29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 21,2020

สุวัจน์ แจงแก้ไข รธน. จะสำเร็จ ทุกฝ่ายต้องจริงใจให้ความร่วมมือ แนะแก้ไขเร่งด่วนประเด็น กม.เลือกตั้ง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุมสุวัจน์  ลิปตพัลลภ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า ขณะนี้กระบวนการได้เริ่มขับเคลื่อนไหวแล้ว ทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความคิดเห็นตรงกันสมควรแก้ไข รธน. สำหรับพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) มีมติให้การสนับสนุนการแก้ไข รธน. ด้วยเหตุผลเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎ กติกาการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สร้างความสับสนให้กับหลายฝ่าย ทั้งเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง วิธีการเลือกตั้ง การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ฯลฯ นอกจากนี้สังคมยังให้ความสำคัญและกังวลใจในหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศ เช่นกระบวนการยุติธรรม เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ประเทศต้องปรับปรุงวางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวิถีใหม่ หากเราต้องสร้างกฎเกณฑ์หรือมี รธน.ที่สามารถปรับให้เกิดความยืดหยุ่นตัวต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบันและสอดคล้องกับปัญหาต่างๆภายในประเทศ

"ชพน.ต้องการให้แก้ไข รธน. ดำเนินการด้วยความรวดเร็วและแสดงออกถึงความตั้งใจ ความจริงใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รธน. เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองและส่วนรวมมากที่สุด หากทุกฝ่ายเสียสละให้ความร่วมมือให้ได้มาซึ่ง รธน.ที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จะสามารถฝ่าฟันวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องการเห็นร่วมมือกัน เพื่อให้มีความรวดเร็วและความชัดเจนในการดำเนินการอย่างไร สัปดาห์หน้าจะมีการจัดประชุมรับฟังข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลและวิธีการตั้ง สสร.ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีผู้แทนร่าง รธน. มาจากประชาชนจริงๆ เพื่อให้ รธน.ได้รับการยอมรับ"

นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า "สิ่งที่ ชพน. ต้องการนำเสนอเพิ่มเติมคือ เรื่องไทม์ไลน์หรือกรอบระยะเวลา รธน.ต้องที่มีความชัดเจนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแก้ไขมาตรา 256 กำหนดให้มี สสร. การได้มาของ สสร. เมื่อเริ่มดำเนินการแล้วจะใช้เวลาเท่าใด จะสามารถช่วยลดความตึงเครียด คลายความกังวลให้สังคมได้ในระดับหนึ่งและระหว่างดำเนินการแก้ไข รธน. หากจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นมา เราจะใช้กติกาฉบับเก่าหรือไม่ กรณี รธน.ฉบับเก่า ก่อให้เกิดปัญหาก็จำเป็นแก้ไขในบางเรื่อง บางประเด็นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งภายหลัง จึงจำเป็นแก้ไขแบบคู่ขนานกันด้วย หากไม่มั่นใจ รธน. เสร็จสิ้นทันก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างน้อยก็ได้แก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้แล้วและจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องเร่งด่วนที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ เช่น กระบวนการยุติธรรม,สิทธิเสรีภาพ,การเลือกตั้ง ฯลฯ ชพน.ได้มอบหมายนายวัชรพล โตมรศักดิ์ เลขาธิการ นำเสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ"

นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า "การแก้ไข รธน.ควรยึดโยงประชาชนเป็นหลัก ต้องพยายามให้กระบวนการนี้มีความหลากหลายของทุกกลุ่มหลากหลายสถานะ รธน.เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบังคับใช้กับทุกคน ฉะนั้นความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งจากรากหญ้า คนรุ่นใหม่ นักวิชาการหรือองค์กรภาครัฐ เอกชน ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้นการแก้ไข รธน. ต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายในระบบประชาธิปไตยอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม บางครั้งเราต้องยอมเสียสละ บางประเด็นอาจไม่ตรงกับความรู้สึกหรือการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ต้องขอให้เก็บเอาไว้ก่อน เราต้องทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อให้ รธน.เป็นของประชาชน สามารถใช้แก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง"

“ขณะนี้แนวทางการนำเสนอแก้ไข รธน.ของ ชพน. เตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการวิสามัญคือแก้ไขวิธีการว่าด้วยการเลือกตั้ง การใช้บัตรใบเดียว,ระบบไพรมารีโหวต,ปัญหาการรวบรวมคะแนน ความล่าช้าการประกาศผลเลือกตั้งและอื่นๆอีกหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดความสับสน ต้องการให้ สว.ยึดโยงกับประชาชนและกำหนดเลือกตั้ง สว. เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณมากกว่านี้ เพื่อให้ สส.สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและการกระจายอำนาจลงสู่องค์ปกครองท้องถิ่น (อปท.) อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด ชพน.เป็นพรรคเล็ก เชื่อว่าข้อเสนอของเรายังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด จำเป็นต้องอาศัยแนวร่วมจากพรรคอื่นๆในการขับเคลื่อนจึงยินดีรับฟังทุกข้อเสนอความคิดเห็น เพื่อให้ได้มาซึ่ง รธน.ที่ดีที่สุด” 

"อย่างไรก็ตาม ชพน. เป็นพรรคการเมืองที่มีความพร้อมในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใดจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไรก็พร้อมทำหน้าที่ ส่วนการยุบสภาหรือจัดการเลือกตั้งเมื่อไร ไม่ใช่หน้าที่ของเราในการตัดสินใจ เมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องมีความพร้อม แต่เราต้องการให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ" นายสุวัจน์ กล่าว

นายสุวัจน์ กล่าวท้ายสุดว่า "ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องปรับฐานปรับยุทธศาสตร์ในการแก้ไขในช่วงฟื้นตัวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในห้วง 3- 4 ปี นี้ รวมทั้งปรับทิศทางของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมีความจำเป็นเนื่องจากเราพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้สามารถยืนบนลำแข้งของตนเองให้ได้ เช่นนำเสนอจุดแข็งของเมืองไทย การเป็นเมืองน่าอยู่ทั่วโลกยอมรับ การประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด -19 การเป็นเมืองเกษตร เมืองอาหารป้อนโลก การเป็นเมืองท่องเที่ยว หากเราได้การเมืองที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนักการเมืองที่ดี มีรัฐบาลที่ประชาชนให้การยอมรับและร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วยจุดแข็งเหล่านี้ กลายเป็น New normal ของเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ผ่านพ้นระยะการฟื้นตัวของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี เป็นอย่างน้อย"


943 1586