29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 24,2019

เปิดคลินิกนอกเวลา‘เอ็มพาร์ค’ ลดแออัดผู้ป่วยรพ.มหาราชฯ

หมอแหยง’ตรวจเยี่ยม โครงการร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล และคืบหน้าความพร้อมการเปิดคลินิกพิเศษแพทย์นอกเวลาราชการ ที่ “เอ็มพาร์ค” เผยอยากให้เปิดรับช่วงปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้คนโคราช

 

เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๓๐ น. ที่ศูนย์การค้าเอ็มพาร์ค ชั้น ๕ ด้านหลังอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นพ.สำเริง แหยงกระโทก (หมอแหยง) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล” และคืบหน้าความพร้อมการเปิดคลินิกพิเศษแพทย์นอกเวลาราชการ หรือ Special Medical Clinic : SMC โดยมีนายอภิเดช พิริยะพงศ์ศักดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไลฟ์เดเวล็อปเมนท์ จำกัด และผู้บริหาร พนักงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมที่จังหวัดนครราชสีมา โดยช่วงเช้าได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และมาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องลดความแออัด ซึ่งมีการดำเนินการสำหรับโรงพยาบาลในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีอยู่หลายวิธีที่จะลดความแออัดได้

“ส่วนสำคัญอีกวิธีหนึ่งคือการมี Special Medical Clinic : SMC หรือการเปิดคลินิกนอกเวลา เพราะในเวลาการให้บริการตามปกติ อาจมีผู้ป่วยมาใช้บริการค่อนข้างมาก ทั้งนี้การเปิดคลินิกนอกเวลา จะทำให้ผู้ป่วยที่ทำงานในเวลาราชการ สามารถมาใช้บริการคลินิกนอกเวลาได้ ก็จะทำให้ช่วงเวลาราชการสามารถลดความแออัดลงได้ ในเรื่องของนอกเวลาอาจจะมีปัญหาว่าจะเปิดส่วนใดได้บ้าง ในวันนี้จึงได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมคลินิกพิเศษนอกเวลาของโรงพยาบาลมหาราชฯ โดยเป็นนวัตกรรมความร่วมมือกับภาคเอกชนคือ ศูนย์การค้าเอ็มพาร์ค ถือว่าเป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากมีทั้งลานจอดรถ ร้านอาหาร การอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ประชาชน ซึ่งถ้าเปิดได้ช่วงก่อนปีใหม่ ถือว่าเป็นของขวัญให้กับชาวโคราชอีกชิ้นหนึ่ง” นพ.สำเริง กล่าว

นายอภิเดช พิริยะพงศ์ศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท ไลฟ์เดเวล็อปเมนท์ จำกัด ผู้ประกอบการศูนย์การค้าเอ็มพาร์ค กล่าวว่า ในสายตาของตนเห็นว่า ขณะนี้พื้นที่พร้อมที่จะให้บริการ ขึ้นอยู่ว่าจะเริ่มกำหนดวันเปิดเมื่อใด ซึ่งคาดว่า คลินิกพิเศษแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวโคราช ทั้งนี้ เรามีความภูมิใจที่อย่างน้อยเราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมพัฒนาการให้บริการกับพี่น้องประชาชน

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีจำนวนเตียงให้บริการผู้ป่วยมากกว่า ๑,๓๐๐ เตียง มีผู้ป่วยใน (IPD) เฉลี่ยประมาณ ๑๖๔๔ รายต่อวัน การให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยกว่า ๔,๐๐๐ รายต่อวัน และมากกว่า ๑ ล้าน ครั้งต่อปี จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดดำเนินการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการ เพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกนั้น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมามีการบริหารจัดการในหลายเรื่อง ได้แก่ โครงการร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ โดยให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.๑) เป็นการเพิ่มทางเลือก เพิ่มความสะดวกของประชาชนผู้มารับบริการ สามารถรับยาที่ร้านยาที่ร่วมโครงการใกล้บ้านตนเองได้ ทั้งนี้ผู้มารับบริการสามารถแจ้งความจำนงขอรับบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ตามความสมัครใจ ซึ่งการดำเนินการตามโครงการนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจะสามารถลดความแออัดของผู้ป่วยที่มารอรับยาได้ในระดับหนึ่ง โดยห้องยาจะดำเนินการจัดยาให้แก่ผู้ประสงค์จะขอรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ในช่วงเวลาอื่น ที่ไม่แออัดผู้ป่วยจำนวนน้อยๆ เช่น ช่วงเวลาบ่าย-เย็น หรือช่วงเช้าในวันถัดไป หรือนอกเวลาราชการ เมื่อจัดเสร็จแล้วจะรวบรวมจัดกลุ่ม แล้วนำส่งยาดังกล่าวไปยังร้านยาที่ร่วมโครงการต่อไป

“ดังนั้น ในช่วงเวลาราชการดังกล่าว ห้องยาจะสามารถให้บริการแก่ผู้ป่วย/ผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาลได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าผู้มารับบริการจะมีความพึงพอใจที่ดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่ไปรับยาที่ร้านยานั้น เบื้องต้น ขอให้ผู้ป่วยที่พร้อมหมายถึง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ๔ โรคที่มีอาการคงที่ อาการควบคุมได้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่มีอาการคงที่ และแพทย์อนุญาตให้รับยาที่ร้านยาได้ สามารถติดต่อได้ที่ห้องยาชั้น ๑ อาคารผู้ป่วยนอกฯ เพื่อเลือกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ ใกล้บ้าน ซึ่งห้องยาชั้น ๑ จะมีแผนที่ร้านยาที่เข้าโครงการให้ผู้ป่วยเลือกร้านยาโดยสมัครใจ เมื่อเลือกได้แล้ว จะให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมรับยาที่ร้านยาโดยสมัครใจและกลับบ้านได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถจะฝากห้องยาแจ้งร้านยาเพื่อนัดหมายวันเวลาที่สะดวกจะไปรับยาที่ร้านยาได้ด้วย และทุกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นร้านยาคุณภาพ มีเภสัชกรที่มีความรู้ความสามารถ และมีเวลาในการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ยาได้เป็นอย่างดีเทียบเท่ากับเภสัชกรที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จึงให้ความมั่นใจได้ว่า การรับยาที่ร้านยาตามโครงการฯ จะไม่มีความแตกต่างกับการรับยาที่โรงพยาบาลฯ” ผู้อำนวยการ      โรงพยาบาลมหาราชฯ กล่าว

นพ.ชุติเดช กล่าวอีกว่า คลินิกพิเศษแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการ หรือ Special Medical Clinic : SMC โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็น ๑ ใน ๗ โรงพยาบาลนำร่องของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความแออัดในการรับบริการโดยแพทย์เฉพาะทางในเวลาราชการ ลดระยะเวลารอคอยปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และยังยกมาตรฐานการบริการของโรงพยาบาลรัฐให้เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ เพื่อให้ประชาชนสะดวกสบาย สามารถใช้บริการช่วงนอกเวลาราชการได้ โรงพยาบาลจึงจัดบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยภาคเอกชนสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของอาคารเอ็มพาร์ค ไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของเครื่องมือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเปิดให้บริการที่ ชั้น ๕ ของอาคารเอ็มพาร์ค ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารผู้ป่วยนอกฯ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริการคลินิกพิเศษแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการ เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๔,๕๐๐ ราย ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเกินร้อยละ ๙๕

ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์ (CBD Clinic) นายแพทย์ชุติเดช เผยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ จัดบริการให้คำปรึกษาเบื้องต้น โดยทีมแพทย์แผนไทย เภสัชกร (ผู้ผ่านการอบรม) และพยาบาล จำแนกตามการติดต่อ ผู้ป่วยมาขอรับการปรึกษาทั้งหมด ๕๓๗ ราย เป็นผู้ป่วยมาปรึกษาที่โรงพยาบาล จำนวน ๔๑๗ ราย โทรศัพท์ปรึกษาและส่งต่อรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน ๑๒๐ ราย จำนวนผู้ป่วยที่รับคำปรึกษาจำแนกตามโรคพบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยมะเร็ง ๒๓๐ ราย และจากการให้คำปรึกษาพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการใช้น้ำมันกัญชา จำนวน ๒๔ ราย เข้าเกณฑ์การใช้ยาตำรับแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จำนวน ๘๐ ราย นอกจากนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมายังได้รับการสนับสนุนยาตำรับแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ๒ รายการ ได้แก่ ตำรับยาศุขไสยาศน์ และตำรับยาทำลายพระสุเมรุ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.๐๔๔-๒๓๕๙๗๒ และ ๐๔๔-๒๓๒๒๔๐ ในวันเวลาราชการ

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๙ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


832 1455