29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 26,2020

‘เกาหลี-ขอนแก่น’จับมือ พัฒนารถไฟฟ้าอัจฉริยะ

‘ขอนแก่น’ จับมือเกาหลี ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ พ่อเมืองเผยเปิดกว้างทุกประเทศ แต่ติดสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก จับมือ ดีป้า และ มข. เร่งทำโครงการ คาดปี ๖๔ รถไฟฟ้า ๕ เส้นทางชัดเจนขึ้น

 

เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมชั้น ๔ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือ K-City Global Collaboration Program ผ่านระบบ Video Conference กับนายชัคยู จัง (Mr.Chaekyo Jung) ผู้อำนวยการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และผู้แทนจากสาธารณรัฐเกาหลีได้จัดประชุมขึ้น โดยมีคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขอนแก่นเป็นเมืองตัวแทนของประเทศไทย ที่ผ่านการคัดเลือกจากรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้เสนอโครงการ Khonkaen Smart Mobility หรือโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบอัจฉริยะของจังหวัด เป็นตัวแทนของไทยเข้าร่วมคัดเลือก กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๑๒ โครงการที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเกาหลี จากจำนวนผู้เสนอมากถึง ๘๐ โครงการจากทั่วโลก ดังนั้นวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งสองฝ่ายจะได้พูดคุยกันและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน ทำการศึกษาเทคนิคเชิงโครงการ และภาพรวมของโครงการ ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางหรือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ๕ เส้นทางของจังหวัด นำร่องสายสีแดง เส้นทางสำราญ-ท่าพระ

“จากสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่เกิดขึ้น ทำให้การทำงานของเราล่าช้าไป ๗ เดือน ซึ่งโครงการที่เรานำเสนอไปนั้นจะต้องถูกนำเสนอที่เมืองปูซานด้วย แต่การกระชุมดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป วันนี้จึงมีการฟอร์มทีมจากคณะทำงานระดับหัวกะทิ ร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายที่ถูกแต่งตั้งขึ้น เพื่อให้การสำรวจ การเก็บข้อมูล แผนการพัฒนาพื้นที่ จนนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการออกแบบ ระบบขนส่ง การเก็บเงิน การบริการผู้เดินทางในรูปแบบอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานด้านการออกแบบระบบการพัฒนาเมือง โดยมีการขนส่งเป็นศูนย์กลาง หรือ TOD ที่เกาหลี พร้อมที่จะร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ในความเป็นเมืองที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านการขนส่งระบบรางชั้นนำระดับโลก”

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น นับเป็นมิติใหม่ของเมืองขอนแก่น ที่จะได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งมวลชนโดยเฉพาะระบบราง ที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ จนนำไปสู่การออกแบบระบบการพัฒนาเมืองโดยมีการขนส่งเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไมีการกล่าวถึงระบบรถไฟฟ้าแบบล้อแม่เหล็ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคนิควิธีที่จะถูกนำมาถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ของเรา อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัด โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ๕ เส้นทาง ที่จะนำร่องสายสีแดงนั้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากนานาประเทศอย่างมาก ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสวีเดน ซึ่งมีการหารือถึงการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การทำงานร่วมกับรัฐบาลเกาหลี ในความร่วมมือดังกล่าวจะชัดเจนที่สุดในปี ๒๕๖๔ ตามแผนงานที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดแผนงานร่วมมือกัน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๖ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

969 1609