28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

December 22,2019

22 ธันวาคม "วันเหมายัน" ตะวันอ้อมข้าว กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 22 ธันวาคม 2562 เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า แต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฎในตำแหน่งต่างกันไป เปลี่ยนไปประมาณวันละ 1 องศา ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันสั้นและช่วงกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี  ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ประเทศไทยจะเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” วันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น ท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

นายศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา จากแนวตั้งฉากของระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า  ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว


ในรอบ 1 ปี เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้

 1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน  


814 1426