24thApril

24thApril

24thApril

 

October 03,2019

บอร์ดบีไอไออนุมัติ ๔ โครงการใหญ่ มูลค่าลงทุนกว่า ๒๘,๐๐๐ ล้านบาท ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่อุตฯระบบราง

บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบอนุมัติส่งเสริม ๔ โครงการ รวมมูลค่าลงทุนกว่า ๒๘,๐๐๐ ล้านบาท ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทย สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมไฟเขียวมาตรการเร่งรัดการลงทุน หนุนประกอบการ เร่งพัฒนาทักษะบุคลากร พร้อมผลักดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่อุตสาหกรรมระบบรางก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับภูมิภาค

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ ๔ โครงการ รวมมูลค่าลงทุน ๒๘,๒๗๐ ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่

๑.นางสาวณศิภัสร์ จิระโอฬารวิชญ์ กิจการผลิต Polycarbonate Resin เงินลงทุน ๑๘,๔๗๖ ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง เพื่อผลิตโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติโปร่งใส แข็ง เหนียว ทนความร้อนได้สูง สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ โครงการนี้ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้นเป็นมูลค่ากว่า ๙,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกร้อยละ ๔๙

๒.บริษัท เทคโนโลยี แอสเซ็ทส์ จำกัด กิจการ Data Center เงินลงทุน ๔,๔๕๐ ล้านบาท โครงการ ร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการ Data Center ประกอบด้วยบริการรับฝากวางคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการดูแลระบบ และบริการพื้นที่ทำงานสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

๓.บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) กิจการผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์ในถังหมักที่ทันสมัย (Crystallizing Fermentation) ซึ่งจัดเป็นไบโอเทคโนโลยีที่ทันสมัย เงินลงทุน ๒,๗๕๐ ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ ๕๔ ทั้งนี้ บริษัทได้มีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยของประเทศไทย (RUN) เพื่อพัฒนาและต่อยอดความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้วย

๔.Mr.Jiang Yong Ming กิจการผลิตชิ้นส่วนผงโลหะอัดขึ้นรูป ซึ่งจัดเป็น Advanced Material โดยใช้กรรมวิธีการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและใหม่สำหรับประเทศไทย เงินลงทุน ๒,๕๙๔ ล้านบาท เป็นหุ้นจีนทั้งสิ้น ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด ๒ จังหวัดชลบุรี บริษัทแม่ของ Mr. Jiang Yong Ming นับเป็นผู้ผลิตผงโลหะทังสเตนและผงคาร์ไบด์ทังสเตนรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ปัจจุบันมีฐานการผลิตในญี่ปุ่น ไต้หวัน และเยอรมนี

นอกจากนี้ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สืบเนื่องจาก Thailand Plus Package ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ ๒ ด้าน ดังนี้

๑.มาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและกระตุ้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดให้กิจการเป้าหมายในกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๕–๘ ปี ที่ตั้งนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๕๐ เป็นเวลา ๕ ปี ด้วย ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี ๒๕๖๓ และต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ภายในปี ๒๕๖๔
๒.มาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความพร้อมด้านกำลังคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการในการสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการอบรมพนักงานและมีส่วนรวมในการพัฒนานักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งสถานฝึกฝนวิชาชีพ/สถาบันการศึกษาในสาขาด้านวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม (STEM) ระดับสูง โดยแบ่งเป็น ๒ มาตรการ ดังนี้ 

๑) มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรม ให้ ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรไปรวมคำนวณในวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายขั้นต่ำใน ๒ กรณี คือ กรณีที่ ๑ กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ Work-Integrated Learning จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๑ เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม กรณีที่ ๒ กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือส่งพนักงานไปอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ๒ เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายในปี ๒๕๖๔ และก่อนสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ

๒) มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ (บริษัทแม่) ที่ดำเนินธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม หากลงทุนจัดตั้งสถานศึกษา หรือสถานฝึกฝนอาชีพ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาด้าน STEM ระดับสูง และได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้  นิติบุคคลเป็นเวลา ๕ ปี ในวงเงินร้อยละ ๑๐๐ ของเงินลงทุนที่ใช้ลงทุนตั้งสถาบันฯ ส่วนสถาบันฝึกฝนอาชีพ หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้น ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในปี ๒๕๖๔ และผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมในปัจจุบัน

ในขณะที่ นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตผู้ประกอบการไทยกับการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมระบบราง” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ว่า “อุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต”

ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย มีโครงการระบบรางใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น

“โครงการเหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น ทั้งตัวตู้รถไฟ อุปกรณ์ชานชาลา ระบบราง ระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนทั้ง โออีเอ็ม และอะไหล่ทดแทน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น” นางสาวบงกช กล่าว

บีโอไอโดยกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (กพช.) ได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสนับสนุนและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตและมีศักยภาพมากขึ้น และมีโอกาสเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

สำหรับการจัดสัมมนาอุตสาหกรรมระบบรางครั้งนี้นับเป็นการจัดครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมระบบราง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

การสัมมนานี้ นอกจากจะมีการนำเสนอข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทย ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบราง โดยสมาคมอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทย (ซับคอน ไทยแลนด์) ด้วย

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบรางนั้น บีโอไอได้เปิดให้การส่งเสริมใน ๒ ส่วน คือกิจการขนส่งทางราง และกิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง โดยมีสิทธิประโยชน์ ดังนี้

กิจการขนส่งทางราง จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี, กิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๕-๘ ปี โดยมี ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กิจการผลิตขบวนรถและ/หรือตู้รถ เช่น ตู้รถโดยสาร ตู้สินค้า เป็นต้น จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี ๒) กิจการซ่อมรถไฟ หรือชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๕ ปี และ ๓) กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี โดยต้องมีขั้นตอนการผลิตตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

“การส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันจะช่วยให้มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางยังจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน เชื่อมโยงการค้า และการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย” นางสาวบงกช กล่าว

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๖ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


709 1348