25thApril

25thApril

25thApril

 

September 13,2019

ดันโคราชเป็นฮับอุตสาหกรรมภูมิภาค ขับเคลื่อนตามแนวยุทธศาสตร์สู่ ๔.๐

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดสัมมนาโครงการจัดทำแผนแม่บทและแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาในการเป็นจังหวัดที่เชื่อมโยงศูนย์กลางโลจิสติกส์อีสานสู่ภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมสัมมนาโครงการจัดทำแผนแม่บทและแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ (พ.ศ๒๕๖๒-๒๕๖๖) โดยมี ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ, ดร.กนก คติการ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ที่ปรึกษาโครงการ และนายหัสดิน สุวัฒนะพงษ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นวิทยากรบรรยาย พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วม

ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการ จะมีการศึกษาในระดับทุติยภูมิ โดยศึกษาจากกรอบต่างๆ การคัดเลือกภูมิภาค จะใช้หลักทฤษฎี ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมในการคัดเลือก ทั้งนี้ ภาคอีสานนับว่าเป็นภาคที่มีศักยภาพมากที่สุดในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ โดยก่อนหน้าเรามี S-Curve เดิม ๕ อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหาร และท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จากนั้นเรามีการศึกษา New S-Curve เพิ่มอีก ๕ อุตสาหกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, ดิจิทัล, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งหมด ๑๐ อุตสาหกรรม โดยมีการศึกษาว่า อุตสาหกรรมใดเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาโดยให้ภาคอีสานเป็นฐานที่สำคัญ ซึ่งจากการศึกษาอุตสาหกรรมที่เหมาะสมมีทั้งหมด ๓ อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเน้นไปที่สมุนไพร

ผศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบที่ต้นน้ำของภาคเกษตรกรรมผลิตได้ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิปลอดภัย แล้วนำมาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ในส่วนที่ทำการศึกษาและวิเคราะห์ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมนี้ โดยมองที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นฮับวัตถุดิบด้านข้าวหอมมะลิปลอดภัย จังหวัดยโสธร เป็นฮับวัตถุดิบสำคัญด้านข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งจะป้อนให้มีฐานการผลิตรวมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และมีการแปรรูปที่นครราชสีมา รวมทั้งที่ภาคกลาง และมีการส่งออกโดยอาศัยภาคตะวันออกในการส่งออกต่อไป

อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เราจะขับเคลื่อนโดยใช้ภาคอีสานขับเคลื่อนเข้าสู่ ไบโอรีไฟเนอรี่ อินดัสทรี (Biorefinery industry) ให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจังหวัดขอนแก่น เหมาะจะเป็นฮับของอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีฐานผลิตสำคัญ เช่น ฐานอ้อย ที่จังหวัดชัยภูมิ หรือฐานที่จังหวัดอุดรธานี และกาฬสินธุ์ ในขณะที่จังหวัดนครราชสีมาก็เป็นฮับของอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน และสำคัญมากๆ ในการป้อนฐานทั้งอ้อย และมันสำปะหลัง นอกจากนี้มีการเชื่อมโยงไปยังภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งจะเป็นฮับสำคัญในการป้อนวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเน้นไปที่สมุนไพร ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะด้านพืชสมุนไพร ทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยฮับของอุตสาหกรรมนี้เป้าหมายอยู่ที่จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร และนครพนม จากนั้นกลุ่มจังหวัดที่เป็น Herbal City คือ จังหวัดมหาสารคาม สุรินทร์ และอำนาจเจริญ โดยมีการรวบรวมวัตถุดิบ ซึ่งอาศัยจังหวัดนครราชสีมาเป็นฮับโลจิสติกส์ที่จะส่งวัตถุดิบสำคัญต่างๆ เหล่านี้ 

“การศึกษาการขับเคลื่อนทั้ง ๓ อุตสาหกรรมในภาคอีสานว่า จังหวัดใดเป็นฮับที่สำคัญในการรองรับ เราจะศึกษาโดยอาศัยข้อมูลตัวเลข และจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการวิเคราะห์เห็นว่า เป็นจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา โดยขอนแก่นจะเป็นจังหวัดเชื่อมโยงภาคอีสานเข้าด้วยกัน ส่วนนครราชสีมาจะเป็นจังหวัดที่เชื่อมโยงภาคอีสานไปยังภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มา จากการคัดเลือกด้วยหลักวิชาการต่างๆ ทำให้จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นต้องจับมือกันเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง ๓ อุตสาหกรรม และขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ ๔.๐ ให้ได้” ผศ.ดร.เกรียงไกร กล่าว

ดร.กนก คติการ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การวางระบบแผนได้ตราขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญในมาตรา ๖๕ ซึ่งระบุชัดว่า ประเทศไทยต้องวางแผนระยะยาว คือ ๒๐ ปี และในขณะเดียวกันมี ครม.รองรับปี ๒๕๖๒ โดยการทำยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยจากเดิมทีเราทำแผน ๕ ปี จากนั้นจึงมีความคิดว่า ควรทำแผนระยะยาว ๒๐ ปี และมีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ครม.รองรับ จากนั้นจึงมีการวางระดับชั้นของแผน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ

แผนระดับ ๑ แบ่งออกเป็น ๖ ด้าน คือ ด้านความมั่นคง, ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนระดับ ๒ เป็นแผนการปฏิรูปแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และแผนระดับที่ ๓ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และแปลงเข้าสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมนำร่องภาคตะวันออก เฉียงเหนือเป็นหลัก และนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ดร.กนก กล่าวอีกว่า นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยประเทศไทยมีการพัฒนามาตั้งแต่ Thailand 1.0 Agriculture, Thailand 2.0 Light Industry, Thailand 3.0 Heavy Industry กระทั่งมาเป็น Thailand 4.0 Innovative Drive Econorny โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมแรก (First S-Curve) ๕ อุตสาหกรรม กับ New S-Curve อีก ๕ อุตสาหกรรม รวมทั้งหมด ๑๐ อุตสาหกรรม โดยกลไกขับเคลื่อนประกอบด้วย ๑.ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Productive Growth Engine) ๒.สร้างการมีส่วนร่วม (Inclusive Growth Engine) และ ๓.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth Engine) ทั้งนี้จะผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่

“หัวใจหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ประเทศไทย ๔.๐ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง, พัฒนาเมืองศูนย์กลางให้เป็นเมืองน่าอยู่, ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวและบริการ, พัฒนาทรัพยากรบุคคล, ส่งเสริมการค้าชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เข็มทิศในการขับเคลื่อนที่เป็นหัวใจสำคัญคือ นวัตกรรม โดยต้องมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพื้นที่เป้าหมาย มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งในด้านแผนยุทธศาสตร์ และแผนขับเคลื่อน โดยต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกหน่วยงาน และมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการบริหาร BIG DATA ต้องมีการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ และมีศักยภาพ ซึ่งทั้งองค์กรต้องมีการเรียนรู้การบริหารร่วมกัน และผู้รับผลประโยชน์จะเป็นคนบอกว่าเราควรมีการปรับการบริหารอย่างไร” ดร.กนก กล่าว

นายหัสดิน สุวัฒนะพงษ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโลจิสติกส์ภาคอีสานนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากในอนาคต การทำธุรกิจต่างๆ จะมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน หากพื้นที่ของเรามีความเหมาะสม มีความสะดวกในการจัดตั้งการทำธุรกิจ ทำให้การค้าการลงทุนสะดวกมากขึ้น การทำโลจิสติกส์เป็นสาธารณูปโภคอย่างหนึ่งที่ทางรัฐบาลตั้งเป็นนโยบาย ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมายังเป็นฮับของการขนส่งอยู่แล้ว โดยจะการจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่ง ซึ่งเราเน้นทั้ง Truck Terminal และ Dry Port หรือท่าเรือบก ซึ่งในอนาคตจะมีรถไฟทางคู่เข้ามา จะทำให้การขนส่งทางรางนั้นเพิ่ม มากขึ้น และทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง

“สำหรับ Dry Port นั้น เน้นย้ำว่า ต้องมี Truck Terminal ด้วย ซึ่ง Dry Port จะอยู่ในระบบปิด คือมีรั้วกั้นไว้ เนื่องจากต้องเป็นระเบียบศุลกากร เช่น เมื่อโรงงานทราบว่ามี Dry Port เกิดที่โคราช ก็จะทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น ไม่มีกระบวนการในการเสียภาษี ทำให้เกิดความสะดวกกับผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้ในการส่งของ พื้นที่ที่มีการส่งออกจะทำให้เกิดความสะดวกในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น หากส่งสินค้าไปที่แหลมฉบัง แล้วเกิดอุบัติเหตุกลางทาง ความรับผิดชอบจะต้องอยู่กับโรงงาน แต่หากอยู่ในพื้นที่เรา ส่งมาที่ท่าเรือบก ความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่สายเรือทันที ฉะนั้นโรงงานส่วนใหญ่หากนึกถึง ข้อนี้ ก็จะมาตั้งโรงงานใกล้กับท่าเรือ เช่นเดียวกับภาคตะวันออกที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งโครงการ Dry Port เป็นการขยายความเจริญออกไปในระดับภูมิภาค แต่ต้องมีความต้องการจริง มีวัตถุดิบจริงในพื้นที่ เห็นได้จากการที่ทำโครงการนี้ที่ด่านชายแดน ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีการศึกษาลักษณะนี้มา ๑๐ ปีแล้ว ซึ่งทางจังหวัดมหาสารคามเคยมีการศึกษาด่านชายแดน เมื่อมีการศึกษาได้มีการสอบถามทางโคราชว่า จะมีการส่งสินค้าไปหรือไม่ ซึ่งทางเราให้พิจารณาว่า โคราชไม่ใช่ด่านชายแดน และมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งผลการเสนอของจังหวัดมหาสารคามที่ส่งไปยังรัฐบาล เผยว่า การสร้าง Dry Port ที่โคราชดีกว่าสร้างที่ ด่านชายแดน” นายหัสดิน กล่าว 

ด้าน ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ สรุปผลการศึกษาว่า จากการศึกษาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ มากที่สุด และพัฒนาสู่อีสาน ๔.๐ (Isan 4.0) ให้เป็นศูนย์กลางลงทุนและฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตภาคอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาเมืองศูนย์กลางให้เป็นเมืองน่าอยู่ และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมการค้าชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงภูมิภาค และยุทธศาสตร์ที่ ๕ บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมายังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสำคัญในการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมจากภาคอีสานไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


707 1345