18thApril

18thApril

18thApril

 

December 19,2019

ตัดถนนผ่าน‘เทคโน-ราชภัฏ’ ‘สุรวุฒิ’ไม่กังวลเรื่องเงิน

เทศบาลนครโคราชหารือ ๒ มหาวิทยาลัยชื่อดัง จ่อตัดถนนใหม่เชื่อมสุรนารายณ์-วัดศาลาลอย ผู้ช่วยอธิการ มทร.อีสาน เผยอยู่ในขั้นพูดคุยยังไม่สรุปว่าจะทำหรือไม่ ด้าน “สุรวุฒิ” อ้างทำเพื่อนักศึกษาและประชาชน หวังลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ ลั่นไม่กังวลเรื่องงบ มั่นใจช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

สืบเนื่องจาก วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมแคแสด ชั้น ๒ อาคารสำนักงานกิจการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และคณะผู้บริหารจากทั้ง ๓ หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมวางแผนแนวทางร่วมกันพัฒนาโครงข่ายถนนให้กับเมืองโคราชระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จากความต้องการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน บริเวณสามแยกไฟแดง ถนนราชสีมา-โชคชัย ตัดกับถนนสุรนารายณ์ โดยเริ่มต้นจากการขอพื้นที่ระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายถนนเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ของการเดินทางให้กับประชาชน โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการร่วมหารือแนวเส้นทางถนนและแนวทางการลงรายละเอียดของการออกแบบถนน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ได้กล่าวหลักการเบื้องต้นว่า “พันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ คือ การสร้างคุณูปการให้กับสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองมหาวิทยาลัย ถ้าความร่วมมือครั้งนี้สามารถช่วงบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับเมืองโคราช และสร้างความเป็นสาธารณประโยชน์ให้กับชาวเมืองได้ มทร.อีสาน มีความยินดีอย่างยิ่ง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “นโยบายของนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับโอกาสการพัฒนาเมืองไว้ว่า พื้นที่ระหว่างสองมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาเป็นถนนแห่งศิลปกรรมสร้างสรรค์ของเมือง ที่สร้างความสง่างามและอัตลักษณ์ให้กับเมืองได้”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุธานันธ์ โพธิ์ชาธาร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ให้แนวคิดด้านความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยจากการพัฒนาพื้นที่ถนนสาธารณะ และประเด็นด้านผลกระทบของถนนที่มีความใกล้ชิดกับอาคารที่มีอยู่แล้วมากเกินไป จะส่งผลกระทบด้านลบให้กับมหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เสนอแนวคิดในการพิจารณาด้านลำดับศักย์ถนน กับแนวทางการออกแบบถนนเพื่อสร้างกิจกรรมของเมืองและกิจกรรมระหว่างสองมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ถนนที่สร้างใหม่ควรพิจารณาลำดับศักดิ์ถนนเป็นสายรองจากถนนสายหลักสุรนารายณ์ ซึ่งเป็นเพียงทางเลือกของการเดินทางที่จำเป็นต้องมีการควบคุมปริมาณและความเร็วรถจากการออกแบบรายละเอียดของถนน ตลอดจนองค์ประกอบของถนนควรเอื้อให้เกิดกิจกรรมระหว่างสองมหาวิทยาลัย และส่งเสริมการใช้พื้นที่สองมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่นันทนาการและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของเมือง โดยอาศัยถนนดังกล่าวเป็นตัวเชื่อมโยงกิจกรรมของพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนโคราช ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณูปการให้กับเมืองโคราช อาทิ พื้นที่อาคารอนุรักษ์คุรุสัมมนาคารราชมงคลอีสาน พื้นที่วิ่งกลางแจ้งสนามกีฬาราชภัฏ ตลอดทั้งการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำลำตะคอง เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการประชุมได้สร้างแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงข่ายถนน ๔ ทางเลือก โดยแนวคิดในการประชุมมีหลักการ ได้แก่ ๑.สร้างผลกระทบกับสองมหาวิทยาลัยน้อยที่สุดจากการสร้างถนนสาธารณประโยชน์ ๒.การเสียพื้นที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด แต่สร้างคุณูปการทั้งด้านการแก้ปัญหาการจราจร การนันทนาการ และโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ๓.เชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาความสัมพันธ์ของลำดับศักย์ของถนนเป็นสำคัญ ตลอดจนผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมจากการพัฒนาโครงข่ายถนนดังกล่าว มติที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังภาพ ซึ่งจะสามารถบูรณาการแนวคิดที่กล่าวขึ้นมาทั้งหมดได้ 
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงศ์ทร สาตรา รองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมและพัฒนากิจการมหาวิทยาลัยและปฏิบัติหน้าที่ด้านกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มทร.อีสาน ได้ดำเนินการสำรวจเบื้องต้นแล้วสามารถมีความเป็นไปได้ในเทคนิคการก่อสร้างว่าสามารถดำเนินการได้แน่นอน อย่างไรก็ตามต้องมีการออกแบบรายละเอียดของกิจกรรมและองค์ประกอบของถนนเพื่อสร้างความชัดเจนในการตอบโจทย์แนวคิดให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับเมืองโคราช ชุมชนโดยรอบ และบุคลากรทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ถึงประเด็นการหารือแนวทางร่วมกันพัฒนาโครงข่ายถนนให้กับเมืองโคราชระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ว่า “ขณะนี้เป็นเพียงการหารือกันระหว่าง ๓ หน่วยงานเท่านั้น ยังไม่มีการลงรายละเอียดโครงการ โดยการประชุมครั้งที่ผ่านมา เป็นการประชุมครั้งที่ ๒ ซึ่งในการประชุมครั้งแรกผมก็ไม่เห็นด้วยกับแนวเส้นทางที่เสนอในที่ประชุม แบบที่ ๑ และ ๒ แต่เมื่อการประชุมครั้งที่ ๒ มีการนำเสนอแนวเส้นทางที่ ๓ และ ๔ เพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือกัน และผู้ใหญ่ก็ได้สรุปเลือกแนวเส้นทางที่ ๓ ผสมกับแนวเส้นทางที่ ๔ ซึ่งยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่า การออกแบบจะเป็นอย่างไร ในเชิงออกแบบแนวเส้นทางที่เลือกนั้น น่าจะมีแนวทางออกแบบที่ลงตัวตามเงื่อนไข โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ได้เสนอเงื่อนไขในการระบายการจราจร ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ตอบว่า จะได้หรือไม่ได้ มทร.อีสานกำลังศึกษาอยู่ หากทำตามแนวเส้นทางนี้จะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง”

“ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้แนวเส้นทางที่น่าจะส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อทั้ง ๒ มหาวิทยาลัย และสามารถไปเชื่อมกับชุมชนหลังวัดศาลาลอยได้ด้วย ซึ่งตอนแรกผมไม่เห็นด้วยกับแนวเส้นทางที่ ๒ จัดผ่านกลางวัดศาลาลอย ไม่ว่าจะแนวเส้นทางที่ ๑ หรือ ๒ แบบที่เสนอมานั้นจะตัดถนนไปโผล่โค้งวัดศาลาลอย ในมุมของผมถือว่าไม่มีนัยในการตัดถนน โดยในที่ประชุมครั้งที่ ๒ ผมได้มีโอกาสพูดและกำชับผู้ใหญ่ว่า ถนนที่กำลังหารือกันนั้น เป็นการตัดถนนสายรอง เป็นถนนทางเลือกให้กับชุมชนและผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างมากคงได้เพียง ๒ ช่องจราจรสวนทางกัน ดังนั้นรูปแบบถนน ไม่ใช่ถนนสายหลักที่จะให้รถได้วิ่งเร็วๆ แต่สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมโยงฝั่งหนึ่งของเมือง โดยไม่ต้องผ่านบริเวณ ๓ แยกประตูน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบพื้นที่ข้างๆ ในการจัดกิจกรรมได้ด้วย สำหรับแนวเส้นทางที่มีการเลือกนั้น สามารถมีกิจกรรมได้ แต่หน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอในขั้นลงรายละเอียด ซึ่งขณะนี้ยังเป็นแบบสังเขป หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการสร้างแนวคิดของการออกแบบเบื้องต้น จะมีการร่างไอเดียอะไร ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับกองช่างของเทศบาลฯ ว่า รายละเอียดโครงการจะเป็นอย่างไร ถึงแม้จะมีการออกแบบรายละเอียด แต่ผมก็มองว่ายังไม่ใช่การยืนยันว่าจะทำ เพราะทั้ง ๒ มหาวิทยาลัยตกลงแล้ว แต่ชุมชนจะตกลงด้วยไหม”

ดร.สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า “ในขั้นตอนการทำโครงการนี้ไม่น่าจะง่ายอย่างที่หลายคนตื่นตระหนก อย่างบางกลุ่มที่มองว่า การตัดถนนใหม่อาจจะกระทบกับสถาปัตยกรรม แต่ผมกลับมองว่า คุรุสัมมนาคารนั้น อยู่ในมุมอับของ มทร.อีสาน ซึ่งการอนุรักษ์ที่หลายคนเป็นห่วง หากไม่มีใครเข้าถึงหรือเข้าไปชื่นชมได้ นี่จะเรียกว่าการอนุรักษ์หรือไม่ แต่ถ้ามีการตัดถนนเข้าไปบริเวณนั้น และมีการออกแบบป้องกันที่ดี ทำให้คนเข้าถึงง่าย ถือว่าเป็นโอกาสมากกว่า ในมุมกลับกัน การตัดถนนครั้งนี้ไม่ใช่การตัดถนนผ่านมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใหญ่ได้คุยกันแล้วว่า ถ้ามีการตัดถนนก็จะต้องมีการออกแบบบางอย่าง เพื่อให้รู้ว่านี่เป็นขอบเขตของมหาวิทยาลัย เหมือนกับถนนกังสดาลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีต้นคูนสองข้างทาง สำหรับของเราแทนที่จะเป็นกำแพง ก็อาจจะมีต้นไม้ที่สูงในระดับเอว ในทางกายภาพอาจจะเข้าถึงไม่ได้ แต่สายตาสามารถมองได้ สำหรับถนนที่จะเชื่อมเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะมีรั้วมีประตูเปิด-ปิดเป็นเวลา ซึ่งจังหวัดเรามีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่น้อยมาก การที่มีมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ เป็นพื้นที่นันทนาการให้กับเมือง ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง และถ้ามีการสนับสนุนพื้นที่สองข้างถนน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสวัสดิการต่างๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้ด้วย”

“สำหรับการหารือดังกล่าว ขณะนี้ยังเป็นเพียงขึ้นตอนการดูตัวเท่านั้น ยังไม่มีการตกลงว่าจะเอาหรือไม่เอา อาจจะต้องมีการพูดคุยกันอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะได้แนวเส้นทางรูปแบบไหน ขั้นต่อไปก็ต้องเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยของทั้ง ๒ แห่ง ดังนั้นเรื่องยากของงานนี้คือ การทำงานที่มีถึง ๓ ขา (๓ หน่วยงาน) ซึ่งในขณะนี้ข้อมูลต่างๆ ยังไม่ได้ข้อสรุป การกลั่นกรองข้อมูลหรือการลงรายละเอียดอาจจะต้องมีการรัดกุมมากขึ้น” ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.อีสาน กล่าว

จากนั้น ในเวลา ๑๙.๓๐ น. นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ถนนสุรนารายณ์มีการจราจรค่อนข้างแออัด ถ้าเทศบาลฯ สามารถตัดถนนใหม่ไปโผล่บริเวณวัดศาลาลอย ก็จะช่วยลดการจราจรบนถนนสายหลักได้ นักศึกษาจะมีการสัญจรไปมาสะดวกขึ้น และยังช่วยลดปัญหาด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำทางเชื่อมเข้ามหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งที่ประชุมคุยกันว่า อาจจะทำถนนเส้นนี้ให้เป็นถนนต้นแบบของสตรีทอาร์ต ทำให้นักศึกษาทั้ง ๒ สถาบัน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันหลายๆ ด้าน ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ซึ่งถนนเส้นนี้จะเป็นการเปิดมุมมองในอนาคต และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อไป”

“ในขณะนี้ ยังไม่มีการตั้งงบประมาณเอาไว้ เราไม่ได้กังวลในส่วนนี้มาก แต่เราห่วงความปลอดภัยของนักศึกษา ซึ่งการตัดถนนเส้นนี้จะทำให้เปลี่ยนเมืองและเมืองมีคุณค่ามากขึ้น โดยเราจะเริ่มดำเนินการเมื่อทั้ง ๒ มหาวิทยาลัย หารือกับสภามหาวิทยาลัย หรือองค์กรของมหาวิทยาลัยให้ครบถ้วน จากนั้นจะมาคุยกับเทศบาลฯ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการออกแบบและเป็นการก่อสร้างต่อไป สำหรับชุมชนในพื้นที่ที่จะมีการตัดถนนผ่าน เรามั่นใจว่าประชาชนจะได้รับความสะดวก มีการกระจายความเจริญสู่ชุมชน และมีเศรษฐกิจในบริเวณเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายสุรวุฒิ กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๗ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


831 1360