29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 02,2019

ติวเข้มวิสาหกิจ’นครชัยบุรินทร์ เสริมความเข้าใจกัญชา-กัญชง

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาสมุนไพรครบวงจรแห่งประเทศไทยเปิดเวทีสัมมนา “กัญชา กัญชง กับวิถีไท” ให้ความรู้และทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเขตสุขภาพที่ ๙ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องเอ็มซีซีฮอลล์ ชั้น ๓ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือ “หมอแหยง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการ “กัญชา กัญชง กับวิถีไท” โดยเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาสมุนไพรครบวงจรแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.จำนง กมลศิลป์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาสมุนไพรครบวงจรแห่งประเทศไทย นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปราบปรามยาเสพติด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์ อาชีเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย นพ.กวี ไชยศิริ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นพ.สมนึก ศิริพานทอง สมาคมเซลล์บำบัดแห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเขตสุขภาพที่ ๙ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จำนวนกว่า ๓,๐๐๐ คน เข้าร่วมงานในวันนี้

ในส่วนของการสัมมนานั้น มีการบรรยายให้ความรู้และทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง ทางการแพทย์, การขับเคลื่อนทิศทางแนวโน้ม อนาคตพืชกัญชา กัญชงในประเทศไทย, การเปลี่ยนไร่มันสำปะหลังสู่ไร่กัญชง เพื่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเวชสำอางกับความหวังของเกษตรกรยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนพืชกัญชา กัญชง แนวคิดโอกาสหลุดพ้นความยากจนของคนไทยในระดับฐานราก

นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นกัญชาและกัญชง ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการนำกัญชาและกัญชงมาใช้ทางการแพทย์ โดยตั้งเป้าหมายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งมีสาร CBD เพื่อรักษาอาการป่วยและมีคุณสมบัติทำให้เมาน้อยกว่ากัญชา โดยใช้โคราชเป็นเวทีนำร่องของเขตสุขภาพ ที่ ๙ จากนั้นจะกระจายจัดตามเขตสุขภาพที่เป็นที่ตั้งของหัวเมืองภูมิภาค เพื่อพูดคุยนำเสนอข้อมูลรอบด้านให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับการใช้พืชกัญชง การปลูกกัญชงถูกต้องตามกฎหมาย โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป

“นโยบายของรัฐบาลมุ่งหวังให้นำกัญชามาใช้ได้อย่างเสรีทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนกัญชงอยู่ระหว่างผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยขณะนี้กว่า ๘ แสนราย ให้ระมัดระวังพิจารณาเลือกใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ อย่าตกเป็นเหยื่อการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริง หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อนใช้รักษาในปริมาณที่มีสัดส่วนถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้กัญชาและกัญชงจากใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่ต้องรอฟังกฎหมายจะออกมาบังคับใช้ควบคุมพืชกัญชาและกัญชงอย่างไร” นพ.สำเริง แหยงกระโทก กล่าว

ทางด้าน นพ.สมนึก ศิริพานทอง สมาคมเซลล์บำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กัญชง ถือว่าเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมายและกำลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งต้น ใบ เมล็ด เปลือก สามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า ๒๕,๐๐๐ ชนิด ตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นำเส้นใยมาทำเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อีกทั้งทำเสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทำเยื่อกระดาษ (โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์ธนบัตร) วัสดุหีบห่อ ฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก ทำอิฐ (Hempcrete) หรือคอนกรีต สำหรับงานก่อสร้าง ทำส่วนประกอบรถยนต์ ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น พรม เก้าอี้ เป็นต้น

นอกจากนั้นน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ยังใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน วิตามินอี และโอเมก้าสูงมาก โดยนำไปทำเป็นอาหาร เช่น เส้นพาสต้า คุกกี้ ขนมปัง เบียร์ ไวน์ ซอส น้ำมันพืช เนยเทียม ชีส นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม เต้าหู โปรตีนเกษตร หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยรักษาไมเกรน โรคเกาต์ โรคบิด โรคลมชัก อีกทั้งนำไปทำน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ แชมพู โลชั่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว รักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อช่วยดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย จากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดถือได้ว่า กัญชงเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้จริง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงและอุตสาหกรรมอาหารจากกัญชงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากกว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ในทวีปยุโรป เช่น ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน นิวซีแลนด์ มีองค์กรระดับชาติที่ส่งเสริมการปลูกกัญชงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสหรัฐอเมริกามียอดขายผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการผลิตกัญชงมากที่สุด และส่งออกกัญชงไปสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง สร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกรชาวจีน อีกทั้งจีนยังได้จดสิทธิบัตรไว้จำนวนมาก ซึ่งกัญชงยังถูกจัดเป็น ๑ ใน ๕ พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน

นพ.สมนึก ศิริพานทอง สมาคมเซลล์บำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยของเรานั้นสามารถที่จะปลูกไร่มันสำปะหลังควบคู่ไปกับการปลูกกัญชงได้ แต่อย่างไรแล้วเนื่องจากกัญชงเป็นพืชที่ค่อนข้างไวต่อความร้อน หากร้อนมากค่า THC จะสูง และหากสูงเกินกว่า ๒.๐% ก็จะทำให้ผิดกฎหมายได้

ด้าน พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์ อาชีเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของข้อกฎหมาย เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เหตุและผล และด้วยการตัดสินใจว่า จะเสนอร่างกฎหมายที่มีคุณภาพนั้นหรือไม่ เมื่อเสนอไปแล้วทุกคนจะมีโอกาสที่จะมีตัวแทนได้เข้าไปเป็นกรรมธิการ ร่วมกับการพิจารณาข้อกฎหมายอื่นๆ ที่มีคนเสนอเพิ่มเติม และทำให้เป็นกฎกติกาเพื่อให้กัญชา และกัญชงยกระดับคุณภาพชีวิตและทำรายได้เข้าสู่พี่น้องประชาชน 
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยเรียบเรียงบทความเกี่ยวกับกัญชงไว้ว่า “กัญชง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ “กัญชา” (Marijuana) มีสาร CBD (Cannabioil) จำนวนมากและมีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือสารเสพติด (Tetrahydrocannabinol: THC) น้อยมาก ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในกัญชงมีค่า THC ประมาณ ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยกัญชงก็ยังถูกจัดเป็นพืชสารเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ จึงปลูกอยู่ในวงจํากัดเฉพาะในพื้นที่ควบคุมเท่านั้นตามกฎกระทรวงสาธารณสุขปี ๒๕๕๙

กัญชง เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ที่สำคัญปลูกเพียง ๓-๔ เดือน ก็สามารถใช้การได้ ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยหรือกำจัดวัชพืช กัญชงคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่อากาศหนาวเย็นที่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลอย่างน้อย ๖๐๐ เมตร ดังนั้นจึงส่งเสริมให้ปลูกแต่ในภาคเหนือเท่านั้น ประเทศไทยโชคดีที่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่เหมาะสมกับพืชกัญชง จึงสามารถปลูกได้ ๒-๓ ครั้งต่อปีและด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ กัญชงใหม่ๆ จะสามารถปลูกได้เกือบทุกภาค ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตปลูกแบบควบคุมเพียง ๗ จังหวัดเท่านั้น ซึ่งต่อไปจะต้องปลดล็อคกัญชงให้เกษตรกรและเอกชนปลูกโดยขออนุญาตได้ทั่ว ประเทศ และต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับกัญชงของอาเซียน

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๖ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


785 1418