20thApril

20thApril

20thApril

 

October 26,2016

ในหลวงในพระบรมโกศ : พระผู้สร้างสถาบันกษัตริย์สมสมัย สูงส่ง งดงาม

          

          ๑. คนไทยรักในหลวงอย่างที่สุดหาใดเปรียบ
ความรู้สึกที่คนไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เปี่ยมล้นด้วยความรัก เทิดทูน บ้างเปรียบเสมือนเป็นพ่อของตนเอง พ่อของแผ่นดิน พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ เป็นที่รักของประชาชนอย่างแท้จริง สภาวะที่สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจเกิดขึ้นจริง ดำรงอยู่จริง ในยุคสมัยของพระองค์ท่าน

ทรงครองราชย์ ๗๐ ปี ยาวนานที่สุดในโลก

ทรงสะสมคุณความดี พระบารมี ประชาราษฎร์เห็นกับตา

          เสด็จพระราชดำเนินไปทุกแว่นแคว้น เข้าถึงอาณาประชาราษฎร์ เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน พยายามเยี่ยมเยือน หาช่องทางและวิถีทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร ความผูกพันในหัวใจในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยที่มีต่อพระองค์ท่าน สร้างความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นความผูกพันในหัวใจ เหนียวแน่น ลึกซึ้ง ไม่อาจแยกจากกันได้ ความเป็นศูนย์รวมใจของคนไทย ทำให้ทุกคนอยากจะเห็นศูนย์รวมใจมีความสุข อยากเห็นในหลวงมีความสุข เมื่อพสกนิกรคนหนึ่งคนใดทุกข์ร้อนแล้วทำให้พระองค์ท่านไม่สบายพระราชหฤทัย เช่น น้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อน คนอื่นๆ ก็จะไม่สบายใจไปด้วย คนอื่นๆ จึงช่วยกันบำบัดความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ รวมใจกันเป็นหนึ่ง เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน เป็นต้น

         ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ามีใครกลุ่มใดไปมีพฤติกรรมจาบจ้วง ล่วงละเมิด ก็ย่อมจะกระทบกับความรู้สึกของคนอื่นๆ ในชาติด้วย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราจึงมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ในหมวดความมั่นคงนั่นเอง เมื่อพระองค์ประชวร ย่อมกระทบกระเทือนใจคนไทยทั้งชาติ ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา 

          เมื่อสวรรคต จึงเป็นความทุกข์เศร้า และเป็นความรู้สึกสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของแผ่นดิน 
          ไม่ใช่ความสูญเสียเฉพาะตัวคน แต่เป็นความสูญเสียของประเทศไทยทั้งชาติทั้งแผ่นดิน

          แม้คนไทยที่ตระหนักถึงสัจธรรม รู้ว่าทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เกิดแก่เจ็บตาย หนีไม่พ้น กระนั้นก็ยังหาได้ทุเลาความเศร้าโศกเสียใจแม้แต่น้อย 

          ๒. พระมหากษัตริย์ของมหาชน
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงมีพระมารดาเป็นสามัญชน 
พูดภาษาชาวบ้าน คือ เมื่อแรกเกิด พระองค์ท่านไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ ไม่ได้เกิดในแวดล้อมคาดหมายของคนทั่วไปที่จะคาดหมายให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่แรก พระองค์ทรงเป็นผู้รักในการเรียนรู้ รักที่จะเรียนรู้จากสภาพความจริง ไม่ใช่เพียงในตำรา แบบเรียน ทรงสังเกต ศึกษา เรียนรู้จากการออกไปสัมผัสความจริง ฟัง-คิด-ถาม-เขียน เรียนรู้จากปัญหาชาวบ้าน เก็บข้อมูล สังเกตสภาพความจริง ทั้งคน ดิน น้ำ ฟ้า ฝน อากาศ 

          พระราชดำรัสของพระองค์ทุกครั้ง จึงเปี่ยมแง่คิดที่คมคาย สอดคล้องกับสภาพความจริงของสังคม ณ ขณะนั้น เช่น พระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน พระราชทาน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๖  เกี่ยวกับคนและป่า ความว่า 

          “เราไม่ปรารถนาเลยที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่เราก็สร้างขึ้นมาเองโดยการไปชี้หน้าชาวบ้านที่เขาปกครองตัวเองดีแล้ว เรียบร้อยแล้ว เป็นประชาธิปไตยอย่างชอบแล้วว่า บุกรุกเข้ามาอยู่ในป่าสงวน และขับไล่ให้เขาย้ายออกไป... ป่าสงวนนั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงหรือไม่ได้ก็ช่าง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป ดังนั้น ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่า ที่ที่เขาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวน และเมื่อเราถือว่าเขาเป็นชาวบ้านก็ไปกดหัวเขา ว่าเขาจะต้องทราบกฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้เป็นแต่เพียงขีดเส้นทับเขาไม่ใช่กฎหมายแท้ ที่เป็นกฎหมายก็เพราะพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมาย ซึ่งจะให้เขาทราบเองก็เป็นไปไม่ได้เพราะทางฝ่ายปกครองไม่ได้นำเอากฎหมายนั้นไปแจ้งให้แก่เขา...”


          “...ถ้าดูในทางกฎหมายเขา (หมายถึงราษฎร) ก็เป็นอยู่อย่างฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติใครเป็นผู้ทำผิด ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง...” 

          นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจมิได้มีเพียงการสงเคราะห์ แต่ทรงเน้นหนักในการพยายามช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เข้มแข็งด้วยตนเอง มีชีวิตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน โดยช่วยให้ประชาชนมองเห็นปัญหาตัวเอง แล้วใช้กลไกราชการเข้าไปช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงทรัพยากร เช่น พัฒนาทรัพยากรน้ำ ระบบชลประทาน ฝนหลวง พัฒนาดิน การเกษตร ฯลฯ ระดมกำลังข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เข้าไปทำงานขับเคลื่อนในเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกัน ก็มีโครงการส่วนพระองค์อีกหลายพันโครงการ มีรูปธรรมของแนวทางพัฒนาเป็นแบบอย่าง พยายามกระตุ้นให้คนพึ่งตัวเอง พัฒนาตัวเอง ตามแนวทางปรัชญาพอเพียง ทรงลงรายละเอียดในทุกพระราชกรณียกิจ

          โครงการสารานุกรมไทยฯ พระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ให้คนไทยรู้รอบ มิได้จะให้ใช้เป็นตำราสอนหนังสือ ออกแบบความรู้กว้างขวาง หลากหลาย สนุกสนาน เพลิดเพลิน และเป็นพระประสงค์ให้ทำตัวอักษร ๓ ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อให้คนต่างวัย ได้ใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน

          ตัวอักษรเล็ก เหมาะสำหรับวัยเด็ก เยาวชน สายตาดี เนื้อหาละเอียดแบบที่เหมาะกับเด็ก ตัวอักษรใหญ่ ก็เหมาะกับคนวัยคนชรา สายตาไม่สู้ดี แต่ยังมีภาพ มีเรื่องราวให้ติดตามได้คร่าวๆ

         ยิ่งกว่านั้น ผมได้ทราบมาเมื่อทำรายการโทรทัศน์ “นักสำรวจ” สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยนั้น บางโรงเรียนได้นำเอาสารานุกรมทั้งชุดไปใส่ตู้ ล็อกกุญแจแน่นหนา เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือชุดปกแข็ง เย็บอย่างดี มีตรา ภปร. จึงกลัวจะถูกฉีกขาด ยับย่น พระองค์ทรงทราบ ส่งข่าวที่โรงเรียนว่าให้เด็กนักเรียนได้ใช้สอยโดยสะดวกเถิด ถ้าฉีกขาดจะส่งมาให้ใหม่ เป็นต้น

          ๓. ทรงเข้าใจสังคมและการเมืองไทยดีที่สุด
          พระองค์ครองราชย์ ๗๐ ปี ไม่ใช่เพียงระยะเวลายาวนานเท่านั้น แต่ตลอดรัชสมัย ทรงสังเกต เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง สัมผัสปัญหา ผ่านวิกฤติต่างๆ ยาวนานที่สุดทรงมีสถานะสูงสุด ทรงอำนาจสูงสุด ยาวนานที่สุด ทรงเข้าใจโครงสร้างสังคม โครงสร้างอำนาจ และรู้สึกถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เข้าใจความปรารถนาของผู้คน ว่าชอบอะไร ปรารถนาอะไร

          ๔. ทรงกู้วิกฤติการเมืองสมัยใหม่ ด้วยความรู้และพระบารมี
          คุณงามความดีสะสม เกิดเป็นพระมหาบารมี  ด้วยความรักความศรัทธาที่คนไทยถวายแด่พระองค์ท่านอย่างปราศจากเงื่อนไข พระองค์ใช้พระบารมีแก้วิกฤติในสังคมการเมืองไทยหลายครั้ง


         สถานะของการเป็นศูนย์รวมใจ ได้นำพาชาติบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติครั้งสำคัญมากมาย เช่น ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖, ๑๗-๑๙ พ.ค. ๒๕๓๕ เป็นต้น
เมื่อพระองค์ท่านเสด็จลงมายุติความขัดแย้ง ทุกอย่างสงบ ร่มเย็น 

          ระยะ ๑๐ ปีหลัง ในสังคมการเมืองไทยยังมีปัญหาความแตกแยก เพราะคนบางกลุ่มพยายามดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จาบจ้วงใส่ร้าย ทำให้ปัญหาการเมืองยุ่งเหยิง เรื้อรัง

          ๕. พระมหากษัตริย์ เจ้ามหาชีวิต 
          สถานะของพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้ามหาชีวิต เจ้าเหนือชีวิตของประชาชน
พูดง่ายๆ จะให้คนอยู่ก็ได้ ตายก็ได้

          ตลอดรัชสมัย พระองค์ท่านไม่เคยไปเอาชีวิตคนอื่น มีแต่ให้ชีวิตคนอื่น นั่นคือ การอภัยโทษ 
แม้คนผู้นั้นกระทำผิดกฎหมายด้วยตนเอง ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเข้ารับโทษตามกระบวนการ พระองค์ท่านยังมีการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ ให้ชีวิตกลับคืน

 

         งานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชีวิตราษฎร ก็เป็นการให้ชีวิตที่ดีขึ้นแก่ราษฎร
         พระองค์จึงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ทรงเป็นพระผู้ให้ชีวิตแก่ราษฎร

          ๖. แผ่นดินไม่เคยว่างเว้นพระมหากษัตริย์
         ไม่ว่าคนไทยจะเศร้าโศกเสียใจปานใด ประเทศชาติก็จะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
         เราคงจะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในอีกไม่นานนัก
         แน่นอนว่า คนไทยย่อมรวมใจกัน ถวายความจงรักภักดี 

          แต่นับเป็นความยากลำบากของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่จะรับภารกิจสำคัญต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นปกติทุกครั้งที่ผู้รับภาระต่อจากผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีผลงาน มีชื่อเสียงมากๆ จะเกิดความลำบาก ถูกเปรียบเทียบอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ ลองนึกถึงครอบครัวเราทั่วไป ถ้าพ่อเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีผลงานยิ่งใหญ่ ผู้คนมักยกเอาความยิ่งใหญ่นั้นมาเปรียบเทียบกับลูกโดยทันที ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง  
         การเอาจุดเด่นของคนหนึ่งตั้ง แล้วนำอีกคนมาเทียบเคียง ไม่เป็นธรรม เพราะอีกคนอาจมีจุดเด่นเรื่องอื่น เป็นคนละคน คนละประเด็น คนละกาลสมัย บริบทแตกต่างกัน สิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน
         ยกตัวอย่าง ในหลวงในพระบรมโกศ จำเป็นต้องเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เพื่อสัมผัสเรียนรู้เข้าใจปัญหา แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน อาจจะไม่จำเป็นต้องมีพระราชกรณียกิจดังเดิมทุกประการ เพราะยุคนี้มีระบบเครื่องมือสื่อสารมากมาย ระบบฐานข้อมูล การสื่อสารสองทาง เป็นต้น

          ๗. ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
          ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน กำหนดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

          มาตรา ๒๓ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ..”


         จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยก็เดินมาตามครรลองนี้ มีการเรียกประชุมรัฐสภา แต่ปรากฏว่า ได้ทราบจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า ท่านทรงรับพระราชทานเป็นองค์รัชทายาทอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ท่านทรงขอเวลาทำพระทัย และแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนทั้งประเทศไปก่อนในระยะเวลานี้ ส่วนขั้นตอนตามกฎหมายในการสืบราชสมบัตินั้นให้รอเวลาที่เหมาะสม คือ หลังจากร่วมแสดงความเสียใจและร่วมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นแล้ว โดยทรงตระหนักในหน้าที่องค์รัชทายาทและพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่จะทรงปฏิบัติต่อไปในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเข้าตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๒๓ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...”

          เวลานี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ในช่วงระยะเวลาต่อไป

          ๘. อนาคตสังคมไทย
         ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต นิตยสารนิวยอร์คไทม์โทรมาขอสัมภาษณ์ผม ตั้งคำถามว่า หลังจากไม่มีในหลวง สังคมไทยจะเป็นอย่างไร?
ผมปฏิเสธที่จะพูดในทันที เพราะขณะนั้นยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ

          แต่หลังจากนั้น ก็ได้นั่งคิด ได้คำตอบสำหรับตนเองว่า เมื่อสิ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศแล้ว เห็นว่า ประเทศไทยจะขาด ๔ อย่าง ประกอบด้วย ๑.ขาดผู้ที่เป็นสติของสังคม ๒.ขาดผู้ที่จะเป็นปัญญาของสังคม ๓.ขาดศูนย์รวมศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ และ ๔.ขาดกลไกที่เป็นเสมือนระบบป้องกันภัย (safety valve) ยุติภัยขัดแย้งร้ายแรงฉุกเฉิน

          หลังจากนี้ เมื่อเราได้สติว่า รู้ว่าอาจขาดไป ๔ อย่างนี้ เราจะต้องช่วยกันสร้างสังคมให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะขาด สอดรับกับบริบทใหม่ของสังคม เช่น เราต้องปฏิรูปโครงสร้าง ให้คนไทยหวังพึ่งตนเองมากขึ้น ไม่อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์หวังพึ่งคนอื่นมาทำให้ ปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ท้องถิ่นแต่ละจังหวัดดูแลตัวเองมากขึ้น ต้องเร่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้คนอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ เร่งสร้างให้คนรู้จักความพอเพียง ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เป็นต้น

          ทั้งหมด ก็คือการจะต้องเรียนหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

          เรียนรู้จากสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ทรงสอน นำมาสู่การปฏิบัติจริงให้ได้ จึงจะแก้สิ่งที่สังคมไทยจะขาดหายไป 

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๙๓ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


695 1343