29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 30,2019

มทส.ปลื้มอีกครั้งถูกจัดอยู่อันดับ ๙ มหาวิทยาลัยดีที่สุดในประเทศไทย

U.S. จัดให้ มทส.ติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่ดีที่สุดในจำนวน ๑,๕๐๐ แห่ง และเป็นอันดับที่ ๙ ของไทย อยู่ในอันดับที่ ๓๕๘ ของเอเชีย และอยู่ในอันดับที่ ๕๔๕ ของโลกในสาขาวิชาฟิสิกส์ อธิการบดีสุดปลื้มแสดงถึงความเข้มแข็งด้านวิชาการ 

 

เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า จากการประกาศผลการจัดอันดับของ U.S. News & World Report ซึ่งได้ประกาศผลการจัดอันดับ “มหาวิทยาลัยโลกที่ดีที่สุด” หรือ “U.S. News & World Report 2020 Best Global Universities Rankings” จำนวน ๑,๕๐๐ อันดับ จาก ๘๑ ประเทศ โดยเน้นที่ผลงานการวิจัยและความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่ได้อันดับ ๑ ได้แก่ Harvard University ส่วนในภูมิภาคเอเชีย มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ ๑ ได้แก่ National University of Singapore 

สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น ๙ แห่ง โดย มทส.อยู่ในอันดับที่ ๑,๒๔๙ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ ๓๕๘ ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย และอันดับที่ ๙ ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทย 

นอกจากนี้ ในการจัดอันดับระดับสาขาวิชา สาขาวิชาฟิสิกส์ของ มทส. ได้รับการจัดอันดับที่ ๕๔๕ ของโลก เป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศไทย รองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกของประเทศไทยเรียงตามคะแนนรวม ได้ดังนี้ ๑.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ ๕๒๒ (๔๘.๒ คะแนน) ๒.มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ ๕๒๒ (๔๘.๒ คะแนน) ๓.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ ๘๙๓ (๓๖.๔ คะแนน) ๔.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับที่ ๑,๐๐๖ (๓๒.๖ คะแนน) ๕.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ ๑๐๔๔ (๓๑.๖ คะแนน) ๖.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับที่ ๑,๐๕๓ (๓๑.๔ คะแนน) ๗.มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับที่ ๑,๐๕๙ (๓๑.๓ คะแนน) ๘.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ ๑,๒๑๘ (๒๖.๕ คะแนน) และ ๙.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ ๑,๒๔๙ (๒๕.๖ คะแนน)

ทั้งนี้ ในการจัดอันดับครั้งนี้ U.S. News & World Report ใช้ข้อมูลด้านการวิจัยจากฐานข้อมูล Web of Science และเป็นข้อมูลในช่วงปี ค.ศ.๒๐๑๓-๒๐๑๗ สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับประกอบด้วย ๑๓ ตัวชี้วัดและมีน้ำหนักคะแนนแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้ Global research reputation (๑๒.๕%), Regional research reputation (๑๒.๕%), Publications (๑๐.๐%) Books (๒.๕%), Conferences (๒.๕%),  Normalized citation impact (๑๐%), Total citations (๗.๕%),

Number of publications that are among the ๑๐% most cited (๑๒.๕%), Percentage of publications that are among the ๑๐% most cited (๑๐%), International collaboration (๕%), Percentage of total publications with international collaboration (๕%), Number of highly cited papers that are among the top ๑% most cited in their respective field (๕%) และ Percentage of total publications that are among the top ๑% of most highly cited papers (๕%)

“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการของ มทส. ที่อยู่ในระดับสากล” รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด  

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๐ วันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม - วันอังคารที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


778 1411