28thSeptember

28thSeptember

28thSeptember

 

November 24,2010

มทส.พัฒนาสาหร่ายเส้นแก้ว แคลอรีต่ำเส้นใยสูง

นักวิจัยมทส.เจ๋งพัฒนาสาหร่ายเส้นแก้ว แคลอรีต่ำ ปริมาณเส้นใยสูง เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบ คุมน้ำหนัก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดัดแปลงเป็นอาหารได้ทั้งคาวและหวาน สานฝันผู้ประกอบการเป็นเจ้าของธุรกิจรายย่อยในภาคอีสาน

ดร.รัชฎาพร อุ่นศิวิไลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) เปิดเผยถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสารสกัดสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลเป็นสาหร่ายเส้นแก้วได้สำเร็จว่า “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวเริ่มจากการที่ผู้ประกอบการรายหนึ่งประสบปัญหาในกระบวนการผลิตสาหร่ายเส้นแก้ว ที่ไม่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณลักษณะและคุณภาพตามที่ต้องการ จึงได้ติดต่อทางโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาที่สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อได้รับฟังปัญหาดังกล่าวจึงได้ตอบรับที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแนะนำให้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP Industrial Technology Assistance Program ซึ่งเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ๖ เดือน”

ดร.รัชฎาพร เปิดเผยถึงเทคนิคและวิธีการในการพัฒนากระบวนการผลิตสาหร่ายเส้นแก้วว่า ได้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์คุณสมบัติทางด้านกายภาพ (Physical Properties) ได้แก่ การวิเคราะห์ค่าความหนืด (Viscosity) การวิเคราะห์คุณสมบัติด้านเนื้อสัมผัส (Texture Profile Analysis) และการวิเคราะห์ค่าสี (Color) โดยวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงาน สำหรับขั้นตอนการผลิตนั้น เริ่มจากเตรียมสารละลายจากสารสกัดสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล โดยทำ การเตรียมสารละลาย วัดคุณสมบัติทางด้านกายภาพ และนำไปขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นความลับทางการค้าที่ทางผู้วิจัยได้คิดค้นขึ้น ผลิตภัณฑ์มีทั้งรูปลักษณะแบบเส้นและเม็ดสาคู สาหร่ายเส้นแก้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมรับประทาน สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส หรือในตู้เย็นได้เป็นระยะเวลานานประมาณ ๒ เดือน ซึ่งผู้วิจัยได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษา อายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์จากโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. (Suranaree University of Technology Incubator; SUTBI)

ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาและประยุกต์ใช้สีที่สกัดจากธรรมชาติ อาทิ สีเขียวจากคลอโรฟิล สีแดงจากดอกไม้ สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสีสันที่น่ารับประทานเช่นกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในตลาด สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งหวานและคาว และจากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่า สาหร่ายเส้นแก้วมีค่าพลังงานที่ต่ำ มีปริมาณเส้นใยสูง โดยสาหร่ายเส้นแก้ว ๑๔๐ กรัม จะให้พลังงานเพียง ๑๐ กิโลแคลอรี มีใยอาหาร ๔ กรัม หรือ ๑๖% มีโซเดียม(เกลือ) ๓๕ มิลลิกรัม และแคลเซียม ๓๐% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวุ้นเส้นที่ผลิตจากถั่วเขียวในปริมาณ ๑๔๐ กรัม จะให้พลังงาน ๔๗๑.๘ กิโลแคลอรี และมีใยอาหารเพียง ๐.๒๔ กรัม ดังนั้น สาหร่ายเส้นแก้วจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ช่วยในการควบ คุมระดับคอเรสเตอรอล และผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งใยอาหารก็ยังสามารถช่วยเรื่องระบบขับถ่าย จึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องระบบการขับถ่ายและช่วยเสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารส่วนล่างได้อีกด้วย

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหารนั้นสามารถที่จะใช้วิทยาการด้านเทคโนโลยีอาหารเข้าไปพัฒนาได้อีกมาก สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ ด้านคุณภาพ ด้านกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ รวมถึงอายุการเก็บรักษา เป็นต้น สำหรับผู้สนใจที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทรศัพท์ ๐-๔๔๒๒-๔๒๓๓ โทรสาร ๐-๔๔๒๒-๔๓๘๗ หรืออาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ในการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทรศัพท์ ๐-๔๔๒๒-๔๘๑๘ โทรสาร ๐-๔๔๒๒-๔๘๒๓ ในวันและเวลาราชการ” ดร.รัชฎาพร กล่าวในที่สุด

 

 

ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๙๗๙ วันที่ ๒๓-๒๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓


714 1,488