26thApril

26thApril

26thApril

 

October 16,2019

กังวล LRT ผ่านย่านเศรษฐกิจ อ้างถนนแคบบังร้านค้า ‘วิเชียร’เสนอวิ่งใต้ดิน?

ยังกังวลสำหรับรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียว ไม่ตอบโจทย์ หวั่นวิ่งผ่านเมืองกระทบธุรกิจในพื้นที่ ปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่น เน้นตอบโจทย์ประโยชน์ของชาวโคราชส่วนใหญ่ ‘วิเชียร’ แนะให้กลับไปดูอีกครั้งว่า จะสามารถทำเป็นระบบใต้ดินได้หรือไม่

 

ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดระบบการจราจรจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แผนแม่บทการจัดระบบการจราจร และแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหลักจังหวัดนครราชสีมา และดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม โดยเชื่อมโยง โครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ โดย สนข. ได้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) หรือ Tram way เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการ ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้แนวถนนมิตรภาพ และเลี้ยวเข้าถนนสืบศิริ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กม. ๒๐ สถานี และสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กม. ๑๙ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๒.๑๖ กม. ๑๗ สถานี และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง หลังจากนั้นมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยเริ่มจากสายสีเขียว

จากนั้น ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) ซึ่งตัวแทนหลายภาคส่วนกังวล เส้นทางเชื่อมต่อยังไม่ครอบคลุม เสี่ยงขาดทุน แนะ ‘การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)’ ศึกษา ปรับเส้นทางใหม่ให้ครอบคลุม 

โดยเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๓๐ น. ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายสมเกียรติ  วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน รับฟังผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงแผนการดำเนินงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) เส้นทางสายสีเขียว เนื่องจากเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีนและการฟื้นฟูสภาพตัวเมืองเก่า มีจุดเริ่มต้นตลาดเซฟวันถึงสถานีคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ ๑๑.๑๗ กิโลเมตร รวมสถานีจำนวน ๒๐ แห่ง เช่น ตลาดเซฟวัน, สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมา, สวนภูมิรักษ์, เทศบาลนครนครราชสีมา, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม), โรงเรียนสุรนารีวิทยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ๑๔ บาท และเพิ่ม ๑ บาท คิดจากจำนวนสถานีปลายทาง หากชาวโคราชเห็นชอบและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ขั้นตอนต่อไปเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติ เบื้องต้นประมาณการกิโลเมตรละ ๗๕๒ ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ ๘,๔๐๐ ล้านบาท สามารถดำเนินโครงการได้ช่วงปลายปี ๒๕๖๔ ใช้เวลาก่อสร้าง ๓-๔ ปี ประมาณช่วงปลายปี ๒๕๖๘

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า บทสรุปหลายฝ่ายมีข้อกังวลเส้นทางสายสีเขียว ช่วงผ่านถนนมุขมนตรีและถนนสุรนารี ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจกลางเมือง ในระหว่างก่อสร้างและแล้วเสร็จโครงการ เนื่องจากความกว้างของพื้นผิวจราจรค่อนข้างคับแคบและบางช่วงเป็นคอขวด จะส่งผลกระทบด้านการจราจรอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ รวมทั้งไม่มีที่จอดรถและอาคารสถานีบดบังร้านค้า รวมทั้งได้เสนอแนะหากเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ ก็ควรขยายสถานีเริ่มจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษามัธยมชื่อดังประจำจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียนกว่า ๔ พันคน และสิ้นสุดที่ทางแยกจอหอที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากตำบลรอบนอกและอำเภอสำคัญๆ

“อย่างไรก็ตาม ตนได้ชี้แนะให้บริษัทที่ปรึกษา รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมใหญ่และกลุ่มย่อย ประกอบการพิจารณารูปแบบและให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะกายภาพของท้องถิ่นและไม่เกิดความขัดแย้งเห็นต่างจัดทำโมเดลนำเสนอให้ภาคประชาชนขอมติในการดำเนินโครงการ เน้นตอบโจทย์ประโยชน์ของชาวโคราชและส่งผลกระทบต่อการเดินทางน้อยที่สุด” นายวิเชียร กล่าว

ต่อมาวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า จากที่มีการประชุมวานก่อน (๑๑ ต.ค. ๒๕๖๒) บริษัทที่ปรึกษาได้รายงานผลให้ทราบจากกรณีที่มีการประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ ๑ ที่เคยเสนอให้มีการเพิ่มเส้นทาง ซึ่งมีการเปรียบเทียบจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เมื่อมีการเปรียบเทียบดูแล้ว เส้นทางเดิมที่เป็นสายสีเขียวมีความเหมาะสมมากกว่า และเสนอว่า การก่อสร้างจะใช้เป็นระบบ LRT จะดีกว่า ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงเพิ่มเติมว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ ทำไมจึงไม่ทำเส้นที่ผ่านถนนมิตรภาพ เดอะมอลล์ เทอร์มินอล ๒๑ โคราช และไปเส้นสุรนารายณ์ ซึ่งตนเห็นว่าถ้าเป็นเส้นทางนี้ ประชาชนที่ใช้บริการน่าจะมีมากกว่า

ทั้งนี้ สนข.คาดว่าจะมีรถไฟมาเชื่อมอยู่ที่สถานีรถไฟ ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ดังนั้นการประชุมครั้งต่อไป อาจจะต้องให้ทาง สนข.มาตอบข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนธันวาคม นอกจากนี้ เมื่อมีการก่อสร้าง LRT จะมีต้องดูว่าระหว่างการก่อสร้างจะทำอย่างไรกับด้านธุรกิจในพื้นที่ เนื่องจากเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีบางช่วงที่มีช่วงถนนแคบมาก ด้านการจราจร รถยนต์ทั่วไปจะสามารถวิ่งได้หรือไม่ ตนจึงให้กลับไปดูอีกครั้งว่าจะสามารถทำเป็นระบบใต้ดินได้หรือไม่

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า มีการเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว รถจะต้องวิ่งทั้งสองฝั่งทำให้รถยนต์จอดบริเวณร้านค้าไม่ได้ อาจทำให้เกิดผลกระทบธุรกิจ มีบางท่านที่นำเสนออีกว่าทำไมจึงไม่ทำเป็นระบบล้อยาง ซึ่งบริษัทที่ปรึกษายังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง จึงยังไม่สามารถตอบได้ส่วนตรงนี้เพิ่มเติมได้ 

“ส่วนตัวผมคิดว่าหากใช้เส้นทางที่วิ่งผ่านโรงพยาบาลต่างๆ จะดีกว่า เนื่องจากว่าปัจจุบันมีประชาชนเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้ทาง สนข.ศึกษาว่าสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ไหม ทั้งนี้ผมเห็นว่าไม่ว่าจะเริ่มสายไหนก่อนก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนโคราชอยู่แล้ว” นายวิเชียร กล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายอภิชาติ สมทอง ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ทางบริษัทได้นำเสนอความก้าวหน้าว่ามีการศึกษาถึงขั้นตอนใดแล้ว จากที่ทางจังหวัดได้แนะนำแนวเส้นทางมาว่า หากวิ่งเส้นถนนมิตรภาพแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งให้ทางบริษัทที่ปรึกษาไปศึกษาเพิ่มเติม เมื่อศึกษาตามปัจจัยในการคัดเลือกของ สนข. ซึ่งการศึกษาของ สนข.ต้องการที่จะพัฒนาเมืองเก่าของโคราช จึงทำให้สายสีเขียวยังมีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก คจร.ด้วย ในส่วนงานระบบจากการศึกษาเห็นว่าจะใช้เป็นระบบแทรม

ในส่วนของการขยายเส้นทางจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และไปถึงจอหอ นายอภิชาติ ชี้แจงว่า ตาม TOR เราได้โจทย์ให้เริ่มจากเซฟวัน ถึงบ้านนารีสวัสดิ์ หากต้องการที่จะขยายจากหน้าเซฟวันไปเป็นโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จะเป็นช่วงส่วนต่อขยาย ซึ่งยังไม่ได้รับงบประมาณ หากทำทาง รฟม.ต้องขยายงบประมาณเพิ่ม ซึ่งงบที่เราได้มาในขณะนี้ยังไม่ครอบคลุม
“เรื่องค่าโดยสารทางผู้ศึกษาด้านจราจรกำลังคิดราคาว่าจะอยู่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วคาดว่าจะไม่เกิน ๒๐ บาท ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นว่าสายสีเขียวยังคงเป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามแนวเส้นทางนี้เป็นมติของ คจร.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอนุมัติเห็นด้วยกับแผนแม่บท ซึ่งสายนี้จะรองรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งหากเป็นเส้นอื่นอาจยังไม่รองรับ” นายอภิชาติ กล่าว

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


712 1347