20thApril

20thApril

20thApril

 

December 11,2019

ธปท.สรุปภาวะเศรษฐกิจอีสาน ตุลา’ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัว ลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น

เศรษฐกิจอีสานเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งหดตัวน้อยลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น 

 

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) สรุปภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ซึ่งยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการขยายตัวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจําวัน ที่ได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้านผลผลิตสินค้าเกษตร ยังขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีด การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว ตามรายจ่ายประจํา ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ตามการลงทุนในหมวด เครื่องจักรและอุปกรณ์  เป็นสําคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ตามราคาน้ำมัน ขายปลีกในประเทศที่ลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ชะลอลง ตามราคาเนื้อสัตว์ แป้ง และ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ด้านอัตราการว่างงานปรับฤดูกาลลดลง จากผู้มีงานทํานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นในทุกสาขา สําหรับ ภาคการเงินเดือนกันยายน ๒๕๖๒ เงินฝากและสินเชื่อขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน

ทั้งนี้ ในด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจําวันที่ได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (โครงการชิมช้อปใช้) และรายได้นอกภาคเกษตรกรรมที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายสินค้าคงทนหดตัวในทุกประเภท ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ สําหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยวขยายตัว สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรม และค่าห้องพักเฉลี่ยที่ขายได้จริงเพิ่มขึ้น ตามจํานวนผู้เยี่ยมเยือน ที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งจากการจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก (โมโตจีพี ๒๐๑๙) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มียอดผู้เข้าชมมากกว่าปีก่อน ประกอบกับนักท่องเที่ยวในอุทยานป่าหินงาม(ชัยภูมิ)เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลง จากผลของราคาข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ที่ชะลอลง เนื่องจากผลผลิตใหม่เริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น จากผลผลิตยางพารา ที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีดเป็นสําคัญ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว ตามรายจ่ายประจําที่ขยายตัวในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของงบกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว จากหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวน้อยลง แต่การผลิตโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ตามการปรับลดสินค้าคงคลังของคู่ค้าจากต่างประเทศ การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยที่คลี่คลาย และการกลับมาผลิตตามปกติหลังปิดปรับปรุงสายการผลิต ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การผลิตเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษหดตัว   ต่อเนื่อง ตามการส่งออกที่ลดลง และการผลิตน้ำตาลทรายหดตัว จากที่เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง และการลงทุน ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวมากขึ้น ตามการลงทุนของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และการจดทะเบียน รถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว ส่วนมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกและนําเข้า โดยการนําเข้าหดตัวจาก อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจากจีนตอนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ที่หดตัวตามภาคการผลิต ด้านการส่งออกหดตัว จากการส่งออกไป สปป.ลาว ในผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ตามความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชน ใน สปป.ลาว จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ ๐.๔๙ ลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ชะลอลง ตามราคาเนื้อสัตว์ และแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ด้านอัตราการว่างงานปรับฤดูกาลลดลง ตามผู้มีงานทํานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นในทุกสาขา ขณะที่ผู้มีงานทําภาคเกษตรกรรมลดลง

ในขณะที่ภาคการเงิน เงินฝากและสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน โดยเงินฝากคงค้างธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวสูงขึ้น จากโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ทยอยเบิกจ่าย ด้านยอดสินเชื่อคงค้างธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูงขึ้นจากสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคและเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจหดตัวน้อยลง ด้านสถาบันการเงิน เฉพาะกิจขยายตัวเท่ากับเดือนก่อน

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๖ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


709 1343