28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 19,2020

‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ’คืบหน้า คาดเปิดบริการเต็มร้อยปี ๖๔ มั่นใจมีเม็ดเงินลงทุนกว่า ๒ หมื่นล.

นิคมฯ อุดรธานี พัฒนาไปแล้วกว่า ๕๐% คาดเปิดให้บริการเต็ม ๑๐๐% ในปี ๒๕๖๔ จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้กว่า ๒ หมื่นล้านบาท จ้างงานไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คน และทำรายได้ด้านภาษีอากร เข้ารัฐได้ประมาณ ๑.๕-๒ หมื่นล้านบาทต่อปี

 

เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๓ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีนางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานบริหาร นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการบริหารฯ และคณะผู้บริหารบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด  บรรยายสรุป ภาพรวมของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี การพัฒนาศักยภาพนิคมฯ ความคืบหน้าของการลงทุนในพื้นที่ ความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และความร่วมมือกับภาคประชาชน เยี่ยมชมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ทั้งในส่วนของการพัฒนาที่ดิน และระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เส้นทางคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ต่างๆ และนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมให้ข้อมูล

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี ๒๕๕๗ ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ในการมีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิดโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด 

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ คือมีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R12, R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีศูนย์กระจายสินค้าทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า ๔๐๐ ไร่ อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี สามารถให้บริการแก่นักลงทุนและจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เช่น การศึกษาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดอุดรธานี, พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ ๑.๘ กิโลเมตร รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ให้เทียบเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่อีอีซี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าวต่อไปว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมฯ แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ ๕๖ ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ ๑๖ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยนิคมฯ แห่งนี้ ถือได้ว่ามีระบบการขนส่งสินค้าได้อย่างดี เนื่องจากมีพื้นที่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพียง ๑๔ กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข ๒ ถนนมิตรภาพประมาณ ๒ กิโลเมตร ขณะที่ทางทิศใต้อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพ-หนองคายมีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่อยู่ห่างชายแดนจากด่านหนองคาย ๕๓ กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้า ขนส่งสินค้า และกระจายสินค้าผ่านไปทางกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนานิคมฯเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานียังมีแผนการพัฒนาระบบ Logistics ของนิคมฯ แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะที่ ๑ (๒๕๖๓-๒๕๖๕) จะทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการ Tuck Terminal และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางโดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ ส่วนระยะที่ ๒ (๒๕๖๕-๒๕๖๘) จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองอุตสาหกรรมตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบ Freight Forwarder อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาคขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กับ สปป.ลาว กัมพูชา และจีนมากขึ้น

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี พื้นที่ประมาณ ๒,๑๗๐ ไร่  แบ่งเป็นพื้นที่ขาย ๑,๖๓๕ ไร่ มีมูลค่าการลงทุนโครงการฯ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็น ๒ เฟส โดยเฟสแรกมี ๑,๐๐๐ ไร่  เป็นพื้นที่ขายจริง ๗๐๐ ไร่ ที่เหลือเป็นระบบสาธารณูปโภค และเฟส ๒ มี ๑,๐๐๐ ไร่ เช่นเดียวกัน ปัจจุบันความคืบหน้าการพัฒนาโครงการในภาพรวมไปแล้วกว่าร้อยละ ๕๐ โดยเฉพาะในระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าในปี ๒๕๖๔ จะสามารถเปิดให้บริการได้ทั้ง ๒ เฟส ในเวลาเดียวกัน หลังเปิดให้บริการครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่านิคมฯ แห่งนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ ๒.๒ หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ขณะเดียวกันจะสามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ ๑.๕-๒ หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๕ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

956 1592