24thApril

24thApril

24thApril

 

September 13,2019

กรมการค้าตปท.ลงพื้นที่โคราช นำทูตพาณิชย์ ๒๐ ประเทศ เสริมแกร่งผู้ประกอบการท้องถิ่น

กระทรวงพาณิชย์นำ ๒๐ สุดยอดทูตพาณิชย์จากทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญการทำการค้าในแต่ละประเทศ ลงสัญจรพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบตัวต่อตัว หวังให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง พร้อมทำธุรกิจระหว่างประเทศ

ตามที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการ “Export Clinic 2019 : เจาะลึกโอกาสตลาดต่างประเทศกับทูตพาณิชย์” ภายใต้กิจกรรม “พาณิชย์สัญจรเพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ตลาดโลก” เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่โรงแรมฟอร์จูน ราชพฤกษ์ โดยมีนางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยนายวิทยากร มณีเนตร รองอธิการบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มาร่วมด้วย ท่ามกลางความสนใจจากผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า ๒๐๐ ราย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นต้น

โครงการ “Export Clinic 2019 : เจาะลึกโอกาสตลาดต่างประเทศกับทูตพาณิชย์” จัดขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในการทำตลาดส่งออก ให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อพัฒนาการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งทราบถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดและสินค้าในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนกฎระเบียบทางการค้า รวมทั้งข้อกีดกันทางการค้าที่เกี่ยวกับภาษีและไม่ใช่ภาษี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจส่งออกในแต่ละตลาดได้สอบถามและรับคำแนะนำด้านการทำตลาดส่งออก

โดยภายในงานมี ๒๐ สุดยอดทูตพาณิชย์จากทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญการทำการค้าในแต่ละประเทศลงพื้นที่ด้วย เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบตัวต่อตัว จากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และทูตพาณิชย์ประจำแต่ละประเทศต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศ และเพิ่มยอดส่งออกของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มุ่งเน้นยกระดับบริการภาครัฐด้วยนโยบาย “Sharing Economy” หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน ในการผลักดันผู้ประกอบการจาก Local สู่ Global  ให้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ  โดยใช้หลักแนวคิดจากการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกร่วมกัน ทลายเส้น แบ่งประเภทธุรกิจ ขนาดธุรกิจ กลุ่มพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการช่วยให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้พบปะกับผู้ที่เก่งและมีศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศที่พร้อมจะพากันเดินหน้าไปสู่โลกการค้ายุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้ในอนาคต

“โครงการภายใต้พาณิชย์สัญจร เป็นการให้คำปรึกษา โดยการนำทูตพาณิชย์จาก ๒๐ ประเทศมาให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการในภูมิภาคอีสานว่า มีสินค้าอะไรที่อยากส่งไปต่างประเทศ แต่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการส่งออก หรือควรจะมีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุง ทูตพาณิชย์ก็จะให้คำแนะนำในตรงนี้ ซึ่งได้รับความสนใจเกินคาดจากผู้ประกอบการ สำหรับผู้ที่มีข้อขัดข้อง อยากจะปรับปรุงดีไซน์การออกแบบสินค้าให้ดีขึ้น จะทำให้สินค้าขายได้ราคา และขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ดีมากขึ้น และสามารถส่งออกได้ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ให้คำปรึกษาแบบเฉพาะตัวในเรื่องการออกแบบดีไซน์ และเราได้นำเสนอกิจกรรมในเรื่องการส่งเสริมการตลาด ทั้งเรื่องการส่งออก แสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ หรือด้านการขายออนไลน์ เราอยากให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ทั้งนี้สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้  ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และในที่สุดก็จะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่จำเป็น แค่การแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียว แต่ยังสามารถแข่งขันเรื่องรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้นในการเพิ่มนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวอีกว่า เราเคยมีการจัดกิจกรรมแบบนี้เมื่อหลายสิบปี แต่ทั้งนี้เรามีพาณิชย์จังหวัดที่จะคอยให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันการมาจัดกิจกรรมแบบนี้โดยมีทูตพาณิชย์ให้คำปรึกษาโดยตรงจะเป็น การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับครั้งนี้ เรานำทูตพาณิชย์มาดูแหล่งผลิตสินค้าใหม่ๆ ในจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น มันสำปะหลัง เครื่องปั้นดินเผา รวมถึงการพบผู้ประกอบการเล็กๆ ในหลายผลิตภัณฑ์ ทูตพาณิชย์จะได้มีข้อมูล  ความรู้ว่า ประเทศเราสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย และไม่จำเป็นต้องเป็นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น และภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายในด้านการผลิต  นอกจากนี้จะดูว่า ผู้ประกอบการแต่ละคนเหมาะกับกิจกรรมแบบไหน ก็จะส่งเสริมให้ผู้ที่มีแนวโน้มการทำธุรกิจต่างประเทศได้ดีร่วมกับกิจกรรมของเรา ซึ่งทูตพาณิชย์อาจจะแนะนำชื่อผู้นำเข้า หรือการส่งออกควรติดต่อใคร หรือปรับปรุงเช้าหลักสูตรใดกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมก่อนที่จะทำธุรกิจในต่างประเทศได้

ด้าน นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดย NEA ดำเนินการภายใต้นโยบายของกรมในการปูพรมลงพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มโอกาสและเร่งพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการทั่วประเทศ ให้เกิดความรู้ เพิ่มศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เนื่องจากกรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวและพัฒนาองค์ความรู้แนวใหม่ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางเกวลิน ใบเงิน หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรจมูกข้าว ข้าวยา ตราใบเงิน กล่าวว่า เมื่อก่อนในความเป็นรากเหง้าชาวนา เรามีวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์มาก แต่มีรายได้น้อย เราจึงมีความคิดว่า เราควรทำอย่างไรถึงแม้จะทำน้อย แต่ได้มาก สนใจมาร่วมงานในวันนี้เพื่อที่จะได้นำนวัตกรรมต่างๆ ไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่นในหมู่บ้าน หรือท้องถิ่นของเรามีอะไร ก็จะนำมาปรับร่วมกับนวัตกรรมเหล่านี้ เมื่อก่อนเราคิดว่าขายตามเพจ                เฟซบุ๊ก หรือหน้าร้านอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้การตลาดกว้างขึ้น และวันนี้มีทูตจาก ๒๐ ประเทศมาให้คำแนะนำ จึงสนใจและเข้าร่วม ในวันนี้ นอกจากจะได้รับคำแนะนำแล้ว ยังทำให้ได้พบผู้ประกอบการอีกหลายๆ คน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกันภายในงานนี้ด้วย
ด้านนางรุจิรา ผลิพิมาย จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปฟักข้าวชุมพวง อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งการขายในประเทศก็จะเป็นยอดจากคนกลุ่มหนึ่งภายในประเทศ แต่เมื่อเรามีโอกาสที่จะนำผลิตภัณฑ์ส่งออกไปประเทศรอบๆ เพื่อนบ้านของเราได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดี และอยากทดลอง ซึ่งตนเคยไปศึกษาดูงานที่เสียมเรียบ กัมพูชา ทั้งนี้สินค้าแปรรูปอย่างฟักข้าว หรือสมุนไพรที่เป็นสบู่จากเมืองไทย ชาวกัมพูชาจะชอบ และสนใจ จึงมาศึกษาช่องทางการส่งออก และด้านการตลาด โดยคำแนะนำที่ได้รับวันนี้ก็จะนำไปศึกษาเพิ่มเติม

ต่อมาในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย ตามโครงการ “พาณิชย์สัญจร” แก่ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศและพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาคสู่ตลาดโลก (Local to Global) โดยนาย วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมระหว่างผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้มีการหารือถึงแนวทางในการขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้าของเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตร และสินค้า ท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถขยายสินค้าออกไปสู่ตลาดภูมิภาคของโลกได้ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ ข้าวมันสำปะหลัง ข้าวโพด และผลไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการประชุม ทูตพาณิชย์ยังได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาสินค้าและช่องทางการบุกตลาด ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าหลักจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งออกแล้ว ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์จากข้าว สินค้าแฟชั่น ผ้าย้อมคราม เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และฮ่องกง

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


705 1344