําเภอสีคิ้ว ได้สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตําบลลาด บัวขาว อําเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเขตตําบลลาดบัวขาวเกี่ยวกับเรื่อง การขออนุญาตก่อสร้างสะพานรับท่อน้ำดิบและก่อสร้างโรงงานสูบน้ำดิบข้ามคลองบุ่งยาง ตําบลลาดบัวขาว ของบริษัทน้ำตาลครบุรี จํากัด (มหาชน) ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. ในฐานะประธานกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งต้องใช้น้ำจากลําตะคอง ร่วมกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ในเขตบ้านใหม่สําโรง, บ้านถนนคต และตลาดอําเภอสีคิ้ว ไปร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งแจ้งว่า คัดค้านการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลสูบน้ำจากคลองบุ่งยางไปเก็บกักไว้เพื่อการผลิต”

          “ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในวันดังกล่าว มีการปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย พ.ศ.๒๕๔๘ หลายประการ ทั้งยังได้สอบถามนายอําเภอสีคิ้วและเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าว่า การขออนุญาตของบริษัทน้ำตาลครบุรี จํากัด (มหาชน) มีการอนุญาตให้ก่อสร้างหรือยัง ซึ่งก็ได้รับคําตอบจากตัวแทนกรมเจ้าท่าว่า ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ความจริงที่ว่ามีการก่อสร้างและการวางท่อน้ำผ่านคลองไปกว่า ๗๐% แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีการบุกรุก ล่วงล้ำคูคลองแล้ว ถึงแม้ปัจจุบัน จะมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปแล้ว แต่สิ่งที่กระทำถือว่าได้กระทำความผิดเรียบร้อย และหลังจากนี้ หากมีการอนุมัติให้สร้างขึ้น เราก็จะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองต่อไป”

          “สำหรับการสูบน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายชัดเจนมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ แต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่คูคลองกลับละเว้นเพิกเฉยไม่ดําเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทําความผิดแต่อย่างใด ซึ่งการกระทําดังกล่าวเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย จึงต้องการให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดนครราชสีมา ให้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับประชาชนคนอื่นๆ ต่อไป” ทนายอ๋อย กล่าว

          ทั้งนี้ ประชาชนที่มาร่วมได้แสดงภาพถ่ายการก่อสร้างระบบสูบน้ำ ของโรงงานน้ำตาล พร้อมกับมอบป้ายไวนิล ๒ แผ่น ให้กับจังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝากไปยังนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้กล่าวอะไรหลังรับมอบหนังสือจากประชาชน

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


810 1360