20thApril

20thApril

20thApril

 

June 05,2020

กฟผ.รับงบกว่า ๒ พันล้าน ตั้งโรงไฟฟ้าลอยน้ำพลังแสงอาทิตย์ นำร่อง‘เขื่อนสิรินธร’เริ่มผลิตปี ๖๔

กฟผ.ได้รับงบประมาณกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง  โรงไฟฟ้าลอยน้ำพลังแสงอาทิตย์ สร้างบนผิวน้ำตามเขื่อน ทั่วประเทศ เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงาน จุดแรกสะดุดพิษ โควิด-๑๙ ช้ากว่าสองเดือน นำร่องที่ “เขื่อนสิรินธร” คาดต้นปี ๒๕๖๔ เริ่มผลิต

ตามที่มีแผนพัฒนากำลังผลิตของไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ ที่ทางคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ในสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid Project) ตามเขื่อนต่างๆ  ของ กฟผ.โดยมีกำลังผลิตรวม ๒,๗๒๕ เมกะวัตต์ ในวงเงินลงทุนรวม ๒,๒๖๕.๙๙ ล้านบาท  โดยก่อสร้างแห่งแรก ที่บริเวณอ่างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ ๔๕๐ ไร่ มีกำลังผลิต ๔๕ เมกะวัตต์  มูลค่าก่อสร้าง ๘๔๒ ล้านบาท มีบริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประมูลก่อสร้าง ตามแผนจะมีกำหนดเสร็จปลายปี ๒๕๖๓ 

ทั้งนี้ มีจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มีนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน การศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร มีประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน รวมถึงผู้บริหาร กฟผ. และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย จำนวน ๓๘๖ คน ณ ห้องประชุมช้างน้อย เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยข้อเสนอของประชาชนในกลุ่ม ล่องแพท่องเที่ยวบริเวณอ่างเก็บน้ำ เสนอให้นำสายเคเบิ้ล ลงใต้ท้องน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค์ ในการล่องแพ และอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เป็นปัญหาที่ทางกลุ่มล่องแพ เสนอแก้ไขมา 
นายธนภัทร ฉัตรสุวรรณ วิศวกรระดับ ๑๑ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วศ.๑๑ อฟอ.) กล่าวว่า โรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นการนำแผงโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแทนการตั้งบนพื้นดินซึ่งที่นี่จะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนวัตกรรมนี้จะใช้การผสมผสานของพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันและใช้พลังงานน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืน โดยพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะใช้พื้นที่ทั้งหมด ๔๕๐ ไร่ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้วันละ ๔๕ เมกะวัตต์ เพื่อเสริม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ของเขื่อนสิรินธรที่ผลิตได้วันละ ๓๖ เมกกะวัตต์ ซึ่งถือว่าจะเป็นการลดงบประมาณการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

โดยแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังนำมาติดตั้งนี้จะเป็นวัสดุที่น้ำหนักเบาไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน เป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนสิริธรในการติดตั้งไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตรของชุมชนรอบข้าง เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ต่อเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการวิจัยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดเล็ก ที่บริเวณสันเขื่อนสิรินธร ปรากฏว่า ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศน์ ของน้ำ เช่น สาหร่าย ชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำ ซึ่งกลับเป็นผลดีเสียอีก เพราะพันธุ์ปลาต่างๆ ได้ใช้เป็นที่หลบอาศัยอีกด้วย  นอกจากนั้น ยังเป็นการลดการระเหยของน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นการตอบสนองความต้องการ ในการใช้ไฟฟ้า ที่มีอัตราความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงานได้เป็นอย่างดี ในอนาคต

ทางด้าน นายชนินทร์ สาลีฉันท์ หัวหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้ ทางโครงการได้สร้างสำนักงานและการก่อสร้างถนนเพื่อใช้ในการลำเลียงอุปกรณ์ เข้าพื้นที่ก่อสร้าง เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะทำการขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน จึงเป็นปัญหาต่อการก่อสร้าง ที่ต้องเลื่อนเวลาออกไป ๒-๓ เดือน ซึ่งตามแผนกำหนด จะสร้างเสร็จภายในปลายปี ๒๕๖๓ ซึ่งคาดว่า อีกไม่นานการขนส่งอุปกรณ์จากประเทศจีน ก็น่าจะมาถึง และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคมนี้ ก็จะเริ่มดำเนินการ สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน ๘๔๒ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี (เริ่มโครงการ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ ถึง ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓) พื้นที่โครงการทั้งหมด ๗๖๐ ไร่ และพื้นที่ในการติดตั้ง                 แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน ๔๕๐ ไร่ ซึ่งทั้งหมด อยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร โดยเมื่อเปรียบเทียบกับ การก่อสร้างบนพื้นดิน การก่อสร้างในพื้นที่น้ำ จะลดต้นทุนได้อย่างมาก ที่เห็นได้ชัด คือ ต้นทุนการซื้อหาที่ดินไม่มี และอุปกรณ์ด้านเทคนิค สามารถเชื่อมโยงกับทางโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธรได้  

โดยหลักการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง วันละ ๔๕ เมกะวัตต์ เมื่อมีแสงแดดเต็มที่ และการผลิตไฟฟ้าจะเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยการรวม ๒ พลังงาน คือ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และพลังน้ำจากเขื่อนสิรินธร โดยมีระบบควบคุมและการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่เสริมความต้องการการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการลดข้อจำกัดในการผลิตกระแสไฟฟ้า ของเชลล์แสงอาทิตย์ ในขณะที่สภาพแสงแดดไม่เอื้ออำนวย  

นอกจากนั้น ทางโครงการ ยังจัดพื้นที่โรงไฟฟ้า ให้เป็น Landmark โดยการสร้าง Sky Walk เพื่อเป็นจุดชมธรรมชาติ ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลฯ อีกด้วย ส่วนข้อเสนอจากกลุ่มผู้ประกอบการล่องแพเพื่อการท่องเที่ยว ของชุมชน ให้นำสายเคเบิ้ลลงใต้น้ำ เพื่อเป็นความสะดวกและปลอดภัย นั้น ทางโครงการเราได้ทำตามข้อเสนอ โดยได้นำสายเคเบิ้ลนำลงใต้ดิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ของโรงไฟฟ้า และความสะดวกสบายของกลุ่มล่องแพอีกด้วย  

ส่วนปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม นายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า การสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางโครงการ ได้ทำการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ มีประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขอบเขตการศึกษา และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอแนะข้อคิดเห็น รวมถึงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำรายงาน COP เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า รวมถึงรายงาน ESA เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๓ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล ใน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี คือ ต.นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ต.คำเขื่อนแก้ว และ ต.ช่องเม็ก 

สำหรับการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการนำร่องแห่งแรก ของประเทศไทย โดยสัญญาก่อสร้าง จะเสร็จ และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในสิ้นปี ๒๕๖๓ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 จึงทำให้การขนส่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ ที่สั่งจากต่างประเทศ ไม่เป็นไปตามแผน จึงเป็นเหตุให้โครงการล่าช้าจากเดิมโดยจะเสร็จสิ้นใช่วงต้นปี ๒๕๖๔ หลังจาก ทาง กฟผ.ได้ได้ดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่างๆ ตามแผนพัฒนา      กำลังผลิตของไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ ตามมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 

 


799 1357